“พระรอด” วัดมหาวัน ของดีเมืองลำพูน

ในอดีตแม้กระแสจตุคามรามเทพ จะระบาดไปทั่วประเทศ มีศรัทธาประชาชนจำนวนมาก ห้อยจตุคามรามเทพ ทั้งที่รู้และไม่รู้ถึงที่มาที่ไป บางคนห้อยเพราะเห่อตามกระแส จะองค์ไหนรุ่นไหนก็ได้ บางคนห้อยเพราะแรงศรัทธา

ไม่เว้นแม้แต่ในแผ่นดินล้านนา จตุคามรามเทพได้แพร่ขยายเข้ามา จนเมื่อเวลาเดินทางผ่านวัดไหน ก็จะเห็นป้ายพิธีปลุกเสกจตุคามรามเทพแทบทุกวัด สนนราคามีให้เช่าตั้งแต่องค์ละ 99 บาท ไปจนถึงองค์ละ 599 บาท หรือบางทีองค์ละหลายพันก็ยังมี ทว่าถ้าไปถามในบรรดาพุทธศาสนิกชนคนเมืองล้านนาในรุ่นเก่าแล้ว หลายคนไม่ได้สนใจกระแสจตุคามรามเทพมากนัก เพราะว่าจตุคามรามเทพมีถิ่นกำเนิดไม่ได้อยู่ในภาคเหนือ ดังนั้นจะให้คนรุ่นเก่าเข้าถึงศรัทธาคงเป็นไปได้ยาก

จะว่าไปแล้ว สิ่งที่คนภาคเหนือ (โดยสายเลือดแท้ๆ) นิยมห้อยกันคงหนีไม่พ้นพระเครื่องของเกจิที่มีชื่อเสียงในอดีต เช่น ห้อยเหรียญครูบาศรีวิชัย เหรียญหลวงปู่แหวนสุจิณโณ พระรอดวัดมหาวัน เป็นต้น โดยเฉพาะพระรอดวัดมหาวันลำพูน ถือได้ว่าเป็นวัตถุมงคลที่มีอายุเก่าแก่เกิน กว่า 1,000 ปี อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในพระเครื่องเบญจภาคี

นักนิยมพระเครื่องหลายต่อหลายคน เมื่อมีโอกาสเดินทางไป จ.ลำพูน ส่วนใหญ่ไม่พลาดที่จะแวะเข้าไปที่วัดมหาวัน วัดแห่งนี้นอกจากจะเป็นวัดหลวงเก่าแก่ ที่สร้างขึ้นในสมัยพระนางจามเทวีแล้ว วัดนี้ยังเป็นต้นตำนานของพระรอดเมืองลำพูน ที่นักสะสมพระเครื่องต่างต้องการมีไว้ครอบครอง

ผมเองแม้ว่าจะไม่ใช่นักเลงเล่นพระตัวยง แต่กระนั้นผมก็ยังห้อยคอด้วยพระรอดพิมพ์เล็ก ที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ แม้สนนราคาค่าเช่าจะไม่สูงมากนัก แต่การที่ผมเป็นคนลำพูนโดยกำเนิด จึงไม่อายใครและเต็มใจที่จะห้อยพระรอดอย่างภาคภูมิ

หลายท่านอาจสงสัยว่าพระรอดวัดมหาวันลำพูน เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ทำไมถึงมีราคาเช่าสูงนัก ผมอาจจะไขคำถามต่างๆ ได้ไม่ชัดเจนนักเพราะว่าไม่ใช่คนเล่นพระ แต่ถ้าจะถามถึงประวัติความเป็นมาของพระรอดและวัดมหาวันละก็ พอจะตอบได้บ้าง

เป็นที่รู้กันดีว่าวัดมหาวันลำพูน เป็นต้นกำเนิดของพระรอด ถ้าลองย้อนไปเมื่อปี พ.ศ.1200 เศษ เมื่อมีฤาษีสององค์นามว่า วาสุเทพฤาษีและสุกกทันตฤาษี ซึ่งทั้งสองเป็นพระสหายกันได้ปรึกษาหารือ ตกลงที่จะสร้างเมืองใหม่ขึ้นทางริมฝั่งตะวันตกของแม่นํ้ากวง เมื่อพระฤาษีทั้งสองสร้างเมืองแล้วเสร็จ จึงได้ให้ควิยะบุรุษเป็นทูตไปอัญเชิญพระนางจามเทวี ราชธิดาของพระเจ้ากรุงละโว้ ขึ้นมาปกครองเมืองพร้อมด้วยข้าราชบริพาร พระสงฆ์ พราหมณาจรรย์ โหราราชบัณฑิต แพทย์และช่างต่างๆ อย่างละ 500

