กรมกิจการเด็กฯ ติวเข้มลดความรุนแรง

 

กรมกิจการเด็กและเยาวชน จัดเวิคช็อปเจ้าหน้าที่สถานพัฒนาและฟื้นฟูเด็ก 4 แห่ง ที่รองรับเด็กที่ได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจอย่างรุนแรง เช่นถูกพ่อแท้ๆ ข่มขืน จนไม่สามารถอาศัยอยู่ในครอบครัวหรือชุมชนได้ เผยตอนนี้รับได้แห่งละ 20 คน แต่ยังขาดเจ้าหน้าที่เฉพาะทางจิตเวช ขณะที่แนวโน้มความรุนแรงต่อเด็กมีเพิ่มมากขึ้น


วันที่ 27 ธค 2559 ที่ฮอไรซันวิลเลจแอนด์รีสอร์ท และสวนพฤกษศาสตร์ทวีชล อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ นายวิทัศน์ เตชะบุญ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวภายหลัง เปิดการประชุม เชิงปฏิบัติการ “การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการบำบัดฟื้นฟูผู้รับบริการของสถานพัฒนาและฟื้นฟูเด็ก 4 แห่ง ที่ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ว่า เป้าหมายคือให้เจ้าหน้าที่ที่ทำงานในส่วนนี้ได้ผ่อนคลายจากการทำงานที่ต้องเผชิญกับความเครียดมาตลอดทั้งปี ตลอดจนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และรับความรู้เพิ่มเติมจากวิทยากรเฉพาะทาง เพื่อนำกลับไปใช้ในการทำงาน


นายวิทัศน์กล่าวว่า การกระทำความรุนแรงต่อเด็กนั้น มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางสังคม เศรษฐกิจ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ตลอดจนการเข้าถึงโซเชี่ยลมีเดีย ที่มีความรุนแรง จนทำให้เด็กถูกบ่มเพาะด้วยความรุนแรง จนมองว่าเป็นเรื่องปกติ และอาจส่งผลให้เขาไปกระทำความรุนแรงต่อคนอื่นได้อีกด้วย
ในส่วนของเด็กที่ถูกกระทำทารุณกรรมทางด้านรางกายและจิตใจเป็นอย่างมากนั้น ส่วนใหญ่ต้องได้รับการเยียวยารักษาจากจิตแพทย์ และหากรุนแรงมาก จนต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง อีกทั้งเด็กไม่สามารถจะกลับไปอยู่กับครอบครัวและชุมชนได้ เช่นกรณีที่เด็กถูกพ่อแท้ ๆ ของตัวเองข่มขืนมาเป็นเวลานาน ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าพ่อติดเหล้า หรือยาเสพติด จนทำร้ายทุกคนในครอบครัว และละเมิดทางเพศกับลูก
“เจ้าหน้าที่ของสถานพัฒนาและฟื้นฟูเด็กทั้ง 4 แห่งนี้ ต้องบอกว่าทุกคนมีจิตอาสาที่จะเข้ามาทำงาน บางคนถูกเด็กทำร้ายร่างกายก็มี เนื่องจากเด็กได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างแรง จนบางครั้งเด็กที่เกิดอาการได้ไปกัดพี่เลี้ยงเลือดไหลก็มี ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องอดทนอย่างสูง และมีความเข้าใจในงาน ดังนั้นกรมจึงต้องจัดประชุมเชิงปฏิบัติการแบบนี้ขึ้น” นายวิทัศน์กล่าว
อย่างไรก็ตามสถานพัฒนาฯ ทั้ง 4 แห่งนั้น รองรับเด็กที่ถูกกระทำทารุณกรรมที่ส่งต่อมาจากจิตแพทย์ให้มาฟื้นฟูได้แห่งละประมาณ 20 คน ประกอบด้วย 1) จ.ลำปาง รับเด็กหญิง 2)จ.สุราษฎร์ธานี รับเด็กหญิง 3)จ.ชลบุรี รับเด็กชาย 4) จ.หนองคาย รับเด็กชาย ซึ่งหากมีเด็กชายที่ถูกทารุณกรรมจากพื้นที่ภาคเหนือ และแพทย์วินิจฉัยให้ไปฟื้นฟู ดูแล ก็จะต้องส่งไปยัง จังหวัดหนองคาย ไม่ก็ชลบุรี
อีกทั้งในขณะนี้เจ้าหน้าที่ของกรม ที่ทำงานในส่วนนี้ มีข้าราชการเพียงไม่กี่คน นอกนั้นเป็นพนักงานราชการ และเจ้าหน้าที่แบบจ้างเหมา ซึ่งเมื่อได้งานที่ดีกว่าก็จะลาออกไป ทำให้ขาดความต่อเนื่อง และขาดเจ้าหน้าที่เฉพาะทางด้านจิตวิทยาคลินิก เท่าที่มีคือจิตวิทยา หากจะช่วยให้งานฟื้นฟูตรงนี้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ควรจะมีแพทย์และพยาบาลเฉพาะทางโดยตรง แต่ก็ต้องรอการพิจารณาจากสำนักงาน กพ. นายวิทัศน์กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น