เปิดนโยบายเกษตร ยกระดับสู่ความมั่นคง

ก.เกษตรฯเผยนโยบายปี 60 มุ่งเน้นการยกระดับสินค้าเกษตรสู่ความมั่นคง ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งทุกหน่วยงานในสังกัดร่วมกันทำงานแบบบูรณาการทุกภาคส่วน ชู 5 มาตรการสำคัญ เพื่อช่วยผลักดันให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มุ่งเน้นให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการยกระดับสินค้าเกษตรสู่ความมั่นคง ประกอบด้วยนโยบายที่สำคัญหลายด้าน อาทิ โครงการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการเกษตรอินทรีย์ การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) และการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เป็นต้น อีกทั้ง ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานในสังกัดร่วมกันทำงานแบบบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อให้มีความก้าวหน้าและเห็นผลเป็นรูปธรรม และเพื่อให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ด้าน นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินงานขับเคลื่อนตามนโยบายที่สำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี 2560 โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน 5 เรื่อง ได้แก่ 1. โครงการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ สนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชผักไม่ต่ำกว่า 4 ชนิด/ราย และส่งมอบเมล็ดพันธุ์ให้เกษตรกรรายใหม่จำนวน 70,000 ราย พร้อมให้คำแนะนำการปลูกแก่เกษตรกร ติดตามประเมินผลและให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนและสถาบันการศึกษา รวมถึงการจัดทำแปลงศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ 2. โครงการเกษตรอินทรีย์ ตรวจรับรองแหล่งผลิตพืชอินทรีย์ 2,200 แปลงใน 8 ชนิดพืช ตรวจรับรองการคัดบรรจุพืชอินทรีย์จำนวน 60 โรง รวมถึง สร้างศูนย์ต้นแบบผลิตปุ๋ยอินทรีย์แบบเติมอากาศจำนวน 25 โรง ถ่ายทอดความรู้การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ให้กับผู้สนใจ 4,500 ราย นอกจากนี้ยังร่วมผลักดันจังหวัดยโสธรให้เป็นต้นแบบด้านเกษตรอินทรีย์ของประเทศ (ยโสธร Model) โดยเพิ่มประโยชน์การใช้พื้นที่ด้วยการปลูกพืชหลังการทำนา ได้แก่ แตงโม และถั่วลิสง ครอบคลุมพื้นที่ 1,000 ไร่ พร้อมทั้งตรวจรับรองมาตรฐาน

3.การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) สร้างแปลงต้นแบบการปรับเปลี่ยนพืช 6 ชนิด (ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรด ลำไย อ้อย และ มันสำปะหลัง) ในพื้นที่นำร่อง ปี 2559/60 รวม 31 จังหวัด 1,200 ไร่ 4.การขับเคลื่อนองค์ความรู้ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) โดยอบรมเกษตรกรเครือข่าย ศพก. เพื่อเตรียมพร้อมรวมกลุ่มการผลิตพืชตามระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ รวมถึง การแจ้งเตือนภัยการระบาดของศัตรูพืชและสนับสนุนเอกสารวิชาการด้านพืช ตลอดจนทำแปลงต้นแบบพืชใน 321 ศพก. (จาก 882 ศูนย์) 66 จังหวัด พื้นที่ 1,000 ไร่ ซึ่งเน้นขยายผลการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน ด้วยชีวภัณฑ์ ให้องค์ความรู้ด้านพืชผ่านระบบ Smart Box และ 5.แปลงใหญ่ กรมวิชาการเกษตร ประสานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แบบเบ็ดเสร็จ Single Command (SC) และทีมผู้จัดการแปลงเพื่อนำเทคโนโลยีลดต้นทุนและเครื่องจักรกลใช้ในพื้นที่ รวมทั้งสนับสนุนการตรวจรับรอง GAP ให้สมาชิกแปลงใหญ่ 16 ชนิดพืช เกษตรกร 7,226 ราย ตลอดจนสร้างเกษตรกรและแปลงต้นแบบด้านพืชในพื้นที่แปลงใหญ่เพื่อให้เกษตรกรได้รับทราบถึงวิธีการดูแลรักษา การปลูกเก็บเกี่ยวที่ถูกต้องในพื้นที่ รวม 53 จังหวัด 117 แปลง 2,958 ไร่ และให้ความรู้สมาชิกแปลงใหญ่อีก 3,560 รายด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น