พระนางจามเทวี ทรงใช้เวลาเดินทางโดยล่องขึ้นมาตามแม่นํ้าปิงนานกว่า 7 เดือน จากบันทึกจามเทวีวงศ์พงศาวดารเมืองระบุว่า เมื่อพระนางจามเทวี เสด็จมาถึงนครหริภุญชัยได้ 7 วัน ก็ทรงประสูติพระโอรสทั้งสองพระองค์คือ อนันตยศและมหันตยศ หลังจากนั้นวาสุเทพฤาษีและสุกกทันตฤาษี พร้อมด้วย ประชาชนพลเมืองจึงได้พร้อมใจกันจัดพิธีราชาภิเษกพระนางจามเทวีขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์ เสวยราชสมบัติในเมืองหริภุญชัย

เมื่อพระนางจามเทวีเสด็จขึ้นครองเมืองหริภุญชัยแล้ว พระองค์จึงได้ชักชวนอาณาประชาราษฎร์ให้ร่วมกันสร้างพระอารามใหญ่น้อย เพื่อถวายแด่พระรัตนตรัย ทั้งยังเป็นที่พำนักของพระสงฆ์ที่มาจากกรุงละโว้ ซึ่งวัดต่างที่พระนางจามเทวีได้ทรงสร้างขึ้นมีอยู่ 5 วัดด้วยกัน
– วัดอรัญญิกรัมมาราม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ปัจจุบันคือวัดดอนแก้ว รวมกับ วัดต้นแก้ว
– วัดมูลการาม อยู่ทางทิศใต้ คือวัดกู่ละมัก (ลมักกัฏฐะ) ปัจจุบันคือ วัดรมณียาราม
– วัดอาพัทธาราม อยู่ทางทิศเหนือ ปัจจุบันคือ วัดพระคงฤาษี
– วัดมหาลดาราม อยู่ทางทิศใต้ ปัจจุบันคือ วัดประตูลี้
– วัดมหาวนาราม อยู่ทางทิศตะวันตก ปัจจุบันคือ วัดมหาวัน

เมื่อสร้างวัดขึ้นทั้ง 5 วัดแล้ว พระนางจามเทวีก็ได้สร้างพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ทั้ง 5 วัด ส่วนวาสุเทพฤาษีและสุกกทันตฤาษี จึงได้มาปรารภกันว่าเมืองหริภุญชัยนครนี้ มีสตรีเป็นเจ้าผู้ครองนคร ในอนาคตข้างหน้าอาจจะมีข้าศึกมารุกราน ทั้งสองจึงได้ปรึกษาหารือที่จะสร้างเครื่องลางของขลังไว้ เพื่อเป็นที่สักการบูชารักษาบ้านเมือง และเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่เหล่าทหารและอาณาประชาราษฎร์ จึงได้ผูกอาถรรพณ์ไว้ตรงใจกลางเมือง แล้วจัดหาดินลำพูนทั้ง 4 ทิศ พร้อมด้วยว่านอีกหนึ่งพันชนิด และเกสรดอกไม้มาผสมเข้าด้วยกันกับเวทมนตร์คาถา

จากนั้นคลุกเคล้ากันจนได้ที่จัดสร้างพระพิมพ์ขึ้น 2 ชนิด ชนิดหนึ่งเรียกว่า พระคง เพื่อความมั่นคงของนครหริภุญชัย อีกชนิดหนึ่งเรียกว่า พระรอด เพื่อความอยู่รอดปลอดภัย เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็สุมไฟด้วยไม้มะฮกฟ้าหรือป่ารกฟ้า เป็นเวลานาน 7 วัน 7 คืน แล้วจึงนำพระคงที่เผาแล้วไปบรรจุไว้ที่วัดพระคงฤาษี นำพระรอดไปบรรจุไว้ที่วัดมหาวัน

ปัจจุบันพระรอดวัดมหาวัน กลายเป็นพระเครื่องชื่อดัง ที่มีราคาค่าเช่าสูงมาก ทั้งยังถูกบรรจุไว้เป็นพระกรุเก่าแก่หนึ่งในเบญจภาคี ที่นักนิยมพระเครื่องต่างแสวงหา แม้ในระยะหลังจะมีการทำพระรอดขึ้นมาใหม่ ทว่าพระรอดเก่าที่ถูกขุดโดยชาวบ้าน ก็กระจายไปอยู่ในมือของนักสะสมพระทั่วไป

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น