เชียงใหม่นิวส์พาเที่ยว “ดอยม่อนล่อง”

ดอยม่อนล่อง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ม่อนคว่ำล่อง” สามารถมองเห็นทัศนียภาพของเมืองเชียงใหม่บริเวณถนนเส้นแม่ริม – สะเมิง ได้แก่ ตัวอำเภอแม่ริม ตัวอำเภอสะเมิง สวนพฤกษศาสตร์ เอราวัณรีสอร์ท หมู่บ้านแม่สาใหม่ หมู่บ้านโป่งแยง หมู่บ้านสามหลัง รวมถึงทิวทัศน์บริเวณสันเขาดอยสุเทพและดอยปุย นักท่องเที่ยวสามารถขับรถขึ้นไปชมวิวได้สองจุดคือ จุดสูงสุดของดอยม่องล่องและจุดฝังศพของพ่อขุนหลวงวิรังคะซึ่งเป็นที่ตั้งของศาล

บริเวณบ้านหนองหอย อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้งบนดอยสูง ที่แห่งนี้ยังมีประวัติความเป็นมาที่เกี่ยวข้องกับตำนานขุนหลวงวิรังคะ อดีตกษัตริย์ของชาวลัวะ นอกจากนั้นแล้วบ้านหนองหอยยังเป็นหมู่บ้านในพื้นที่ของโครงการหลวง ชาวบ้านจึงมีรายได้จากการเพาะปลูกพืชผักเมืองหนาว
ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติของหมู่บ้านหนองหอยก็ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปเที่ยวเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจุดชมวิวม่อนดอยและดอยม่อนล่อง ซึ่งสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของอำเภอแม่ริมและเชียงใหม่ได้อีกด้วย
ดอยม่อนล่อง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ม่อนคว่ำล่อง” สามารถมองเห็นทัศนียภาพของเมืองเชียงใหม่บริเวณถนนเส้นแม่ริม – สะเมิง ได้แก่ ตัวอำเภอแม่ริม ตัวอำเภอสะเมิง สวนพฤกษศาสตร์ เอราวัณรีสอร์ท หมู่บ้านแม่สาใหม่ หมู่บ้านโป่งแยง หมู่บ้านสามหลัง รวมถึงทิวทัศน์บริเวณสันเขาดอยสุเทพและดอยปุย นักท่องเที่ยวสามารถขับรถขึ้นไปชมวิวได้สองจุดคือ จุดสูงสุดของดอยม่องล่องและจุดฝังศพของพ่อขุนหลวงวิรังคะซึ่งเป็นที่ตั้งของศาล

ตำนานในอดีตเกี่ยวกับขุนหลวงวิรังคะซึ่งเล่าขานสืบต่อกันมาจากชาวบ้าน กล่าวว่า ในอดีตมีกษัตริย์ของชาวลัวะนามว่า “ขุนหลวงวิรังคะ” เป็นเจ้าเมืองระมิงค์นคร ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีพละกำลังแข็งแกร่งและมีคาถาอาคมแก่กล้า เมื่อทรงสูญเสียมเหสีอันเป็นที่รักไปก็นำความโศกเศร้ามาสู่ขุนหลวงวิรังคะเป็นอย่างมาก ข้าราชบริพารทั้งหลายเห็นดังนั้นจึงกราบทูลเรื่องเจ้าแม่จามเทวี ซึ่งเป็นกษัตริย์ปกครองนครหริภุญชัย หรือ เมืองลำพูน ซึ่งมีความสามารถและมีรูปโฉมที่งดงามเหมาะสมที่จะเป็นมเหสีองค์ใหม่

