แผนสร้างอุโมงค์ส่งน้ำ แม่กวง-แม่งัดคืบหน้า

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวในระหว่างนำคณะองคมนตรี พลากร สุวรรณรัฐ พร้อมคณะ ติดตามดูงานการดำเนินโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวง บริเวณพื้นที่ก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำว่าโครงการนี้แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ช่วงคือ อุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง-แม่งัด ระยะทางตั้งแต่ประตูระบายน้ำแม่ตะมาน ซึ่งกั้นลำน้ำแม่แตง จนถึงอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล แบ่งออกเป็น 2 สัญญา มีกำหนดแล้วเสร็จพร้อมกันในปี พ.ศ.2564
และอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด-แม่กวง ระยะทางตั้งแต่อ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัด จนถึงอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวง แบ่งออกเป็น 2 สัญญาเช่นเดียวกัน โดยสัญญาที่ 1 มีความยาวอุโมงค์ 12.500 กิโลเมตร เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2558 กำหนดแล้วเสร็จปี 2564 ส่วนสัญญาที่ 2 มีความยาวอุโมงค์ 10.476 กิโลเมตร ได้เริ่มดำเนินการขุดเจาะเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 มีกำหนดแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2562

การเจาะอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด-แม่ กวงดังกล่าว เป็นการเจาะในชั้นหินครั้งแรกของประเทศไทย โดยใช้ทั้งเทคนิคการขุดเจาะระเบิด จะสามารถดำเนินการได้เฉลี่ยประมาณ 4-6 เมตร/วัน และเทคนิคการใช้เครื่องเจาะ Tunnel Boring Machine (TBM) ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้เฉลี่ยประมาณ 12-20 เมตรต่อวัน การใช้เทคนิคผสมผสานกัน ขึ้นอยู่กับการพิจารณาประสิทธิภาพความเหมาะสมทางเทคนิค ต้นทุน และความจำเป็นของสภาพแวดล้อม เช่น สภาพหิน โครงสร้างหิน น้ำใต้ดิน เพราะต้องดำเนินการเจาะอุโมงค์ ซึ่งมีความลึกจากผิวดิน ประมาณ 300 เมตร จนถึง 700 เมตร ซึ่งการเจาะอุโมงค์ในช่วงนี้จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4.20 เมตร ปริมาณน้ำผ่านอุโมงค์สูงสุด 26 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งปัจจุบันได้ขุดเจาะแล้วเป็นระยะทางประมาณ 60 เมตร จากความยาวทั้งหมด 22.975 กิโลเมตร

อ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ได้พระราชทานให้กรมชลประทานดำเนินก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 เพื่อประโยชน์ด้านการอุปโภค บริโภค และการเกษตร ในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 175,000 ไร่ และเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำปิง ประกอบด้วยลุ่มน้ำย่อย ได้แก่ ลุ่มน้ำแม่แตง ลุ่มน้ำแม่งัด ลุ่มน้ำแม่กวง เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะลุ่มน้ำแม่กวง ที่มีความต้องการใช้น้ำสูงขึ้นในอนาคต

ร่วมแสดงความคิดเห็น