บทสรุปบอลไทย 2016

จบกันลงไปแล้วสำหรับฟุตบอลลีกของประเทศไทย ในปี พ.ศ.2559 แม้ว่าอาจจะเป็นจุดจบที่หลายฝ่ายพอใจ และไม่พอใจ แต่ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน คงหาทางออกได้ไม่มากมายนัก
บทสรุปสำหรับฟุตบอล “โตโยต้า ไทยลีก 2016” แชมป์ตกเป็นของ “กิเลนผยอง” เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ผลงานหลังจบ 31 นัด ชนะ 26 เสมอ 2 แพ้ 3 เกม มี 80 คะแนน เหนือคู่แข่งอย่าง “แข้งเทพ” แบงค็อก ยูไนเต็ด อยู่ 5 คะแนนด้วยกัน ขณะที่ 3 ทีมที่ตกชั้นนั้นได้แก่ บีบีซียู เอฟซี, ชัยนาท ฮอร์นบิล และ อาร์มี่ ยูไนเต็ด
นอกจากนี้ กิเลนผยอง ยังสามารถคว้าดับเบิ้ลแชมป์ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร หลังจากในถ้วย “โตโยต้า ลีก คัพ” ครองแชมป์ร่วมกับ “ปราสาทสายฟ้า” บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด โดยทั้งสองทีมแบ่งโควตากัน เมืองทองฯ นั้นจะเล่น “โตโยต้า พรีเมียร์คัพ 2017” ส่วนบุรีรัมย์ จะไปป้องกันแชมป์ “โตโยต้า แม่โขงคัพ”
ขณะที่ในศึก “ช้าง เอฟเอคัพ 2016” นั้น เป็นการคว้าแชมป์ร่วมกันของ 4 สโมสร ได้แก่ สุโขทัย เอฟซี, ชัยนาท ฮอร์นบิล, ราชบุรี มิตรผล เอฟซี และ ชลบุรี เอฟซี
จากบทสรุปของลีกสูงสุด ทำให้ได้ 3 ทีมที่ได้สิทธิเล่นในศึก “เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก 2017” คือ เอสซีจี เมืองทอง ผ่านเข้าไปเล่นในรอบแบ่ง กลุ่มทันที ส่วนแบงค็อก ยูไนเต็ด ได้เล่นในรอบคัดเลือกรอบ 2 เช่นเดียวกับสุโขทัย ที่ดวงเฮงจับสลากได้โควตาในส่วนของตัวแทนจากเอฟเอคัพ
จากนั้นมาดูกันต่อในศึก “ยามาฮ่า ลีก ดิวิชั่น 1” ทีมที่ได้แชมป์คือ “พญาอินทรี” ไทยฮอนด้า ลาดกระบัง เอฟซี ได้สิทธิเลื่อนชั้นพร้อมกับอีก 2 สโมสรคือ “เทพอินทรี” อุบล ยูเอ็มที ยูไนเต็ด และ “สิงห์เจ้าท่า” การท่าเรือ เอฟ.ซี. แต่ในฤดูกาลนี้ จากการตัดสิทธิสโมสร “จงอางผยอง” ขอนแก่น ยูไนเต็ด ทำให้ไม่มีทีมใดตกชั้นลงไปในดิวิชั่น 2 ฤดูกาลหน้า
ด้านศึก “เอไอเอส ลีกภูมิภาค ดิวิชั่น 2” รอบแชมเปี้ยนส์ลีก ดำเนินการมาจนถึงรอบรองชนะเลิศ แต่จากสถานการณ์บ้านเมือง ทำให้ต้องยุติการแข่งขัน และจับสลาก 3 จาก 4 ทีมเพื่อเลื่อนชั้น ผลปรากฏว่าเป็น ตราด เอฟซี, หนองบัว พิชญ เอฟซี และ เกษตรศาสตร์ เอฟซี คือ 3 ทีมที่ได้เลื่อนชั้นสู่ดิวิชั่น 1 ขณะที่ สุราษฎร์ธานี เอฟซี เป็นทีมที่โชคร้ายต้องเล่นในดิวิชั่น 2 อีกหนึ่งฤดูกาล
ทั้งหมดนี้คือ บทสรุปของฟุตบอลลีกในประเทศไทย สำหรับฤดูกาลนี้ทั้งหมด ทีนี้มาดูกันว่าในฤดูกาล 2017 จะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอะไรกันบ้าง
การเปลี่ยนแปลงโฉมใหม่ภายในประเทศ ตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นไป จะเริ่มตั้งแต่ การตั้งบริษัท ไทยลีก จำกัด เข้าดูแลการแข่งขันแทน บริษัท พรีเมียร์ ลีก (ไทยแลนด์) จำกัด และเปลี่ยนชื่อลีกแต่ละระดับให้อยู่บนพื้นฐานเดียวกัน เน้นความเรียบง่าย กระชับ น่าจดจำและร่วมสมัยที่สุด 5 ระดับดังนี้
