ร่องรอยอารยธรรมสิบสองปันนา ความรุ่งเรืองแห่งอดีตกาลของวัดในดอยสะเก็ด

พวกไทเขินได้สร้างวัดป่าป้องขึ้น ซึ่งแต่เดิมบ้านป่าป้องชาวบ้านเรียกว่า บ้านหนองหญ้าไซ หรือ บ้านป่าป้องหนองหญ้าไซ ส่วนชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านนี้เรียกว่า “เขินป้อง” การสร้างวัดและอารามจะมีอยู่เกือบทุกหมู่บ้าน จากข้อมูลปัจจุบันพบว่าอำเภอดอยสะเก็ดมีหมู่บ้าน 14 ตำบล มีวัดวาอารามจำนวน 58 วัด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแรงศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนาอย่างเปี่ยมล้น

แต่เดิมอำเภอดอยสะเก็ดมีกลุ่มชนต่าง ๆ เข้ามาอาศัยอยู่ ซึ่งมีทั้งชนชาวลัวะ ชาวไทลื้อ ไทเขิน เงี้ยวหรือไทใหญ่และชาวยวนหรือไทโยนก กลุ่มชนเหล่านี้ได้เข้ามาอยู่ปะปนกับพวกลัวะที่อาศัยในดินแดนแห่งนี้มาก่อน พวกลัวะมีความเจริญทางวัฒนธรรมและอารยธรรมพอสมควร ซึ่งในตำนานเก่า ๆ ของล้านนาจะเรียกชาวลัวะว่า “มิลังขะ” หมายถึง ผู้ไม่เจริญ และในที่สุดคนเผ่าไทก็สามารถขับไล่พวกลัวะให้ออกไปจากเมืองและได้ยึดครองดินแดนแห่งนี้

เมื่อพญามังรายได้สร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นในปี พ.ศ.1839 จนเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด กระทั่งถึงปี พ.ศ.2121 พม่าได้เข้ามายึดและปกครองเมืองเชียงใหม่ จนเชียงใหม่กลายเป็นเมืองร้าง จนปี พ.ศ.2347 พระเจ้ากาวิละได้กอบกู้เมืองเชียงใหม่โดยการกวาดต้อนผู้คนจากหัวเมืองเล็กเมืองน้อยต่าง ๆ อพยพผู้คนเข้ามาอยู่ในเมืองเพื่อความอุ่นหนาฝาคั่งและช่วยกันบูรณะบ้านเมือง โดยจัดส่งผู้คนให้อยู่ตามนอกกำแพงเมืองและในกำแพงเมือง คนที่อยู่นอกเมืองเมื่อมีโอกาสพบกับคนบ้านเดียวกันหรือคนที่รู้จักกันมาก่อนก็อาศัยอยู่ตามชาติพันธุ์เดียวกัน บ้างก็สร้างชุมชนของตนเองโดยอาศัยชื่อเมืองที่อยู่เดิม เช่น ชุมชนเมืองวะ ชุมชนเมืองสาด ชุมชนเมืองมาง เป็นต้น

ปี พ.ศ.2357 เจ้าอุปราชธรรมลังกา ได้นำคนขึ้นไปอพยพเจ้าสุริยวงศ์เจ้าเมืองวะ เข้ามาอยู่ในดินแดนเชียงใหม่และนำเฝ้าราชการที่กรุงเทพฯ ซึ่งจากประวัติของวัดสารคามรังสรรค์ เจ้าสุริยวงศ์ได้บูรณะวัด ให้ชื่อว่า “วัดเมืองวะ – เวียงแก่น” พ.ศ.2368 กลุ่มคนไทลื้อได้สร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งชื่อว่า “วัดศรีนางแยง” คู่กับวัดศรีมุงเมือง ตามประวัติของวัดรังษีสุทธาวาส (ลวงใต้) ขณะเดียวกันเจ้านายฝ่ายเหนือได้สร้างวัดขึ้นอีกมากมายตามเขตปกครองของตนเองเพื่อเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา เช่นวัดม่วงโตน ตามชื่อของมะม่วงขนาดใหญ่ กล่าวกันว่า เป็นการปลูกขึ้นเพื่อหมายทางเดินของช้างเจ้าเมืองเชียงใหม่ ตลอดจนการสร้างวัดตามชุมชนต่าง ๆ

ในประวัติของวัดชยาลังการ กล่าวว่า พวกไทเขินได้สร้างวัดป่าป้องขึ้น ซึ่งแต่เดิมบ้านป่าป้องชาวบ้านเรียกว่า บ้านหนองหญ้าไซ หรือ บ้านป่าป้องหนองหญ้าไซ ส่วนชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านนี้เรียกว่า “เขินป้อง” การสร้างวัดและอารามจะมีอยู่เกือบทุกหมู่บ้าน จากข้อมูลปัจจุบันพบว่าอำเภอดอยสะเก็ดมีหมู่บ้าน 14 ตำบล มีวัดวาอารามจำนวน 58 วัด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแรงศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนาอย่างเปี่ยมล้น

