เที่ยว “อุทยานแจ้ซ้อน” ชมความงดงามแห่งไออุ่นน้ำพุร้อน

“อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ก็เป็นหนึ่งที่มีการรณรงค์ในปีแห่งการท่องเที่ยวอุทยานดังกล่าว ที่นี่ดูจะพิเศษกว่าที่อื่น ๆ เพราะมีกิจกรรมต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้นหมด แต่จะโดดเด่นในเรื่องแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ความเขียวขจีร่มคลึ้มของป่าไม้บวกกับไออุ่นของน้ำพุร้อน สามารถดึงดูดให้ผู้คนเดินทางเข้ามาสัมผัสธรรมชาติอันพิสุทธิ์เช่นนี้อยู่อย่างไม่ขาดสาย…”

มีคำกล่าวว่า “ธรรมชาติดำรงอยู่ได้หากปราศจากมนุษย์ ทว่ามนุษย์กลับดำรงอยู่ไม่ได้หากปราศจากธรรมชาติ” ฉันใดก็ฉันนั้น นี่จึงเป็นความเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจที่สุดของมนุษย์ตัวเล็ก ๆ แต่กลับสามารถทำลายธรรมชาติและป่าไม้ขนาดมหึมาได้อย่างหมดสิ้นไม่เหลือหลอ

ทุกวันนี้เมื่อมีผู้คนลุกขึ้นมากล่าวอ้างถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ ขุนเขาแล้วละก็ เป็นเรื่องที่น่าสะอิดสะเอียนยิ่งนัก เพราะไม่เคยมีมนุษย์คนใดที่จะสามารถปกป้องรักษาธรรมชาติเอาไว้อย่างที่ปากพูดได้ แต่ธรรมชาติเองต่างหากที่ดำรงตนเกื้อหนุนแก่กันและกันมายาวนานตลอดช่วงอายุขัย

ช่วงชีวิตของมนุษย์สั้นนัก แต่ธรรมชาติป่าเขานั้นยืนยาว !

เกริ่นนำเช่นนี้เหมือนกับรู้สึกเก็บกดอะไรบางอย่าง ความรู้สึกเช่นนี้มักเกิดขึ้นเสมอในยามที่ได้รู้ข่าวคราวของการบุกรุกทำลายธรรมชาติป่าไม้และสายน้ำ แต่กระนั้นกลับช่วยอะไรธรรมชาติไว้ไม่ได้

ปัจจุบันนี้หากลองสังเกตจะพบว่ามนุษย์นำเอาทรัพยกรธรรมชาติมาใช้หากินอย่าง
ฟุ่มเฟือยและไม่เห็นคุณค่า ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดก็คือ กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ หรือ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งจะเรียกว่าอย่างไรก็แล้วแต่ ก็ล้วนเกี่ยวพันกับธรรมชาติป่าเขาทั้งสิ้น เริ่มตั้งแต่การเข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่าในการสร้างแหล่งท่องเที่ยว ประการต่อมาเป็นการนำนักท่องเที่ยวเข้าไปสัมผัสถึงความสวยงามของธรรมชาติ ทั้งเดินป่า ขี่ช้าง ล่องแพ ซึ่งถ้าไม่มีการปลูกฝังจิตสำนึกให้กับนักท่องเที่ยวก่อนแล้ว ธรรมชาติ ป่าเขาก็อาจได้รับผลกระทบโดยตรงจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของคนแปลกหน้าผู้มาเยือนเหล่านั้น

กลับมาพูดถึงกระแสการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ หรือที่ภาษาฝรั่งเขาว่า Ecotourist ซึ่งได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมากมายทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ในประเทศไทยเองก็มีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะอยู่ตามอุทยานแห่งชาติต่าง ๆ และเมื่อกระทั่งหลายปีที่ผ่านมา กรมป่าไม้ได้กำหนดให้เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติ 2543 หรือ Visit Park Year 2000 หลายอุทยาน ฯ จึงได้มีการกำหนดโปรแกรมการท่องเที่ยวในเขตอุทยานฯของตนขึ้น เรียกได้ว่า นักท่องเที่ยวอาจจะตัดสินใจลำบาก สองจิตสามใจว่าจะเลือกไปเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติไหนดี ทั้งนี้ก็แล้วแต่ว่าใครจะอยู่ใกล้อุทยานฯ ไหน ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีโปรแกรมคล้าย ๆ กัน เช่นกิจกรรมการขี่จักรยานเสือภูเขา, กิจกรรมการดูนกชมธรรมชาติ, เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ซึ่งก็แตกต่างกันไปตามแต่ละที่