1.ไทยลีก (Thai League) ชื่อย่อ T1 : เป็นการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพ ระดับสูงสุดของประเทศไทย โดยฤดูกาล 2017 ทีมที่เข้าแข่งขันมาจากทีมที่ได้อันดับ 1-15 ของฟุตบอลไทยลีก ฤดูกาล 2016 และ ทีมอันดับ 1-3 จาก ดิวิชั่น 1 ฤดูกาล 2016 รวมเป็น 18 ทีม และฤดูกาล 2019 จะมีการปรับลดจำนวนทีมเหลือ 16 ทีม เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการจัดตารางแข่งขันให้ทีมชาติไทยได้มีเวลาเตรียมทีมแข่งขันรายการต่างๆ สามารถมีช่วงเวลาหยุดพักแข่งขันตามหลักสากล
2.ไทยลีก 2 (Thai league2) ชื่อย่อ T2 : การแข่งขันฟุตบอลอาชีพของประเทศไทย ระดับที่สองรองจาก ไทยลีก 1 โดยฤดูกาล 2017 ทีมที่เข้าแข่งขันมาจาก ทีมอันดับ 16-18 จาก ไทยลีก ฤดูกาล 2016, ทีมอันดับ 4-15 จาก ดิวิชั่น 1 ฤดูกาล 2016 และ 3 ทีมที่ได้สิทธิ์จากดิวิชั่น 2 ฤดูกาล 2016 รวมเป็น 18 ทีม
3.ไทยลีก 3 (Thai league3) ชื่อย่อ T3 : ฟุตบอลลีกอาชีพระดับ 3 ของไทยซึ่งจะเริ่มแข่งขันในฤดูกาล 2017 เป็นฤดูกาลแรกโดยคัดเอาทีมอันดับ 1-4 จาก 8 โซนของฟุตบอลลีกดิวิชั่น 2 ฤดูกาล 2016 รวมเป็น 32 ทีมแล้วแบ่งเป็น 2 โซนๆ ละ 16 ทีม
4.ไทยลีก 4 (Thai league4) ชื่อย่อ T4 : ฟุตบอลลีกอาชีพระดับ 4 ของไทย โดยทีมที่เข้าแข่งขันมาจากสโมสรในลีกดิวิชั่น 2 ฤดูกาล 2016 ที่ไม่ได้สิทธิ์เลื่อนชั้นไปเล่น ไทยลีก 3 รวมกับทีมสำรองของสโมสรในไทยลีก
5.อเมเจอร์ ทัวร์นาเม้นท์ (Amateur tournament) ลีกสมัครเล่น
สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย มีโครงการสนับสนุนเงินพัฒนาสโมสรให้กับทีมต่างๆที่ต้องการนำไปต่อเติมก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกโดยเพิ่มเงินสนับสนุนทีมให้สโมสรในระดับไทยลีก (T1) จำนวน 5 ล้านบาท นอกเหนือจากงบสนับสนุนจากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดทีมละ 20 ล้านบาท, สโมสรในระดับไทยลีก 2 (T2) 1 ล้านบาท นอกเหนือจากงบสนับสนุนจากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดทีมละ 3 ล้านบาท และ สโมสรในระดับไทยลีก 3 (T3) 1 ล้านบาท นอกเหนือจากงบสนับสนุนจากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดทีมละ 1 ล้านบาท โดยเริ่มตั้งแต่ฤดูกาล 2017
ทั้งนี้สโมสรที่ต้องการของบจากโครงการสนับสนุนเงินพัฒนาสโมสรจะต้องส่งใบเสนอราคาและแบบแผนการก่อสร้างเพื่อเป็นการยืนยัน ซึ่งทางสมาคมฯเชื่อว่า โครงการนี้จะช่วยให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งอำนวยความสะดวกของแต่ละสโมสรได้อย่างเด่นชัดภายใน 1 ปี
