พุกาม…แดนเจดีย์สี่พันองค์

ปัจจุบันเหล่าเจดีย์ที่แสดงถึงศรัทธาในพุทธศาสนาของพุกามพังทลายไปตามกาลเวลากับด้วยเหตุแห่งการกัดเซาะของน้ำในแม่น้ำอิระวดีพัดหายไปเป็นจำนวนมาก ในเวลาเพียง 700 กว่าปีมีเจดีย์สูญหายไปกว่าหนึ่งหมื่นองค์ แต่มรดกยุคทองของการสร้างวัดวาอารามที่เหลือตกทอดมาให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมก็ยังนับว่ามีอยู่ไม่น้อย

เรื่องราวความยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรพุกามเคยฝังลึกอยู่ในห้วงมโนมานานกว่าทศวรรษ กระทั่งวันหนึ่งกลางวสันต์ฤดูผมมีโอกาสเข้าไปสัมผัสอดีตแห่งความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรที่ได้ชื่อว่าเกรียงไกรที่สุดในเอเชียอาคเนย์ นับจากแผ่นดินของพระเจ้าอโนรธามหาราช พุกามได้เริ่มต้นยุคทองแห่งศรัทธาในพุทธศาสนา และถึงวันนี้ เวลาได้ผ่านล่วงมาปีแล้วปีเล่า พุกามยังคงฉายเงาแห่งเมืองศาสนาได้อย่างสมบูรณ์บนริมฝั่งแม่น้ำสายโรแมนติกที่สุดของโลกนามว่า อิระวดี

พุกามยังคงน่าตื่นตาตื่นใจสำหรับคนยุคนี้ แม้นนักโบราณคดีจะพบว่าสายน้ำอิระวดีได้พัดเอาซากเมืองเดิมสูญหายไปกว่าครึ่งก็ตาม แต่กระนั้นความหนาแน่นของทะเลเจดีย์นับพันองค์ที่ยังหลงเหลืออยู่ก็มากพอที่จะทำให้พุกามได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอันควรค่าแก่การรักษาไว้ให้เป็นสมบัติของมวลมนุษยชาติทุกคน

พุกามหรือปะกาน (Pagan หรือ Bagan) เป้าหมายทางการท่องเที่ยวอันดับหนึ่งมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กล่าวกันว่าหากใครเดินทางมาพม่าแล้วไม่ได้แวะเมืองเยือนเมืองพุกาม ก็ยังนับว่ามาไม่ถึงพม่า เมืองพุกามได้รับสมญาว่าเป็น “ดินแดนเจดีย์สี่พันองค์” ทว่าปัจจุบันจากการสำรวจพบว่าเหลืออยู่เพียง 2,800 กว่าองค์

อาณาจักรพุกามสร้างขึ้นโดยพระเจ้าอโนรธามังช่อ กษัตริย์ผู้รวบรวมพม่าให้เป็นปึกแผ่น หลังจากที่พระองค์ทรงยกทัพไปตีเมืองตะโถ่งได้ในปี ค.ศ.1057 จากนั้นมาจึงมีการสร้างวัดวาอารามและสถูปเจดีย์ขึ้นบนที่ราบอันกว้างใหญ่ไพศาลแห่งนี้ว่า 13,000 องค์ ในต้นคริสตศตวรรษที่ 2 พระเจ้าตะมุดะริด (สมุทรฤทธิ์) ทรงนำชาวพยูมาตั้งบ้านเรือนขึ้นในเขตที่ราบพุกาม หลังจากนั้นจึงได้ก่อสร้างกำแพงเมืงขึ้นล้อมรอบเมื่อ ค.ศ.849 ในรัชสมัยของพระเจ้าปหยิ่นปยา ครั้นเมื่อพระเจ้าอโนรธาขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ที่ 42 แห่งราชวงศ์พุกาม พระองค์ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองจนรุ่งเรือง พระเจ้าอโนรธาปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ.1044 พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์พุกามด้วยการพิชิตราชธานีของชาวมอญและยังรับเอาศาสนาพุทธจากอินเดียกับศิลปวัฒนธรรมจากชาวมอญมาเป็นเอกลักษณ์ของชาติตราบจนทุกวันนี้ เมืองพุกามเคยเป็นราชธานียาวนานถึง 250 ปี

ปัจจุบันเหล่าเจดีย์ที่แสดงถึงศรัทธาในพุทธศาสนาของพุกามพังทลายไปตามกาลเวลากับด้วยเหตุแห่งการกัดเซาะของน้ำในแม่น้ำอิระวดีพัดหายไปเป็นจำนวนมาก ในเวลาเพียง 700 กว่าปีมีเจดีย์สูญหายไปกว่าหนึ่งหมื่นองค์ แต่มรดกยุคทองของการสร้างวัดวาอารามที่เหลือตกทอดมาให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมก็ยังนับว่ามีอยู่ไม่น้อย รวมถึงได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี มีการจัดสรรที่อยู่ของประชาชนโดยไม่ให้รบกวนโบราณสถาน

