สกู๊ปพิเศษ…”ลีกไทย” ปรับโฉมใหม่

หลังจากที่ทัพ “ช้างศึก” เถลิงแชมป์ลูกหนังอาเซียนสมัยที่ 5 มาครองได้สำเร็จ ภายใต้ชื่อ “ซูซูกิ คัพ 2016” ก็ได้เวลาที่เหล่าขุนแข้งทั้งหลาย จะสลายตัวไปรับใช้ต้นสังกัดอู่ข้าวอู่น้ำ เพื่อเตรียมตัวในฟุตบอลลีกแดนสยามที่จะเปิดฉากราวเดือนกุมภาพันธ์ ปีหน้า

แต่ในช่วงที่ศึกระดับชาติกำลังโรมรันนั้น อีกฟากหนึ่งได้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปโฉมของวงการฟุตบอลไทย ทั้งรูปแบบการแข่งขัน และประเด็นของ “โลโก้” การแข่งขัน ที่เกิด “ดราม่า” เรื่องการ “ก็อปปี้” เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นประเด็นที่จะมาเล่าสู่กันอ่านใน ฉบับนี้

พาทิศ ศุภะพงษ์ รองเลขาธิการและโฆษกสมาคม ฟุตบอลฯ

“บิ๊กโจ” พาทิศ ศุภะพงษ์ รองเลขาธิการและโฆษกสมาคม ฟุตบอลฯ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “เดิมทีแผนที่เราวางไว้ไทยลีกจะมี 18 ทีม, ไทยลีก 2 มี 18 ทีม, ไทยลีก 3 หรือแชมเปียนชิป จะมี 32 ทีม, ไทยลีก 4 หรือ ลีกภูมิภาค เราจะแบ่งเป็น 6 โซน แต่ในปี 2019 จะหั่นไทยลีกให้เหลือ 16 ทีม เพื่อให้เวลาในการแข่งขันไม่ยืดเยื้อ เพราะนักเตะทีมชาติไทยส่วนมากค้าแข้งอยู่ในไทยลีก การลดจำนวนทีมจึงถือเป็นเรื่องดีต่อการเตรียมทีมชาติไปในตัวด้วย
สาเหตุที่ต้องอีก 3 ปี เพื่อที่ทีมเลื่อนชั้นขึ้นมาในปีหน้า จะไม่ รู้สึกเสียประโยชน์ เพราะหากปรับจูนทีมไม่ทันก็ต้องตกชั้นทีนที เราจึงแจ้งล่วงหน้าให้ทุกสโมสรเตรียมความพร้อม ทั้งนี้ การเหลือ 16 ทีมในไทยลีกถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะนักเตะทีมชาติส่วนใหญ่อยู่ในลีกสูงสุด จะได้ไม่ล้าเกินไปเมื่อต้องเก็บตัว ทั้งนี้ หลายๆ ชาติในลีกชั้นนำ ก็มีจำนวนทีมไม่เกิน 16 ทีม เราจึงต้องทำให้ไทยลีกมีความเป็นสากล

ในอนาคตหากมีการลดทีม จึงมีความเป็นไปได้ที่แต่ละสโมสรจะได้เงินสนับสนุนการถ่ายทอดสดเพิ่มขึ้นอีกด้วย ตอนนี้แต่ละสโมสรในไทยลีก จะได้รับเงินสนับสนุนจากทรูวิชั่นส์ ปีละ 20 ล้านบาท, ดิวิชั่น 1 ปีละ 3 ล้านบาท และ ดิวิชั่น 2 ปีละ 1 ล้านบาท ในด้านการถ่ายทอดสด หากมีการลดจำนวนทีมในไทยลีก ก็เป็นไปได้ที่เงินสนับสนุนจะได้รับเพิ่มมากขึ้นในแต่ละทีมทั่วทุกลีก ทั้งนี้ เมื่อมีการลดจำนวนทีมในไทยลีก ก็จะทำให้โปรแกรมถ่ายทอดการแข่งขันว่างลง ตารางการถ่ายทอดสดก็จะกระจายไปที่ลีกอื่นด้วย ในอนาคตเราเตรียมเปิดรับให้ผู้สนับสนุนการถ่ายทอดสดรายอื่นเข้ามาดูแลในส่วนของ ไทยลีก 3 และ 4 เพื่อให้มีการถ่ายสดครบทุกลีกในประเทศไทย หรืออาจจะเป็นผู้รับผิดชอบเพียงเจ้าเดียว ซึ่งต้องหารือกับผู้เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่ง”

ส่วนอีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ การเปลี่ยนชื่อลีกต่างๆ ของไทยจากของเดิมที่เป็นไปตามสปอนเซอร์ คือ โตโยต้า ไทย พรีเมียร์ ลีก พาทิศ เผยว่า เพื่อเป็นการรองรับการจดทะเบียนบริษัทใหม่เป็น “ไทยลีก” และวางรากฐานทุกลีกโดยยึด เจ-ลีก ของญี่ปุ่น เป็นต้นแบบ