ขุนหลวงวิรังคะจึงได้ประสงค์ให้จัดขบวนอัญเชิญเจ้าแม่จามเทวีมาเป็นมเหสี ทางด้านเจ้าแม่จามเทวีเมื่อทราบข่าวก็ไม่ปรารถนาที่จะมาเป็นชายาเนื่องจากกลัวจะเป็นที่ครหาแก่ชาวเมือง จึงได้ออกอุบายให้ขุนหลวงวิรังคะสำแดงอานุภาพโดยการพุ่งเสน้า (แหลน) มายังเมืองลำพูน ถ้าสามารถพุ่งมาถึงได้จะยอมเป็นมเหสีของขุนหลวงวิรังคะ ขุนหลวงวิรังคะจึงตกลงแต่ขอทำการทดสอบฝีมือก่อน โดยทำการพุ่งเสน้าจากดอยสุเทพ มาตกยังบริเวณหนองน้ำทางทิศเหนือของเมืองหริภุญชัย ต่อมาชาวบ้านเรียกว่า “หนองเสน้า” เมื่อเจ้าแม่จามเทวีเห็นดังนั้น ก็คิดว่าคงไม่ได้การ จึงออกอุบายทำหมวกปีกกว้างหลากสีงดงามถวายแด่ขุนหลวงวิรังคะเพื่อเป็นกำลังใจ แต่ว่าพระนางได้ลงคาถาอาคมไว้
เมื่อถึงเวลาขุนหลวงวิรังคะก็ทรงสวมหมวกที่เจ้าแม่จามเทวีทำให้ก่อนที่จะพุ่งเสน้าก็ได้เกิดมีลมพัดปีกหมวกลงมาปิดตา ทำให้เสียสมาธิและอ่อนกำลังลง เสน้าจึงพุ่งไปตกที่ดอยเงินเหนือดอยคำไปไม่ถึงเมืองหริภุญชัย ขุนหลวงวิรังคะเกิดความโมโหจึงได้ยกทัพไปตีเมืองหริภุญชัยแต่ได้รับความพ่ายแพ้กลับมา ระหว่างตีเมืองหริภุญชัยขุนหลวงวิรังคะได้รับบาดเจ็บสาหัส ก่อนที่จะสิ้นใจได้มีพระประสงค์ให้นำศพไปฝัง ณ จุดที่สามารถมองเห็นเมืองหริภุญชัยได้ชัดเจนแต่ไม่สามารถนำศพข้ามแม่น้ำไปได้เนื่องจากความเชื่อของคนสมัยก่อนว่า ศพของกษัตริย์จะต้องนำไปฝัง ณ ยอดดอยสูงสุดดังนั้นชาวเมืองจึงนำโลง (ล่อง) ใส่ศพเดินลัดเลาะไปตามสันเขาแต่ในระหว่างเดินทางล่องบรรจุศพได้เกิดคว่ำลง ณ จุดบริเวณที่ชาวบ้านเรียกว่า “ม่อนล่อง” หรือ “ม่อนคว่ำล่อง” นั้นเอง จึงเป็นที่มาของชื่อดอยม่อนล่อง จากบริเวณนี้สามารถมองเห็นทัศนียภาพของเมืองเชียงใหม่และลำพูนได้ชัดเจน

ปัจจุบันดอยม่อนล่องได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามซึ่งอยู่ในพื้นที่ของโครงการหลวงบ้านหนองหอย ด้วยลักษณะที่เป็นหน้าผาหินสูงชันซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,450 เมตรมีอากาศบริสุทธิ์และเป็นจุดชมวิวที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของเชียงใหม่ อีกทั้งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่อีกด้วย โดยใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง จึงนับว่าดอยม่อนล่องเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามและมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปเที่ยวชมมากที่สุดแห่งหนึ่ง

ประวัติย่อ ขุนหลวงวิรังคะ

ต้นกำเนิดของขุนหลวงวิรังคะเป็นชนชาวลัวะ หรือ ละว้า หรือ ลาวจักราช ซึ่งในอดีตชนกลุ่มนี้ปกครองอาณาจักรล้านนา 8 ดินแดนในบริเวณภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย มีชื่อเดิมเรียกว่า “นครทัมมิฬะ” หรือ “มิรังคะกุระ” มีพระอุปะติราชปกครองสืบต่อกันมาจนสิ้น “วงศ์อุปะติ” และเริ่มการปกครองใหม่โดย “วงศ์กุนาระ” ซึ่งในสมัยกุนาระราชาครองราชได้ทรงเปลี่ยนนามนครมาเป็น “ระมิงค์นคร”

ขุนหลวงวิรังคะเป็นกษัตริย์ลำดับที่ 13 ของระมิงค์นคร ในราชวงศ์กุนาระ เมื่อราวต้นพุทธศักราช 1200 ทรงมีอิทธิฤทธิ์และฝีมือในการพุ่งเสน้าจนเป็นที่เลื่องลือ ท่านทรงครองราช “ระมิงค์นคร” ในสมัยเดียวกับพระนางจามเทวี กษัตริย์นครหริภุญไชย

ขุนหลวงวิรังคะได้สิ้นพระชนม์เมื่อพุทธศักราช 1227 ณ ระมิงค์นคร รวมพระชนมายุได้ 90 กว่าชันษา ต่อมา “ระมิงค์นคร” ได้ถูกปกครองสืบเนื่องกันมาหลายยุคหลายสมัย จนถึงสมัยของพญามังรายที่ 25 ในปีพุทธศักราช 1234 ได้เริ่มสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่เชิงดอยสุเทพและสร้างเสร็จเมื่อปีพุทธศักราช 1839 ตั้งชื่อนครแห่งใหม่นี้ว่า “เวียงนพบุรีศรีพิงค์ชัยใหม่” หรือ “เวียงใหม่” และกลายมาเป็นเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น