อนุมัติปลูกกัญชง…!! กระท่อม-กัญชา รอก่อน

ความคืบหน้าการปรับนโยบายเกี่ยวกับพืชเสพติดและตัวยาเสพติดรวม 4 ชนิด นั้น ทางนายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส) เปิดเผยความคืบหน้าการปรับนโยบายเกี่ยวกับพืชเสพติดและตัวยาเสพติดรวม 4 ชนิด ประกอบด้วย กัญชง  กัญชา กระท่อม  และเมทแอมเฟตามีน(ยาบ้า) เพื่อให้นำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และปลูกเพื่ออุตสาหกรรมได้ตามพื้นที่ที่กำหนด

ขณะนี้ ครม.อนุมัติให้กัญชง สามารถปลูกได้ แต่ในพื้นที่ๆกำหนด มีผลตั้งแต่ปี 2560 โดยจำกัดพื้นที่ 6 จังหวัด 15 อำเภอ คือ

1.จังหวัดเชียงใหม่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่วาง  แม่ริม สะเมิง และแม่แจ่ม
2.จังหวัดเชียงราย 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เทิง  เวียงป่าเป้า และแม่สาย
3.จังหวัดน่าน 3 อำเภอได้แก่ อ.นาหมื่น  สันติสุข และสองแคว
4.จังหวัดตาก เฉพาะที่ อ.พบพระ
5.จังหวัดเพชรบูรณ์ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.หล่มเก่า  เขาค้อ และเมือง
6.จังหวัด จ.แม่ฮ่องสอนในพื้นที่ อ.เมือง

สำหรับสายพันธุ์ที่นำมาปลูกได้ต้องมีนั้น จะต้องมีสารออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทหรือสารทีเอชซี ไม่เกิน 1% หากตรวจพบว่าแปลงใดมีต้นกัญชงที่สารดังกล่าวเกินจะถือว่ามีความผิด

เลขาธิการ ป.ป.ส.กล่าวอีกว่า เยื่อของต้นกัญชงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการประดิษฐ์เช่น การถักทอเป็นประเป๋าหรือสิ่งของต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้ชาวบ้านมีอาชีพ โดยโรงงานยาสูบจะเป็นผู้รับซื้อผลิตภัณฑ์จากต้นกัญชงที่เกษตรกรในพื้นที่ที่ระบุไว้โดยตรง ส่วนพืชกระท่อมอยู่ระหว่างการศึกษาวิถีการใช้ของชาวบ้านเพื่อประโยชน์ทางสมุนไพรซึ่งต้องมีการแก้กฎหมายว่าสามารถนำมาใช้ในบ้าน เช่น เคี้ยวหรือต้ม

ส่วนกัญชาซึ่งเป็นพืชเสพติดทางคณะอนุกรรมการศึกษาวิเคราะห์มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมเมทแอมเฟตามีน ที่มี นายชาญเชาว์  ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฯอยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติม ให้รอบด้าน

เนื่องจากยังมีความเห็นขัดแย้งโดยแพทย์มองว่าสามารถนำมาใช้เป็นยารักษาโรคได้แต่ก็มีอันตรายจากสารที่เป็นตัวอนุพันธ์จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อจัดการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเหมาะสม

สำหรับการปรับบัญชีเมทแอมเฟตามีน จากยาเสพติดประเภท  1 คือให้โทษชนิดร้ายแรงไปเป็นยาเสพติดประเภท 2  เพื่อให้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ก็ยังอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ทั้งด้านกฎหมายและการนำมาใช้เป็นยารักษาโรค ที่ผ่านมาโทษของการค้ายาเสพติด เช่น เฮโรอืน ไอซ์และเมทแอมเฟตามีนจะมีอัตราโทษไม่แตกต่างกันแต่หากปรับบัญชีเมทแอมเฟตามีนให้เป็นยาที่นำมาใช้รักษาโรคทางการแพทย์ได้ก็ต้องพิจารณารายละเอียดต่างๆให้รอบคอบ

ซึ่ง “กัญชง กับ กัญชา” มีหลายคนมักเข้าใจผิดคิดว่า ต้นกัญชงก็คือกัญชา แต่แท้จริงแล้วต้นกัญชงแค่มีลักษณะคล้ายคลึงกับต้นกัญชาในด้านลักษณะทางพฤกษศาสตร์เท่านั้น ไม่ใช่พืชที่เป็นสารเสพติดเหมือนกัญชา เพียงแต่ต้นกัญชงเป็นพืชที่นิยมนำมาแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการถักทอ

กัญชง และ กัญชา เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดมาจากพืชชนิดเดียวกัน โดยมีถิ่นกำเนิดในเขตอบอุ่น ทางตอนใต้ของแคว้นไซบีเรีย ประเทศเปอร์เซีย แคว้นแคชเมียร์ของประเทศอินเดีย และในทางตอนเหนือของประเทศจีน จนได้สายพันธุ์ที่มีความแตกต่างไปจากสายพันธุ์เดิมแล้วเกิดเป็นพืชที่เรียกว่า “กัญชง”

โดยต้นกัญชง (Hemp ชื่อวิทยาศาสตร์ Cannnabis sativa L. Subsp. sativa) จะมีลำต้นสูงมากกว่า 2 เมตร ปล้องหรือข้อยาว แตกกิ่งก้านน้อยและแตกกิ่งไปในทิศทางเดียวกัน เปลือกเหนียวลอกง่าย ให้เส้นใยยาวคุณภาพสูง แผ่นใบเป็นสีเขียวอมเหลือง ใบมีแฉกประมาณ 7-9 แฉก การเรียงตัวของใบค่อนข้างห่าง เมื่อออกดอกจะมียางที่ช่อดอกไม่มาก เมล็ดมีขนาดใหญ่และเป็นลายบ้าง ผิวเมล็ดหยาบด้าน ใบเมื่อนำมาสูบจะมีกลิ่นหอมน้อย ทำให้ผู้เสพปวดหัว มีสาร tetrahydrocannabinol (THC) น้อยกว่า 0.3% การปลูกระยะห่างระหว่างต้นจะแคบ เพราะปลูกเพื่อต้องการเส้นใยเพียงอย่างเดียว

ในขณะที่ต้นกัญชา (Marijuana ชื่อวิทยาศาสตร์ Cannabis sativa L. Subsp. indica (Lam.) E. Small & Cronquist) จะมีความสูงไม่ถึง 2 เมตร ปล้องหรือข้อสั้น แตกกิ่งก้านมากและแตกกิ่งเป็นแบบสลับ เปลือกไม่เหนียว ลอกได้ยาก ให้เส้นใยสั้นมีคุณภาพต่ำ แผ่นใบเป็นสีเขียวถึงเขียวจัด ใบมีประมาณ 5-7 แฉก การเรียงตัวของใบจะชิดกัน เมื่อออกดอกจะมียางที่ช่อดอกมาก เมล็ดมีขนาดเล็ก ผิวเมล็ดมันวาว ใบเมื่อนำมาสูบจะมีกลิ่นหอมคล้ายหญ้าแห้ง มีสาร (tetrahydrocannabinol (THC) ประมาณ 1-10% การปลูกระยะห่างระหว่างต้นจะกว้าง เพราะปลูกเพื่อต้องการใบเท่านั้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น