เปิดยุทธศาสตร์ ดูดเม็ดเงิน ค้าชายแดน

ลุยค้าชายแดน พาณิชย์เปิด 4 ยุทธศาสตร์ ด้านการค้าชายแดนในปี 2560 เน้นเสริมศักยภาพด่านชายแดนใหม่และเก่า ร่วมมือประเทศเพื่อนบ้านจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า ขณะที่มูลค่าค้าชายแดนปี 59 หลุดเป้าอยู่ที่ 1.47 ล้านล้านบาท
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในปี 2560 กรมฯได้จัดทำยุทธศาสตร์ใหม่ในการขยายการค้าชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยวางไว้ 4 ยุทธศาสตร์หลักในการผลักดันการค้าชายแดนให้เติบโต ส่วนเป้าหมายมูลค่าการค้ายังอยู่คง ต้องหารือกับคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องก่อน อย่างไรก็ดี การค้าชายแดนในปี 2559 ทั้งปีคาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 1.47 ล้านล้านบาท หรือขยายตัว 2.8% เมื่อเทียบจากปีที่ผ่านมา และเติบโตอยู่ที่ 86.5% จากมูลค่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ 1.7 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ดี แม้เป้าหมายมูลค่าการค้าชายแดนในปีนี้จะไม่ได้ตามเป้าหมาย แต่ก็เป็นตัวเลขเป้าหมายในการผลักดันการค้าชายแดนให้ขยายตัว ขณะที่ในปี 2560 กรมฯก็เตรียมยุทธศาสตร์เพื่อผลักดันการค้าให้เติบโต โดยยุทธศาสตร์ที่ 1.การค้าชายแดน มีแผนที่จะผลักดันให้มีการพัฒนาด่านใหม่ที่มีศักยภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นด่านที่มีการค้าขายระหว่างไทยกับเพื่อนบ้าน เช่น ด่านบ้านแหลม ด้านบ้านผักกาด จังหวัดจันทบุรี ที่เชื่อมโยงการค้าไทยกับฝั่งกัมพูชาเข้าไปได้ถึงจังหวัดพระตะบองและจังหวัดไพลิน ด่านสิงขร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่เชื่อมเข้าไปยังเมืองมะริดของเมียนมา และด่านท่าลี่ จังหวัดเลย ที่เชื่อมเข้าไปยังสปป.ลาว เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมด่านเดิมที่มีการเปิดทำการอยู่แล้ว เช่น ด่านแม่สอด จังหวัดตาก โดยมีแผนที่จะสร้างเครือข่ายการค้าระหว่างผู้ประกอบการไทยตามแนวชายแดนกับผู้ประกอบการของเพื่อนบ้าน เพื่อกระจายสินค้าไทยให้เข้าสู่ตลาดเพื่อนบ้านได้เพิ่มขึ้น โดยจะเจาะเข้าไปถึงเมียวดี และมัณฑะเลย์, ด่านแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก จังหวัดเชียงราย จะเจาะเข้าไปยังเชียงตุงและตองยีเป็นต้น
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างเครือข่ายให้กับนักธุรกิจไทย และกรมฯ มีแผนจะเดินหน้าโครงการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านโครงการ YEN-D Program ซีซั่น 3 และจะเริ่มโครงการในไตรมาสแรกของปี 2560 ครั้งนี้จะพิเศษกว่าการจัดครั้งที่ผ่านๆ มา
โดยจะให้ความสำคัญกับนักธุรกิจรุ่นใหม่ของเพื่อนบ้านตามแนวชายแดน เช่น ตองยี ท่าขี้เหล็ก เชียงตุง ของเมียนมา และจังหวัดพระตะบอง ไพลินศรีโสภณ ของกัมพูชา เป็นต้น เพื่อสร้างโอกาสในการขยายการค้าชายแดนเพิ่มมากขึ้น
และยุทธศาสตร์ที่ 4 ผลักดันใช้ “เลยโมเดล” ในการพัฒนาผู้ประกอบการไทยในจังหวัดที่ไม่มีพื้นที่ติดชายแดนให้มีโอกาสในการทำการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยในช่วงปลายเดือนมกราคม 2560 กรมฯจะเข้าไปพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดเลย จังหวัดเพชรบูรณ์ และผู้ประกอบการจากแขวงไชยบุรี ของ สปป.ลาว เพื่อให้ความรู้และสร้างเครือข่ายการค้าการลงทุนระหว่างกัน ตลอดจนจะข้ามไปพบปะเจรจาธุรกิจ ณ แขวงไซยบุรี ด้วย
นายอดุลย์ กล่าวอีกว่า สำหรับการอำนวยความสะดวกในการส่งเสริมการค้าชายแดน กรมฯจะส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนไทยจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า เปลี่ยนถ่ายสินค้า ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน โดยในส่วนกลางจะสนับสนุนเอกชนไทยจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าในปทุมธานี พื้นที่กว่า 1,000 ไร่ เพื่ออำนวยความสะดวกและให้บริการแบบ One Stop Service แก่ผู้ส่งออกใช้เป็นช่องทางการจำหน่ายและกระจายสินค้าไปประเทศเพื่อนบ้านใน CLMV ซึ่งจะมีการลงนาม MOU ในช่วงเปิดตัวโครงการ YEN-D ซีซั่น 3 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560
ขณะเดียวกัน กรมฯ ได้มีการผลักดันให้ภาคเอกชนเปิดศูนย์กระจายสินค้าไทยในประเทศเพื่อนบ้าน โดยที่จังหวัดไพลินของกัมพูชา ซึ่งกรมฯ ได้ลงพื้นที่หารือกับภาคเอกชนกัมพูชา ซึ่งเป็นผู้กระจายสินค้าไทยรายใหญ่ ซึ่งยินดีและพร้อมที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการไทยเข้าไปกระจายสินค้าไทยในกัมพูชา นอกจากนี้ได้ลงพื้นที่จังหวัดศรีโสภณ หารือกับเจ้าของพื้นที่ศูนย์กระจายสินค้า และคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปี ในการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเจ้าของพื้นที่ได้ชักชวนให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในศูนย์กระจายสินค้าดังกล่าวด้วย และอื่นๆ ด้วย
สำหรับมูลค่าการค้าชายแดนของไทยในช่วง 11 เดือนของปี 2559 (ม.ค.- พ.ย.) มีมูลค่า 1.33 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.27% เติบโตสวนทางกับการค้าโลกในปัจจุบัน ส่วนมูลค่าการค้าชายแดนในปี 2559 ทั้งปีคาดว่า
จะมีมูลค่าประมาณ 1.47 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 86.5% ของเป้าหมาย ปี 2559 ที่ตั้งไว้ที่ 1.7 ล้านล้านบาท มีอัตราการขยายตัวประมาณ 2.8% จากปี 2558 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

ร่วมแสดงความคิดเห็น