“การเปลี่ยนชื่อบริษัท จาก บริษัท พรีเมียร์ลีก ไทยแลนด์ เป็น บริษัท ไทยลีก เพื่อให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เมื่อมีการเปลี่ยนชื่อ ก็มีการเปลี่ยนชื่อเรียกตามลีกต่างๆ อย่างเป็นทางการ ลีกสูงสุดเราจะเรียกว่า ไทยลีก รองลงมาก็ไทยลีก 2 ไทยลีก 3 และ ไทยลีก 4 เพื่อให้ง่ายต่อการดำเนินการ เหมือนกับประเทศญี่ปุ่น ที่ทุกลีกจะขึ้นกับบริษัทเดียวกัน ต่างจากเมื่อก่อนที่มีการแยกความรับผิดชอบจากไทยลีก, ดิวิชั่น 1 และ ดิวิชั่น 2 ออกไป ทำให้การดำเนินงานไม่สอดคล้องไปด้วยกัน นอกจากนี้ เรื่องจำนวนผู้เล่นต่างชาติที่จะเข้ามาเป็นนักกีฬาแต่ละสโมสร ไทยลีก จะใช้โควตา เดิมคือ 3+1 ส่วนลีกรองจะใช้ 3+1+1 ที่โดยจะเพิ่มโควตาอาเซียน หากทีมไหนต้องการจะเพิ่มหรือไม่เพิ่มก็ไม่เป็นไร สมาคมจะให้สิทธิ์ตรงนี้ เพื่อช่วยยกระดับผลงานของสโมสรให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น” พาทิศ กล่าว

รองเลขาฯ สมาคมฟุตบอลฯ แสดงความมั่นใจในการดำเนินการต่างๆ ของสมาคมฟุตบอลในขณะนี้ จะช่วยให้สามารถต่อยอดความเป็นมืออาชีพและง่ายต่อการดำเนินงานต่อไปหากมีการเปลี่ยนแปลงชุดบริหาร แต่หากแผนที่วางไว้ ไม่ประสบความสำเร็จ ทางสมาคมฯ ก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานต่างๆ ทันที

มาถึงเรื่องการเปลี่ยนโลโก้ และชื่อการแข่งขันกันบ้าง ซึ่งสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้มีนโยบายในการพัฒนาศักยภาพสโมสรฟุตบอลลีกอาชีพอย่างยั่งยืน และยกระดับลีกภายในประเทศ ให้ก้าวไปสู่ลีกชั้นนำของอาเซียน และ เอเชีย เริ่มจากการตั้งบริษัท ไทยลีก จำกัด ขึ้นมาแทน บริษัท พรีเมียร์ ลีก (ไทยแลนด์) จำกัด ในการรับสัมปทานการจัดแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพ และปรับเปลี่ยนชื่อลีกแต่ละระดับให้อยู่บนพื้นฐานเดียวกัน เน้นความเรียบง่าย กระชับ น่าจดจำและร่วมสมัยที่สุด และมีการแบ่งการแข่งขันออกเป็น 5 ระดับ โดยมีชื่อเรียกหลักอย่างเป็นทางการประกอบด้วย T1, T2, T3, T4 และ อเมเจอร์ ทัวร์นาเมนต์ (ลีกสมัครเล่น) ตามลำดับ

ในส่วนของโลโก้ไทยลีกนั้นถูกออกแบบขึ้นมาโดยใช้ตัวอักษร T ที่ย่อมาจาก Thailand เป็นสัญลักษณ์ผสมผสานกับรูปร่างที่ตัดทอนรายละเอียดมาจาก ช้าง สัตว์ประจำชาติไทยให้ออกมาดูเป็นเอกลักษณ์สากล บ่งบอกถึงความเป็นไทย และดูเรียบง่าย โดยจะใช้แบบเดียวกันในทุกๆลีกแต่แบ่งระดับด้วยสีที่แตกต่างกันเพื่อให้ง่ายแก่การจดจำและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของไทยลีก

อย่างไรก็ตาม ในโลกออนไลน์มีแฟนบอลจับกลุ่มวิจารณ์ถึงโลโก้ฟุตบอล “ไทยลีก” ใหม่นั้นหลายกระแส บ้างก็บอกว่าสวยงาม ดูทันสมัย ทว่าบางรายก็บอกว่าดูไปแล้วคล้ายกับ “เจลีก” ของญี่ปุ่นไม่น้อย

นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มโควต้าอาเซียน เพื่อให้ฟุตบอลลีกอาชีพของไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน และเป็นการช่วยขยายฐานแฟนคลับให้แต่ละสโมสรเพิ่มช่องทางในการถ่ายทอดสดไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น โดยได้ประกาศให้ ไทยลีก 2 (T2) ลงมาสามารถลงทะเบียนผู้เล่นในสัญชาติอาเซียนและส่งลงสนามได้เพิ่มเติม 1 คน นอกเหนือจากผู้เล่นโควต้าต่างชาติ 3 คนและผู้เล่นเอเชีย 1 คน ซึ่งถือเป็นการทดสอบและเตรียมความพร้อมก่อนที่จะประกาศใช้ในระดับ ไทยลีก (T1) ในปี 2019