พุกามเป็นที่ยอมรับว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สงบเงียบ เอื้อต่อการซึบซับรากฐานทางวัฒนธรรมและศิลปวัฒนธรรม ซึ่งส่งอิทธิพลต่อพม่าในยุคต่อมารวมไปถึงดินแดนล้านนาของไทย ความที่ไม่ใช่ศูนย์กลางธุรกิจการค้า จึงทำให้ถนนในเมืองพุกามไม่พลุกพล่าน เว้นแต่รถของนักท่องเที่ยวแล้วก็จะมีแต่รถม้าและจักรยานผ่านไปมาตามเจดีย์ต่าง ๆ ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ทั่วเมือง เขตโบราณสถานของพุกามนั้นได้รับการดูแลค่อนข้างดี บางแห่งมีการบูรณะขึ้นใหม่ ชุมชนเมืองกับเขตโบราณสถานแยกกันเป็นสัดส่วน เมื่อผ่านประตูเมืองเก่า (THARABAR GATE) เราจึงได้ยินแต่เสียงกอบแกบของเกือกม้าที่ย่ำไปบนถนนราดยางมะตอย สวนทางกับรถจักรยานที่เป็นพาหนะยอดฮิตของที่นี่

โบราณสถานที่สำคัญของพุกามได้แก่ อนันทวิหาร ถือเป็นงานชิ้นเอกของชนเผ่ามอญ สร้างเสร็จในปี ค.ศ.1091 โดยพระเจ้าญาณสิทธา ด้วยแรงบันดาลใจมาจากที่ได้เห็นพระสงฆ์จำนวน 8 รูปออกรับบิณฑบาตในเช้าวันหนึ่ง คณะสงฆ์นี้รับนิมนต์เข้ามาในวังและได้เพ่งสมาธิจนเกิดภาพนิมิตให้กับพระเจ้าญาณสิทธา จนพระองค์ถึงกับตกลงพระทัยสร้างวัดตามนิมิตนั้น

และใครจะคาดคิดว่าช่างถือมือได้ทุ่มเททำจนสุดความสามารถ ด้วยความงดงามของวิหารหลังนี้ทำให้พระองค์ถึงกับตื่นตะลึง และเป็นเหตุให้ทรงใช้พระราชอำนาจสั่งประหารช่างฝีมือที่ก่อสร้างวัดนี้ทั้งหมด เพราะไม่ต้องการให้พวกเขาไปสร้างวิหารอันงดงามยิ่งแห่งนี้ให้กับผู้ใดอีก

ภายในของอนันทวิหาร มีทางเดินตัดเป็นสี่เหลี่ยม รายรอบทางเดินมากมายด้วยห้องหรือคูหา ห้องเหล่านี้มีไว้เพื่อเป็นที่สำหรับนั่งสมาธิ โดยมีพระพุทธรูปยืนแกะสลักด้วยไม้สักทั้งต้นสูงถึง 10 เมตร ประดิษฐานในซุ้มจัตุรมุขทั้งสี่ด้าน เป็นพระพุทธรูปต้นแบบสมัยพุกามดั้งเดิม

ในพุกามยังมีเจดีย์ที่สูงที่สุด นันคือเจดีย์ของวัดสัพพัญญู มียอดสูงถึง 61 เมตร สถาปัตยกรรมแบบพม่ายุคเก่า เป็นวัดประจำรัชกาลพระเจ้าอลองสินธ สร้างเลียนแบบวัดในประเทศอินเดีย สูงห้าชั้น ชั้นที่สี่เป็นที่ประดิษฐานพระไตรปิฏกฉบับต้นแบบ ชั้นที่ห้าเป็นองค์สถูป ทุกวันนี้เปิดให้ชมเฉพาะชั้นล่างเท่านั้น ส่วนของปรางค์ที่อยู่ชั้นบนสุดเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เครื่องยอดที่อยู่สูง 60 เมตรเคยพังลงมาเมื่อครั้งเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี ค.ศ.1975 ซึ่งปัจจุบันบูรณะเสร็จสมบูรณ์แล้ว

เมื่อนักท่องเที่ยวไปเยือนเมืองแห่งประวัติศาสตร์พุกาม มักได้รับคำแนะนำให้มาชมวัดธรรมยางยีเสมอ เนื่องจากเป็นวัดที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งของพุกาม ตามตำนานเล่าว่า เจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นโดยพระเจ้านราธุ เพื่อเป็นการไถ่บาปในฐานะที่พระองค์ทรงปิตุฆาต ในการก่อสร้างพระองค์ทรงคุมการก่อสร้างด้วยตนเอง ว่ากันว่าหากช่างเรียงหินคนใดเรียงหินไม่สนิท ทำให้เกิดรูลอดได้แม้เพียงเท่ารูเข็มก็จะถูกตัดแขนทิ้งทันที แต่ก่อนที่เจดีย์จะสร้างเสร็จ พระองค์ก็ถูกลอบปลงพระชนม์เสียก่อน

ถ้าพุกาม ตั้งอยู่ในเส้นทางการท่องเที่ยวสำคัญของเอเชียแทนที่จะเป็นที่ราบอันร้อนและแห้งแล้งในภาคกลางของพม่าเช่นนี้แล้ว พุกามก็คงจะเป็นที่รู้จักมักคุ้นในหมู่ชาวตะวันตกไม่ต่างจากกำแพงเมืองจีนหรือทัชมาฮาลในอินเดียไปนานแล้ว และด้วยความที่พุกามตั้งอยู่ในดินแดนอันแร้นแค้นของพม่าจึงทำให้การเดินทางมาเยือนเมืองประวัติศาสตร์แห่งนี้ในอดีตเป็นไปด้วยความยากลำบาก

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น