เมืองแพร่ดันท่องเที่ยว เชื่อมจังหวัดสู่รอบทิศ

พ่อเมืองแพร่ เปิดวิสัยทัศน์โชว์ตัวแทนรัฐ เอกชน และสื่อเชียงราย เร่งดันเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมจังหวัดรอบทิศ ชายแดน ดึงคนเที่ยว พักให้นานขึ้น ชดเชยปัญหากักน้ำไม่ได้ เกษตรขยายตัวยาก บอก “แพร่” ของดีมีเยอะ ทั้งพระธาตุช่อแฮ คุ้มเจ้าหลวง แหล่งบ้านไม้สัก ยัน “ขนมเส้นน้ำย้อย”

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย ได้นำตัวแทนภาครัฐ เอกชน และสื่อมวลชน ร่วมโครงการสื่อสัญจรสานสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวและศิลปวัฒนธรรม กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ระหว่างวันที่ 6-7 ม.ค.นี้ เข้าพบ นายวัฒนา พุทธชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ และคณะ พร้อมศึกษาดูงานแหล่งท่องเที่ยว วิสาหกรรมชุมชนหลายแห่ง

นายวัฒนา กล่าวว่า แพร่ มีภูมิประเทศที่เป็นป่าเขามากกว่า 80% และยังมีปัญหาเรื่องการจะนำน้ำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพราะแหล่งน้ำ โดยเฉพาะแม่น้ำยม ไหลผ่านป่าเขา ทำให้ถูกคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำมาตลอด การพัฒนาภาคการเกษตรเพื่อเพิ่มรายได้ประชากรจึงทำได้ยาก

โดยน้ำจากลำน้ำยม มีปริมาณปีละ 1,400 ล้าน ลบ.ม. และน้ำจากน้ำฝนมีปริมาณ 1,200-1,300 ล้าน ลบ.ม. รวมเป็นประมาณ 2,600-2,700 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ความต้องการใช้ทั้งจังหวัดมีประมาณ 1,600 ล้าน ลบ.ม. แต่กักน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ได้เพียงประมาณ 500 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น ที่เหลือต้องปล่อยให้ไหลลงสู่ภาคกลาง ดังนั้น จึงแก้ไขด้วยการทำฝาย อ่างเก็บน้ำ เพื่อกักเก็บให้พอใช้

นายวัฒนา กล่าวอีกว่า ด้านการท่องเที่ยว จังหวัดได้ระดมทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬา จ.แพร่ พัฒนาภาคการท่องเที่ยว ชดเชยข้อจำกัดในการพัฒนาด้านการเกษตร และแหล่งน้ำ

ซึ่งตลอด 3 เดือนที่ตนเข้ารับตำแหน่งที่ จ.แพร่ ก็ได้รวบรวมศึกษาข้อมูลพบว่า แพร่ เป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่หลายสิ่งยังไม่ถูกทำลายไปตามกาลเวลา มีวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติมากมาย เช่น พระธาตุช่อแฮ คุ้มเจ้าหลวง บ้านไม้สัก เฉพาะเขตเทศบาลก็มีมากกว่า 800 หลัง อุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย ถ้ำผานางคอย แพะเมืองผี แหล่งผลิตผ้าม่อฮ่อมที่มีชื่อเสียง รวมถึงอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น ขนมเส้นน้ำย้อย รวมทั้งอื่นๆ ที่ยังไม่ถูกเปิดเผย และรอการพัฒนาด้วย

แต่แพร่เป็นจังหวัดเดียวในกลุ่มภาคเหนือตอนบน 2 ที่ไม่ติดชายแดนเหมือนลาว ไม่ติดทะเล เราจึงจะพยายามพัฒนาให้มีการเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดต่างๆ และชายแดนเพื่อดึงนักท่องเที่ยวให้พักที่แพร่ยาวนานขึ้นด้วย

โดยปัจจุบันมีโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวระหว่างแพร่-น่าน เส้นทางปาย (แม่ฮ่องสอน)-ปัว(น่าน)-แป้ (แพร่) และรัฐบาลก็กำลังพัฒนาเส้นทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ชายแดนลาว อนาคตก็จะได้เชื่อมการท่องเที่ยวกับเชียงราย รวมถึงชายแดนได้ต่อไป

“ตอนนี้จังหวัดได้จัดตั้งทีม และเริ่มพัฒนาระบบขนส่งภายใน ที่พัก ประชาสัมพันธ์ เชื่อว่าอีกไม่นานจะสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างเต็มที่ต่อไป”

ด้าน น.ส.เอิบลาภ ศรีภิรมย์ ผอ.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแพร่ กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา แพร่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา 750,000 คน สร้างรายได้เข้าจังหวัดประมาณ 1,390 ล้านบาท มีที่พักทั้งจังหวัด จำนวน 1,632 ห้อง และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น จังหวัดจึงได้มีโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวต่างๆ มากมาย เช่น มาร์เกตติ้ง 360 องศา ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวและเส้นทางท่องเที่ยวไปตามสื่อต่างๆ

ร่วมแสดงความคิดเห็น