ดึงผู้สูงอายุท้องถิ่น ดูแลนักท่องเที่ยว

โครงการประชารัฐ จัดทำโครงการ “Amazing Thai Host” ดึงผู้สูงอายุในท้องถิ่นสร้างช่วยดูแลนักท่องเที่ยว สัปดาห์ละ 3-4 วัน รองรับนโยบายการดูแลผู้สูงอายุเพื่อเพิ่มกำลังซื้อและสร้างการกระจายรายได้ให้ท้องถิ่น

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ของประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์แบบ โครงการประชารัฐจึงได้จัดทำโครงการ “Amazing Thai Host” เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุในท้องถิ่นที่มีความสามารถและต้องการสร้างรายได้หลังจากเกษียณอายุปฏิบัติงานดูแลนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวด้วยการสอดส่องดูแลความปลอดภัยเพื่อป้องกันเหตุร้าย ช่วยอำนวยความสะดวกและให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้าโดยการประสานงานกับหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบในท้องที่ เป็นเวลา 5 ชั่วโมงต่อวัน สัปดาห์ละ 3-4 วัน โดยผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับบัตรประจำตัวและเครื่องแบบที่มีตราสัญลักษณ์ “Amazing Thai Host” เพื่อใช้ในระหว่างการปฏิบัติงาน รวมถึงได้รับการอบรมตามเหมาะสม

“ในต่างประเทศ เช่น แคนาดา จะเรียกผู้ปฏิบัติงานนี้ว่า อาสาสมัครผู้สูงอายุ หรือ White Hat Volunteer ประจำสนามบิน Calgary ส่วนเกาหลีใต้เป็นอาสาสมัครช่วยเหลือนักท่องเที่ยวสำคัญในกรุงโซล หรือ i-Seoul รวมทั้งในญี่ปุ่น และกัมพูชา ต่างก็มีโมเดลนี้อยู่เช่นกัน โดยประโยชน์ที่ผู้สูงอายุจะได้รับมีหลายด้าน ทั้งรายได้จากอาชีพเสริมและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น รองรับนโยบายการดูแลผู้สูงอายุเพื่อเพิ่มกำลังซื้อและสร้างการกระจายรายได้ให้ท้องถิ่น”

สำหรับผู้สูงอายุกลุ่มเป้าหมายที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ต้องการให้เข้าร่วมโครงการนี้ ได้แก่ อดีตข้าราชการที่เกษียณอายุ อดีตทหารเรือสำหรับแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ผู้สนใจที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการและอาศัยอยู่ในบริเวณเดียว หรือใกล้เคียงกับพื้นที่เป้าหมายของโครงการ สามารถสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2560 – 28กุมภาพันธ์ 2561
นางกอบกาญจน์ กล่าวด้วยว่า จากข้อมูลล่าสุดจากรายงานของ กรมการท่องเที่ยว พบว่า ตั้งแต่วันที่1 มกราคม 2559 จนถึงปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวสะสมจำนวน 30.26 ล้านคน ก่อให้เกิดรายได้ 1.51 ล้านล้านบาท ขยายตัว 9.68% และ 13.32% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยอัตราการเติบโตของรายได้ที่มากกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวถือเป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพอย่างเห็นได้ชัด

อนึ่ง ตามที่ คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ. …. เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมานั้น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะส่งร่างให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้แก่ 1.กำหนดให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาเฉพาะทางในศาสตร์ทางการกีฬา มุ่งพัฒนาองค์ความรู้ ส่งเสริมวิชาการทางการกีฬาและวิชาชีพชั้นสูง ผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการกีฬา การพลศึกษา วิทยาศาสตร์การกีฬา เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการกีฬา บริหารธุรกิจการกีฬา และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เป็นศูนย์ฝึกของนักกีฬาระดับชาติ เป็นแหล่งสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านการกีฬาชั้นเลิศของประเทศ โดยมีโรงเรียนกีฬาสำหรับฝึกฝนเยาวชนก่อนเข้าสู่มหาวิทยาลัย

2.กำหนดให้ยกเลิกพระราชบัญญัติสถาบันพลศึกษา พ.ศ.2548 และให้สถาบันการพลศึกษาเป็นมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติตามพระราชบัญญัตินี้ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

3.กำหนดให้แบ่งมหาวิทยาลัยออกเป็น 4 ภาค ได้แก่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ โดยให้แต่ละภาคประกอบด้วยวิทยาเขตและโรงเรียนกีฬา 4.กำหนดให้มหาวิทยาลัย ประกอบด้วยสภา 3 สภา ได้แก่ สภามหาวิทยาลัย สภาวิชาการ สภาคณาจารย์และข้าราชการ และกำหนดให้มีการประกันคุณภาพการศึกษาและการประเมินผลหน่วยงาน

5.กำหนดให้มีบทกำหนดโทษทางอาญากรณีการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติตามพระราชบัญญัตินี้ 6.กำหนดบทเฉพาะกาลว่าด้วยการโอนกิจการ ทรัพย์สิน หนี้สิน การนับวาระดำรงตำแหน่ง การบังคับใช้กฎหมายโดยอนุโลม การแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อสรรหาอธิการบดีและรองอธิการบดีประจำภาค และการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกและกำหนดที่ตั้งของมหาวิทยาลัยประจำภาค

ร่วมแสดงความคิดเห็น