สกู๊ปหน้า 1…ปีใหม่ ขับขี่ปลอดภัย ปาร์ตี้อย่างไร ให้มีสุขภาพดี

ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน เป็นช่วงที่คนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนาของตนเอง ส่งผลให้ปริมาณการใช้รถใช้ถนนเพิ่มมากขึ้นจากเดิม และทำให้มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้นหลายเท่าตัว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าวิตกอย่างยิ่ง โดยจากสถิติอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559

โดยที่มากรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะเห็นได้ว่า 1.เกิดอุบัติเหตุสะสมรวม 3,379 ครั้ง เปรียบเทียบกับช่วงปีใหม่ 2558 (2,997 ครั้ง) เพิ่มขึ้น 382 ครั้ง 2.ผู้เสียชีวิตสะสมรวม 380 ราย เปรียบเทียบกับช่วงปีใหม่ 2558 (341 ราย) เพิ่มขึ้น 39 ราย 3.ผู้บาดเจ็บสะสมรวม 3,505 คน เปรียบเทียบกับช่วงปีใหม่ 2558 (3,117 คน) เพิ่มขึ้น 388 คน 4.สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เกิดจากเมาสุรา ร้อยละ 25.06% ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 17.01%

ด้วยเหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ พร้อมนำเสนอมาตรการช่วยลดอุบัติเหตุต่างๆ เพื่อปลุกจิตสำนึกความปลอดภัยทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ ให้ความรู้แก่ประชาชนผ่านกิจกรรมและโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมและป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน อาทิ จัดกิจกรรมรับมืออุบัติเหตุปีใหม่ภายใต้แนวคิด กลับบ้านปลอดภัย มีวินัย มีน้ำใจ ไม่ดื่ม ไม่ซิ่ง, โครงการรณรงค์เมาไม่ขับ, โครงการเปิดไฟหน้ารถ ช่วยลดอุบัติภัย หรือจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน โดยการมีถนนที่ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการมีพื้นผิวจราจรที่ได้มาตรฐาน มีแบริเออร์ สัญญาณเตือนที่ชัดเจน เป็นต้น ก็เป็นส่วนสำคัญในการป้องกันอุบัติเหตุและการสูญเสีย ชีวิตได้

“อุบัติเหตุ” นอกจากเกิดขึ้นจากปัจจัยแวดล้อมที่เราไม่สามารถควบคุมได้แล้ว อุบัติเหตุยังอาจเกิดขึ้นได้จากตัวของผู้ขับขี่เองด้วย ดังนั้นผู้ขับขี่จึงควรป้องกันตนเอง โดยมีหลักปฏิบัติลดอุบัติเหตุในการเดินทางง่ายๆ ดังนี้ 1.คาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง หรือสวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง 2.ควรหยุดพักรถเป็นระยะ หากต้องเดินทางไกล 3.เคารพกฎจราจร ไม่ฝ่าไฟแดง ไม่ขับรถย้อนศร 4.เตรียมร่างกายให้พร้อม พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการง่วงหรือหลับใน 5.เมาไม่ขับ 6.ไม่ขับรถเร็ว 7.งดการใช้โทรศัพท์ขณะขับขี่

ย้ำเตือนว่า สิ่งสำคัญในการใช้รถใช้ถนน คือผู้ขับขี่ต้องมีสติและสมาธิในการขับรถ งดการใช้โทรศัพท์เด็ดขาด ควรตรวจสภาพเครื่องยนต์และอุปกรณ์ต่างๆ ในรถให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน และอีกหนึ่งช่องทางสำหรับผู้ที่ไปพบเห็นเหตุการณ์อุบัติเหตุ เช่นนี้ สามารถโทร.1669 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ทั่วประเทศ โดยระหว่างนั้นห้ามเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บเด็ดขาด ให้รอทีมหน่วยกู้ชีพเป็นผู้เคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บแทน

อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิด นอกจากการรับมือและป้องกันอุบัติเหตุที่หลายๆ หน่วยงานได้ร่วมมือกันแล้ว ผู้ขับขี่เองก็ต้องป้องกันตนเองด้วยเช่นเดียวกัน ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งขัด เตรียมความพร้อมของตนเองเพียงเท่านี้เราทุกคนก็จะเดินทางกลับบ้านหรือไปท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัยและมีความสุขตลอดวันหยุดยาว