“เสี่ยเหน่ง” นายศุภสิน ลีลาฤทธิ์ อุปนายกฝ่ายจัดการแข่งขัน สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่ง ประเทศไทยฯ เปิดเผยถึงการวางแผนโปรแกรมฟุตบอลลีก ในปี พ.ศ.2560 ว่า ตอนนี้ได้เริ่มวางแผนการแข่งขันเอาไว้แล้ว ซึ่งจะต้องเรียกทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาพูดคุยกัน เพื่อเป็นการยืนยันอีกครั้งหนึ่ง โดยที่แบบที่วางเอาไว้นั้น ทุกลีกจะเปิดฤดูกาลพร้อมๆ กัน ในช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือนกุมภาพันธ์ คือวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ขณะที่ตลาดซื้อ-ขายนักเตะในช่วงแรกนั้นจะเริ่มต้นในเดือนธันวาคม ไปสิ้นสุดที่สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนการแข่งขันในรายการอื่นๆ อาทิเช่น ฟุตบอล “โตโยต้า ลีกคัพ” ในปีนี้จะมีการปรับเปลี่ยนคือจากที่ปกติจะมีการแข่งขันในระบบเหย้า-เยือน ในรอบรองชนะเลิศ ก็จะยกเลิก และให้เป็นการเตะสนามกลางเพียงนัดเดียว เหมือนกับ “ช้าง เอฟเอคัพ” เพื่อที่โปรแกรมการแข่งขันจะได้ลดลง ขณะที่ทีมจาก “โตโยต้า ไทยลีก” จะเริ่มเข้าแข่งขันโตโยต้า ลีกคัพ ในรอบ 32 ทีมเป็นต้นไป ส่วนเอฟเอ คัพ นั้นจะเริ่มที่รอบ 64 ทีมสุดท้ายตามรูปแบบเดิม
“สิ่งหนึ่งของโปรแกรมในฤดูกาลนี้ที่จะเปลี่ยนไป คือได้วางแผนให้มีการแข่งขันในช่วงวันศุกร์ สำหรับทีมที่ต้องเตรียมตัวเพื่อแข่งขันในศึกฟุตบอลถ้วยเอเชีย เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก เพื่อที่จะได้มีเวลาเตรียมตัวมากขึ้น หรืออย่างฟุตบอลลีก ที่จะต้องเตะหลังจากนักเตะกลับจากการรับใช้ชาติ เพื่อที่นักกีฬาจะได้มีเวลาพักผ่อนและไม่ส่งผลกระทบต่อการเล่นกับสโมสร ก็จะเลื่อนโปรแกรมให้เป็นการเตะวันอาทิตย์-จันทร์ หรือว่าจันทร์-อังคาร แทน นอกจากนี้ ในส่วนของแมตช์กลางสัปดาห์ ก็พยายามทำให้น้อยที่สุดเช่นกัน” นายศุภสิน กล่าว
ประธานฝ่ายจัดการแข่งขัน สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ กล่าวต่อว่า เรื่องของโปรแกรมทีมชาตินั้น ได้วางเอาไว้จะให้ลีกพัก 7-10 วันก่อนเข้าสู่ช่วงฟีฟ่าเดย์ ขณะที่ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน “คิงส์คัพ” นั้นยังคงต้องรอความชัดเจน แต่ก็เตรียมโปรแกรมเอาไว้ในช่วงเดือนกรกฎาคม ซึ่งจะตรงกับการแข่งขันชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี รอบคัดเลือก อย่างไรก็ตามอาจจะมีการปรับเปลี่ยนได้ เพราะว่าช่วงเวลาดังกล่าวไม่ตรงกับฟีฟ่าเดย์ ทำให้อาจจะหาทีมมาร่วมแข่งขันได้ยาก ดังนั้นอาจจะเลื่อนไปแข่งในเดือนตุลาคม หรือว่าหลังจากจบฤดูกาลก็ได้เช่นกัน
“การจัดโปรแกรมที่ได้ว่างไว้คร่าวๆ นั้น พยายามเพื่อที่จะให้เกิดปัญหากระทบกับสโมสรน้อยที่สุด ทีมชาติก็ได้ประโยชน์ อย่างไรก็ตามต้องรอฟังความคิดเห็นของสโมสรที่จะร่วมแข่งขันอีกครั้ง ทั้งหมดจึงจะมีการสรุปออกมา” เสี่ยเหน่งกล่าวทิ้งท้าย
หากมองกันว่าฟุตบอลลีกในฤดูกาลที่ผ่านมา เหมือนประสบกับพายุฝนกระหน่ำ ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา แต่อย่างน้อยในฤดูกาลหน้าเมื่อมีการวางระบบกันดีมากขึ้น ก็เหมือนฟ้าหลังฝนที่พร้อมจะสดใสได้เช่นกัน และคนไทยจะได้ชมฟุตบอลกันอย่างสนุกอีกครั้งหนึ่ง

ข้อมูล/ ภาพ : สมาคมฟุตบอล แห่งประเทศไทย
เรียบเรียง : ทีมข่าวกีฬาเชียงใหม่นิวส์

ร่วมแสดงความคิดเห็น