ศาสตราจารย์เกียรติคุณแสง จันทร์งาม ได้กล่าวว่า ล้านนาไทยได้รับเอกลักษณะทางวัฒนธรรมของพม่าเข้ามาในช่วง 200 กว่าปีที่พม่าปกครองอยู่ เช่นพิธีการบวชเณร การแต่งกายของผู้ที่จะเข้าบวชเป็นสามเณรจะแต่งตัวแบบเจ้าชาย เป็นต้น

วัดในอำเภอดอยสะเก็ดส่วนมากจะสังกัดมหานิกาย มีเพียงวัดเดียวคือวัดศรีมุงเมืองที่สังกัดธรรมยุตกนิกาย ในช่วงประมาณปี พ.ศ.2464 หมื่นบุญเรืองวรพงษ์ กำนันตำบลลวงเหนือมีความศรัทธาในตัวเจ้าคุณนพศรี ศาลคุณ (มหาปิง) พระชั้นผู้ใหญ่ที่สังกัดธรรมยุตกนิกาย ท่านจึงได้นำนิกายธรรมยุติมาใช้ที่ลวงเหนือ การบูรณะวัดได้มีให้เห็นต่อมาตามลำดับ เช่นที่วัดดอยสะเก็ด เดิมเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ ท่านครูบาเก๋ได้มาบูรณะวัดขึ้น เรียกว่า “วัดดอยสะเก็ด” ในปีพ.ศ.2438 – 2448 ครูบากาวิชัย และ ขุนผดุงดอยแดน ร่วมกับครูบาชัยวัดลวงเหนือ ได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดอีกครั้งและตั้งชุมชนดอยสะเก็ดขึ้นตามประวัติของวัดดอยสะเก็ด ซึ่งจากประวัติของการสร้างวัดต่าง ๆ ในอำเภอดอยสะเก็ดของสำนักงานศึกษาธิการอำเภอดอยสะเก็ดพบว่า มีการสร้างวัดขึ้นในอำเภอดอยสะเก็ดตั้งแต่ปี พ.ศ.1835 – 2060 ในสมัยของพระเมืองแก้ว แห่งราชวงศ์มังรายซึ่งปรากฏอยู่ในตำนานเมืองเชียงใหม่พวกไทลื้อก็ได้สร้างวัดขึ้นที่บ้านลวงเหนือ ในจุลศักราช 763 ปีมะเส็ง ตรีศก เดือนแปด พุทธศักราช 1944 พระเจ้าแสนเมืองมาได้สิ้นพระชนม์ พระเจ้าสามฝั่งแก่นได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่และได้ยกดินแดนที่พระองค์ทรงพระราชสมภพคือ พันนาฝั่งแก่น สร้างเป็นอารามและขนานนามว่า “วัดบูรณฉันท์”

พวกไทใหญ่ หรือ เงี้ยว ซึ่งอาศัยอยู่ที่บ้านสันอุ้มและร้องขี้เหล็ก ก็ได้สร้างวัดร้องขี้เหล็กขึ้นในบริเวณที่พวกเงี้ยวอาศัย จากสมุดข่อยดำที่แปลและคัดลอกโดยหนานปวงคำ ตุ้ยเขียว ในประวัติวัดสารคามรังสรรค์ (วัดเมืองวะ) กล่าวว่าในปีพ.ศ.2381 พระสงฆ์จากวัดร้องขี้เหล็ก วัดสันป่าก้าง วัดสันบวกเปา วัดสันป่าห้าประตูเขื่อน วัดสันป่าดู่ วัดบวกก๊ด วัดเวียงแก่นและวัดลวงเหนือ ได้มาลงอุโบสถที่วัดร้องขี้เหล็ก ซึ่งแสดงให้เห้นถึงว่าได้มีการสร้างวัดขึ้นมากในอดีต และการที่พระสงฆ์มาลงอุโบสถที่วัดร้องขี้เหล็กแสดงให้เห็นถึงการปกครองพระสงฆ์ที่อยู่ในเขตการปกครองเดียวกันได้มาร่วมสังฆกรรมด้วยกัน โดยอาศัยวัดที่อยู่ตรงกลางเป็นจุดที่จะมาร่วมสังฆกรรม

กล่าวได้ว่า กลุ่มคนต่าง ๆ ได้สร้างวัดและอารามตามลักษณะความเชื่อของบรรพบุรุษและอิทธิพลที่ได้รับจากพม่า เช่นวัดลวงเหนือ (ศรีมุงเมือง) สร้างเป็นศิลปะไทลื้อผสมกับพม่า วัดร้องขี้เหล็กเป็นศิลปะแบบเงี้ยวผสมล้านนา วัดป่าป้องเป็นวัดที่สร้างด้วยศิลปะล้านนาผสมเขิน และได้หลอมรวมกับวัฒนธรรมแบบดั่งเดิมเป็นศิลปะแบบผสมผสานที่สวยงามและลงตัว

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น