วันนี้โครงการดังกล่าวยังส่งผลต่อเนื่องให้ผู้คนพากันเดินทางมาเยือนอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนในแต่ละปีเป็นจำนวนหลายหมื่นคน

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนก็เป็นหนึ่งที่มีการรณรงค์ในปีแห่งการท่องเที่ยวอุทยานดังกล่าว ที่นี่ดูจะพิเศษกว่าที่อื่น ๆ เพราะมีกิจกรรมต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้นหมด แต่จะโดดเด่นในเรื่องแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ความเขียวขจีและร่มคลึ้มของป่าไม้บวกกับไออุ่นของน้ำพุร้อน สามารถดึงดูดให้ผู้คนเดินทางเข้ามาสัมผัสธรรมชาติอันพิสุทธิ์เช่นนี้อยู่อย่างไม่ขาดสาย ไม่เพียงแต่เฉพาะหน้าหนาวเท่านั้นที่คนจะพลุกพล่าน แต่ในช่วงหน้าร้อนและหน้าฝนก็มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวเป็นจำนวนมาก เพราะที่นี่นอกจากจะมีน้ำพุร้อนที่สวยงามแล้วยังมีน้ำตกแจ้ซ้อนขนาดใหญ่สูงถึง 7 ชั้นให้ผู้คนมาพักผ่อนคลายร้อนอีกด้วย

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน เป็นอุทยานแห่งชาติที่ประกาศจัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2531 มีพื้นที่ทั้งหมดกว่า 480,000 ไร่ ภายในอุทยานฯ มีการจัดแต่งพื้นที่ไว้เป็นอย่างดี มีการปลูกดอกไม้สีสันสวยงาม มีสนามหญ้าสีเขียวดูสดชื่นสบายตา นอกจากนั้นยังมีกระท่อมที่พักปลูกไว้กลมกลืนกับธรรมชาติ อุทยานแห่งแจ้ซ้อนจึงจัดได้ว่าเป็นอุทยานฯ ที่มีการตกแต่งพื้นที่ได้อย่างยอดเยี่ยมทีเดียว

ในอ้อมกอดแห่งขุนเขาที่มีแนวป่าล้อมรอบ ใจกลางสวนธรรมชาติเป็นแหล่งรวมของสิ่งที่น่าสนใจไว้หลายอย่างทีเดียว น้ำพุร้อนได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวพากันเดินไปตามเส้นทางที่กำหนดไว้ภายในบริเวณ 3 ไร่เศษ มีโขดหินน้อยใหญ่กระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณ อุณหภูมิของบ่อน้ำพุร้อนแจ้ซ้อน เฉลี่ยประมาณ 73 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ค่อนข้างสูงเกือบจะถึงจุดเดือด สามารถนำไข่มาลวกประมาณ 17 นาทีไข่แดงจะแข็งมีรสชาดมันอร่อยส่วนไข่ขาวจะเหลวข้ม ในบ่อน้ำพุร้อนมีไออุ่น ลอยกรุ่นจากบ่อน้ำที่มีกองหินแช่อยู่กลางน้ำหลาย ๆ ก้อน ประกอบกับผืนน้ำที่ดูเรียบสนิทและเป็นเงาส่องสะท้อนราวกับแผ่นกระจกขนาดใหญ่ บางจังหวะก็มีคลื่นน้ำพลิ้วไสวตามกระแสลมดูแล้วเพลินตาเพลินใจดีไม่น้อย

อันที่จริงแล้วเราจะเรียกบริเวณนี้ว่า “บ่อน้ำพุร้อน บ่อน้ำร้อน บ่อน้ำแร่” ก็ได้ทั้งนั้น เพราะเป็นชื่อที่ใช้เรียกกันโดยทั่วไปในแต่ละท้องถิ่น แต่ศัพท์ในทางวิชาการจะเรียกว่า “พุน้ำร้อน” ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในแนวบริเวณเปลือกโลกที่มีการเคลื่อนตัว เมื่อเปลือกโลกมีการเคลื่อนตัวจะเกิดรอยเลื่อนของชั้นหินขึ้น ทำให้ความร้อนที่อยู่ใต้พิภพถ่ายเทมาถึงบริเวณนี้ เมื่อน้ำใต้ดินซึ่งก็คือน้ำจากผิวโลกที่ไหลผ่านรอยแยกดังกล่าวแล้วซึมลึกลงไปใต้ผิวโลก น้ำใต้ดินก็จะมีความร้อนสูงจนกลายเป็นไอน้ำและดันให้น้ำร้อนที่อยู่ใต้ดินพุ่งกลับขึ้นมาสู่ผิวดิน กลายเป็นพุน้ำร้อนในที่สุด พุน้ำร้อนบางแห่งมีแก๊สและแร่ธาตุจากใต้ผิวโลกไหลปะปนขึ้นมาด้วย เช่นธาตุกัมมะถัน ,ธาตุฟลูออไลน์ เป็นต้น