นอกจากกิจกรรมภายในงานที่เป็นสิ่งสำคัญแล้ว ‘อาหารและเครื่องดื่ม’ ยังเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ควรให้ความใส่ใจในช่วงเทศกาลดังกล่าว เพราะพฤติกรรมการกินอาหารของแต่ละคน เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน เป็นต้น ผู้ที่ชอบดื่มสุรามักพบว่าป่วยเป็นโรคมะเร็งตับ ผู้ที่ชอบกินอาหารไม่สุกมักพบว่าป่วยเป็นมะเร็งทางเดินน้ำดี ผู้ที่ชอบทานรสหวานจัดมักพบว่าป่วยเป็นโรคเบาหวาน เป็นต้น เพื่อเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ด้วยสุขภาพที่ดี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงนำแนวทางการกินในช่วงเทศกาล จาก ผศ.ดร. ฉัตรนภา หัตถโกศล เครือข่ายคนไทยไร้พุง อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาฝากดังนี้

กินอย่างมีเหตุและมีผล ไม่ควรสนุกกับงานจนรีบ ตะบี้ตะบันตักอาหารใส่จานอย่างขาดสติ งานปาร์ตี้ต้อนรับปีใหม่แบบนี้ควรเริ่มต้นเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน โดยเลือกกินอย่างมีเหตุและผล คำนึงถึงคุณค่าอาหารและพลังงานที่จะได้รับควบคู่ไปกับการวางแผนออกกำลังกาย ลองเลือกตักอาหารที่มีกากใยมากกว่าไขมัน เมื่อรู้สึกเริ่มอิ่มแล้วให้กินอาหารอย่างช้าๆ หรือลุกขึ้นเดินหากิจกรรมอย่างอื่นทำแล้วค่อยกลับมากินต่อก็ไม่เสียหาย

อย่าอดมื้อ เพื่อกินอีกหลายๆ มื้อ ไม่ควรอดมื้อเช้าหรือมื้อกลางวันเพื่อรอกินมื้อดึกในงานเพียงอย่างเดียว เพราะการอดอาหารส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลง ที่จะส่งผลให้เกิดการกินเพิ่มในมื้ออื่นๆ และการอดอาหารยังมีส่วนทำให้คนเหล่านั้นมีระดับความสุขและความสนุกลดลงอีกด้วย

ทำกินเอง ปลอดภัยเอง อร่อยเอง เพื่อการมีสุขภาพที่ดี จะดีกว่าไหมหากเราเป็นผู้ควบคุมได้ทั้งวัตถุดิบและกรรมวิธีในการปรุงรสได้เอง ลดการทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสชาติจัด ‘หวาน มัน เค็ม’ เช่น เปลี่ยนจากน้ำอัดลมเป็นน้ำผลไม้คั้นสด เปลี่ยนจากขนมขบเคี้ยวซองๆ เป็นการทำ เบเกอร์รี่ชิ้นเล็กที่อุดมไปด้วยคุณค่าและสารอาหาร ที่สำคัญไม่ควรลืมที่จะให้ปาร์ตี้นี้เป็นจุดเริ่มต้นการเริ่มทำอาหาร แบบเดิมด้วยวิธีใหม่ๆ อย่างการ นึ่ง อบ เผา ลวก แทนการทอด

หากิจกรรมเผื่อการเผาผลาญ คงไม่ดีแน่ๆ หากการปาร์ตี้จะมีแต่การเลี้ยงฉลองแล้วจบลงเพียงเท่านี้ ดังนั้นเพื่อการเพิ่มการเผาผลาญพลังงานที่ได้รับไปทั้งคืน ควรเดินไปพูดคุยกับเพื่อน ในงานบ่อยๆ แวะถ่ายรูปโต๊ะนั้น แอบหยิบขนมโต๊ะตรงข้าม หรือลองหากิจกรรมนันทนาการเพื่อเพิ่มความสัมพันธ์และความสนุกในงานอย่างเช่น การเหยียบลูกโป่ง การเล่นเก้าอี้ดนตรี การต่อแถวเล่นใบ้คำ การเล่นใบ้เพลง เป็นต้น

เทคนิคทั้ง 4 ข้อดังกล่าวนี้ จะทำให้ปาร์ตี้ปีใหม่เต็มไปด้วยการมีสุขภาพที่ดี และระมัดระวังในการกินอาหารอร่อยมากขึ้น ซึ่งเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับ ปีใหม่ที่จะมาถึงนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนเริ่มหันมาใส่ใจต่อพฤติกรรมการกินอาหารให้มากขึ้นควบคู่กับการออกกำลังกาย เพื่อการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ห่างไกลโรค

ร่วมแสดงความคิดเห็น