การค้าชายแดน เมืองพ่อขุนปี 60 ปัจจัยบวกเพียบ

การค้าชายแดนเมืองพ่อขุนปี 59 โดยรวมเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย หลังเจอปัจจัยลบกระหน่ำเพียบ อาทิ การปิดท่าเรือสบหลวยในเมียนมา การขนส่งสินค้าผ่าน R3A พบกับปัญหาค่าธรรมเนียมที่ยังไม่เป็นมาตรฐานสากล ขณะที่หอการค้าเชียงรายคาดทิศทางค้าชายแดนในปี60 น่าจะมีอัตราการขยายตัวกลับไปสู่ภาวะปกติจากปัจจัยบวกดันมูลค่าการค้าทะลัก

สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงราย รายงาน ภาวะการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนจังหวัดเชียงราย (มกราคม-พฤศจิกายน 2559) ว่า การค้าชายแดนของจังหวัดเชียงรายมีมูลค่าการค้ารวม 4.04 หมื่น ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปี 2558 เพิ่มขึ้น 1.16% แยกเป็นมูลค่าการส่งออก 3.408 หมื่นล้านบาทเมื่อเปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปี 2558 ลดลง 2.86% เมื่อเปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปี 2558 เพิ่มขึ้น 30.25%

เมื่อแยกประเทศคู่ค้าพบว่า การค้ากับจีนตอนใต้ มูลค่าการค้ารวม 1.26 หมื่นล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปี 2558 เพิ่มขึ้น 52.92% แยกเป็นมูลค่าการส่งออก 6,531 ล้านบาทสินค้าส่งออกที่สำคัญคือ เครื่องอุปโภค-บริโภค, ข้าวสาร, ปลากระตักตากแห้ง,เครื่องจักรและอุปกรณ์ มูลค่าการนำเข้า 6,073.4 ล้านบาท สินค้านำเข้าที่สำคัญคือ พืชผักสด, ผลไม้สด, องุ่นสด, สินค้าเกษตร, ดอกไม้และไม้ประดับ

การค้ากับ สปป.ลาว มูลค่าการค้ารวม 1.6733 หมื่นล้านบาท เปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปี 2558 ลดลง 3.3% แยกมูลค่าการส่งออก 1.6651 หมื่นล้านบาท สินค้าส่งออกที่สำคัญคือ เครื่องอุปโภค-บริโภค, สินค้าปศุสัตว์, ข้าวสาร, น้ำมันดีเซล, ผลไม้ มูลค่าการนำเข้า 81.44 ล้านบาท สินค้านำเข้าที่สำคัญคือ ไม้แปรรูป, อุปกรณ์ตกปลา, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, สินค้าเกษตร, ลูกต๋าว

การค้ากับเมียนมา มูลค่าการค้ารวม 1.1062 หมื่นล้านบาท เปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปี 2558 ลดลง 23.12% แยกเป็น มูลค่าการส่งออก 1.08 หมื่นล้านบาท สินค้าส่งออกที่สำคัญคือ เครื่องอุปโภค-บริโภค, น้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น, วิสกี้, เครื่องดื่มและน้ำดื่ม, ปูนซีเมนต์ มูลค่าการนำเข้า 165 ล้านบาท สินค้านำเข้าที่สำคัญคือ ผลส้มสด, ใบชา, แร่แมงกานีส, กะเทียม, เศษเหล็ก

ขณะที่ ดร.อนุรัตน์ อินทร ประธานคณะกรรมการ หอการค้าจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ปี 2558 ต่อเนื่องมาจนถึง 2559ช่วงกลางๆ ปี ต้องยอมรับว่ามีปัจจัยลบเกิดขึ้นกับการค้าชายแดนมากมาย โดยเฉพาะการปิดท่าเรือสบหลวยในเมียนมาที่ไม่ได้อยู่ในข้อตกลงการเดินเรือฯ แต่ว่าเป็นจุดขึ้นหลักของสินค้าไทยก่อนจะเข้าจีนตอนใต้หรือกระจายไปในเมียนมา ในขณะที่การขนส่งสินค้าผ่าน R3A ก็พบกับปัญหาค่าธรรมเนียมที่ยังไม่เป็นมาตรฐานสากล จังหวัดเชียงรายและหอการค้าฯ ได้เจรจาหาทางแก้ไขปัญหานี้มาโดยตลอด จนทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปได้

ทั้งนี้ ทิศทางการค้าชายแดนเชียงรายในปี 2560 น่าจะมีอัตราการขยายตัวกลับไปสู่ภาวะปกติที่ขยายตัวได้มากกว่าปีละ 10% เพราะว่าในปี 2560 ผมมองว่ามีปัจจัยบวกจากการปรับปรุงท่าเรือกวนเหล่ยของจีน จนสามารถรองรับการขนส่งสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์ ระหว่างท่าเรือกวนเหล่ย-ท่าเรือเชียงแสนได้ ประกอบกับปัจจัยลบทางด้าน R3A ได้คลี่คลายลงไปมากแล้ว ทำให้ผมเชื่อว่ามูลค่าการค้าในปี 2560มีโอกาสขยับเข้าใกล้หลัก 5.5 หมื่นล้านบาท และมีโอกาสจะเติบโตแบบก้าวกระโดดได้ หากว่าจีนกับเมียนมา ตกลงเปิดให้มีการขนส่งสินค้าผ่านด่านเมืองลา-ต้าลั้ว บนเส้นทาง R3B ที่เชื่อมโยง ไทย-เมียนมา-จีน ซึ่งหอการค้าฯ คาดหวังลึกๆ ว่าน่าจะมีโอกาสได้เห็นในปี 2560 ที่จะถึงนี้

การเชื่อมโยงการค้าระหว่างประเทศจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาความมั่งคงและความมั่นคั่ง สร้างความร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่นของประชาชนทั้ง 4 ประเทศในกรอบความร่วมมือสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ

ร่วมแสดงความคิดเห็น