สดร. – กองทัพอากาศ – ก.ดิจิทัล จับมือสร้างหอดูดาว เฝ้าระวังวัตถุจากนอกโลก

สดร. – กองทัพอากาศ – ก.ดิจิทัล จับมือสร้างหอดูดาว เฝ้าระวังวัตถุจากนอกโลก
สมเด็จพระเทพรัตนฯ เสด็จพระราชดำเนิน มาทรงเปิดอย่างเป็นทางการ 23 ธ.ค. นี้

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับกองทัพอากาศ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (เดิมกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) เดินหน้าโครงการเฝ้าระวังวัตถุใกล้โลกและวัตถุอวกาศ ตั้งหอดูดาวที่ยอดดอยอินทนนท์ ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาด 0.7 เมตร ติดตามวงโคจรของวัตถุใกล้โลกและวัตถุอวกาศ หวังลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติรวมถึงผลกระทบจากอวกาศที่มีต่อโลก และมุ่งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารความรู้ที่ถูกต้องสู่ประชาชน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานนาม “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ” และกำหนดเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอย่างเป็นทางการ 23 ธันวาคม 2559

รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ” สร้างขึ้นภายใต้ “โครงการเฝ้าระวังวัตถุใกล้โลกและวัตถุอวกาศ” เป็นความร่วมมือของ 3 หน่วยงานหลัก ระหว่างกระทรวงวิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยี กองทัพอากาศ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (เดิมกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) ซึ่งกระทรวงวิทย์ฯ โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สนับสนุนกล้องโทรทรรศน์ระบบติดตามวัตถุใกล้โลกและวัตถุอวกาศ

กองทัพอากาศสนับสนุนสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวฯ ในพื้นที่ของกองทัพอากาศดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ และกระทรวงดิจิทัลฯ สนับสนุนระบบเครือข่ายอินเทอร์เนตและกิจกรรมพัฒนาบุคลากร นอกจากนี้ ทั้ง 3 หน่วยงาน ยังร่วมมือกันสนับสนุนด้านการศึกษา วิจัย พัฒนา และเผยแพร่ความรู้ ด้านดาราศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศ ให้แก่บุคลากร และประชาชนทั่วไปอีกด้วย

ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา รอง ผอ.สดร. หัวหน้าโครงการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “โครงการเฝ้าระวังวัตถุใกล้โลกและวัตถุอวกาศ” ยังดำเนินการร่วมกับ Minor Planet Centers ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (IAU) และได้รับการสนับสนุนจาก องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NASA) และศูนย์เฝ้าระวังภัยอวกาศประเทศญี่ปุ่น ( Japan Spaceguard Assocasiaiton) มีวัตถุประสงค์หลักในการเฝ้าติดตามและศึกษาวงโคจรของวัตถุใกล้โลกและวัตถุอวกาศ เก็บรวบรวมและสร้างฐานข้อมูล เพื่อนำไปศึกษาวิจัยและต่อยอดองค์ความรู้ เป็นศูนย์ข้อมูลการเตือนภัย รวมทั้งสร้างความตระหนัก ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับภัยคุกคามจากวัตถุใกล้โลกและวัตถุอวกาศให้กับสาธารณชน

ปัจจุบันมีการสนใจศึกษา และเฝ้าติดตามวัตถุใกล้โลกและวัตถุอวกาศเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหาตำแหน่งที่แน่นอนของวัตถุเหล่านี้ ซึ่งวัตถุใกล้โลกและวัตถุอวกาศส่วนใหญ่มีความไม่เสถียรของวงโคจรสูง เนื่องจากหลายปัจจัยทำให้การหาตำแหน่งที่แน่นอนเป็นไปได้ยาก ความแม่นยำของตำแหน่งแต่ละวัตถุต้องอาศัย ผลการสังเกต การณ์จากหลายๆ ตำแหน่งบนโลก และจำเป็นต้องใช้กล้องโทรทรรศน์จำนวนมาก ที่กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกเฝ้าติดตามอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้เกิดความร่วมมือเป็นเครือข่ายขององค์กรดาราศาสตร์และอวกาศทั่วโลก เพื่อร่วมแบ่งปันข้อมูลและผลการสังเกตการณ์ร่วมกัน

การเข้าร่วมเครือข่ายเหล่านี้นอกจากเป็นการศึกษา และหาวิธีป้องกันอันตรายจากวัตถุใกล้โลกและวัตถุอวกาศแล้ว ยังเป็นโอกาสที่จะพัฒนาวงการดาราศาสตร์ในประเทศ สู่ระดับนานาชาติอีกด้วย ประเทศไทยจึงเข้าร่วมเป็นเครือข่ายติดตาม ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลสังเกตการณ์วัตถุใกล้โลกและวัตถุอวกาศ รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมด้านดาราศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยใช้กล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา บริเวณสถานีทวนสัญญานทีโอที อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และ กล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ บริเวณสถานีรายงานดอยอินทนนท์ กองทัพอากาศ เพื่อศึกษา และเก็บข้อมูลดังกล่าว

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น