ส่วนเรื่องเงินสนับสนุน สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย มีโครงการสนับสนุนเงินพัฒนาสโมสรให้กับทีมต่างๆที่ต้องการนำไปต่อเติมก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกโดยเพิ่มเงินสนับสนุนทีมให้สโมสรในระดับ ไทยลีก (T1) จำนวน 5 ล้านบาท นอกเหนือจากงบสนับสนุนจากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดทีมละ 20 ล้านบาท, สโมสรในระดับไทยลีก 2 (T2) 1 ล้านบาท นอกเหนือจากงบสนับสนุนจากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดทีมละ 3 ล้านบาท และ สโมสรในระดับไทยลีก 3 (T3) 1 ล้านบาท นอกเหนือจากงบสนับสนุนจากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดทีมละ 1 ล้านบาท โดยเริ่มตั้งแต่ฤดูกาล 2017

ทั้งนี้สโมสรที่ต้องการของบจากโครงการสนับสนุนเงินพัฒนาสโมสรจะต้องส่งใบเสนอราคาและแบบแผนการก่อสร้างเพื่อเป็นการยืนยัน ซึ่งทางสมาคมฯเชื่อว่าโครงการนี้จะช่วยให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งอำนวยความสะดวกของแต่ละสโมสรได้อย่างเด่นชัดภายใน 1 ปี

สำหรับการเปลี่ยนแปลงโฉมใหม่ภายในประเทศ ตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นไป จะเริ่มตั้งแต่ การตั้งบริษัท ไทยลีก จำกัด เข้าดูแลการแข่งขันแทน บริษัท พรีเมียร์ ลีก (ไทยแลนด์) จำกัด และเปลี่ยนชื่อลีกแต่ละระดับให้อยู่บนพื้นฐานเดียวกัน เน้นความเรียบง่าย กระชับ น่าจดจำและร่วมสมัยที่สุด 5 ระดับดังนี้

1.ไทยลีก (Thai League) ชื่อย่อ T1 : เป็นการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพ ระดับสูงสุดของประเทศไทย โดยฤดูกาล 2017 ทีมที่เข้าแข่งขันมาจากทีมที่ได้อันดับ 1-15 ของฟุตบอลไทยลีก ฤดูกาล 2016 และ ทีมอันดับ 1-3 จาก ดิวิชั่น 1 ฤดูกาล 2016 รวมเป็น 18 ทีม และฤดูกาล 2019 จะมีการปรับลดจำนวนทีมเหลือ 16 ทีม เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการจัดตารางแข่งขันให้ทีมชาติไทยได้มีเวลาเตรียมทีมแข่งขันรายการต่างๆ สามารถมีช่วงเวลาหยุดพักแข่งขันตามหลักสากล

2.ไทยลีก 2 (Thai league2) ชื่อย่อ T2 : การแข่งขันฟุตบอลอาชีพของประเทศไทย ระดับที่สองรองจาก ไทยลีก 1 โดยฤดูกาล 2017 ทีมที่เข้าแข่งขันมาจาก ทีมอันดับ 16-18 จาก ไทยลีก ฤดูกาล 2016 ,ทีมอันดับ 4-15 จาก ดิวิชั่น 1 ฤดูกาล 2016 และ 3 ทีมที่ได้สิทธิ์จากดิวิชั่น 2 ฤดูกาล 2016 รวมเป็น 18 ทีม

3.ไทยลีก 3 (Thai league 3) ชื่อย่อ T3 : ฟุตบอลลีกอาชีพระดับ 3 ของไทยซึ่งจะเริ่มแข่งขันในฤดูกาล 2017 เป็นฤดูกาลแรกโดยคัดเอาทีมอันดับ 1-4 จาก 8 โซนของฟุตบอลลีกดิวิชั่น 2 ฤดูกาล 2016 รวมเป็น 32 ทีมแล้วแบ่งเป็น 2 โซนๆ ละ 16 ทีม

4.ไทยลีก 4 (Thai league4) ชื่อย่อ T4 : ฟุตบอลลีกอาชีพระดับ 4 ของไทย โดยทีมที่เข้าแข่งขันมาจากสโมสรในลีกดิวิชั่น 2 ฤดูกาล 2016 ที่ไม่ได้สิทธิ์เลื่อนชั้นไปเล่น ไทยลีก 3 รวมกับทีมสำรองของสโมสรในไทยลีก

5.อเมเจอร์ ทัวร์นาเม้นท์ (Amateur tournament) ลีกสมัครเล่น

ลองย้อนไปดูที่ผ่านมาว่าโลโก้ของไทยลีกนั้น มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างหน้าตาอย่างไรบ้าง ส่วนใครจะว่าก็อปปี้ หรืออย่างใดนั้น สุดแท้แต่วิจารณญานของผู้เสพเอง เพราะต่อให้เปลี่ยนอะไรอย่างไรก็ตามแต่…ขอให้บอลไทย ได้ไปบอลโลกสัก ครั้งก็พอ

ข้อมูล/ ภาพ : สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย
เรียบเรียง : ทีมข่าวกีฬาเชียงใหม่นิวส์

ร่วมแสดงความคิดเห็น