ใกล้ ๆ กับพุน้ำร้อนแจ้ซ้อน ยังมีห้องอาบน้ำแร่ที่จัดเป็นสัดส่วนและดูกลมกลืนกับสภาพธรรมชาติ ซึ่งสร้างเป็นอาคารไม้มีลักษณะคล้ายเรือนทางล้านนา มีสะพานทอดเดินเชื่อมกับจุดต่าง ๆ นักท่องเที่ยวสามารถลงไปแช่อาบน้ำแร่ได้ในราคาคนละ 20 บาทหรือจะใช้บริการห้องแบบตักอาบก็ได้ในราคาคนละ 5 บาทเท่านั้น

นอกเหนือจากภาพอันงดงามของน้ำพุร้อนแจ้ซ้อนแล้ว ไม่ห่างกันนักจะมีทางลาดยางไปยังน้ำตกแจ้ซ้อน จากชั้นล่างจะมีสะพานทอดข้ามลำห้วยมองเห็นน้ำตกชั้นที่ 1 อยู่เบื้องหน้าอย่างชัดเจน หากท่านที่มีเรี่ยวแรงหน่อยสามารถเดินขึ้นไปตามบันไดที่ทางอุทยานสร้างไว้ขึ้นไปยังยอดน้ำตก

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนนับได้ว่าเป็นความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติที่ผสมผสานกันอย่างกลมกลืน ซ่อนตัวอยู่ในท่ามกลางขุนเขาแห่งอำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง ท่านสามารถเดินทางไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนนี้ได้ จากตัวเมืองลำปางไปตามทางหลวงหมายเลข 1035 สายลำปาง – แจ้ห่ม ระยะทางประมาณ 58 กม.จะมีทางแยกเข้าอุทยานฯอีก 17 กม.หรือใช้เส้นทางสายลำปาง – ห้างฉัตร (สายเก่า) เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 1157 ประมาณ 55 กม.จะมีทางแยกเลี้ยวซ้ายเข้าที่ทำการอุทยาน ฯ อีกประมาณ 11 กม หรือจะติดต่อสอบถามข้อมูลได้ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ต.แจ้ซ้อน อ.เมืองปาน จ.ลำปาง 52240 โทรศัพท์ 0 5422 9000 ทุกวันราชการ

แหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน

น้ำตกแจ้ซ้อน เป็นน้ำตกที่เกิดจากลำน้ำแม่มอญ มีน้ำไหลใสสะอาดตลอดปี เย็นเยียบยิ่ง มีแอ่งน้ำรองรับตลอดสายไหลตกลงมาเป็นชั้น ๆ มีความสูงทั้งหมด 6 ชั้น ซึ่งแต่ละชั้นจะมีความสวยงามต่างกัน ออกไปไม่ไกลจากที่ทำการอุทยานฯ เดินครู่เดียวจากที่จอดรถซึ่งสะดวกสบายไม่กี่อึดใจก็จะถึงลำธารและน้ำตก ไม่ถึงครึ่งกิโลเมตร บ่อเกิดของขุนน้ำที่รวมกันเป็นน้ำตกแจ้ซ้อน

น้ำตกแม่มอญ เป็นน้ำตกที่มีน้ำไหลอย่างรุนแรงจากชะง่อนผาสูงลงสู่หุบเหวเบื้องล่าง การตกลงของน้ำจะตกลงมาเป็นชั้น ๆ สวยงามแปลกตา อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯประมาณ 5 กม.ทางเข้าน้ำตกเป็นดินลูกรังเดิมเป็นเส้นทางขนส่งแร่ดีบุก

น้ำตกแม่ขุน อยู่ใกล้กับน้ำตกแม่มอญ มีลักษณะเป็นน้ำตกสายยาวสูงประมาณ 100 เมตรไหลลงมาบรรจบกับน้ำตกแม่มอญ

น้ำตกแม่เปียก เป็นน้ำตกสวยงามอีกแห่งหนึ่ง ต่อจากน้ำตกแจ้ซ้อนเข้าถึงได้โดยเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ซึ่งอยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ 3 กม. มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์มากมายด้วยต้นไม้ใหญ่น้อยนานาพันธุ์ มีน้ำตก 3 ชั้นสูงประมาณ 100 เมตร

บ่อน้ำพุร้อน เป็นแหล่งน้ำพุร้อนที่มีสภาพการเกิดทางธรณีวิทยา น้ำพุร้อนที่พวยพุ่งออกมาจากใต้พื้นดินพื้นหิน มีกลิ่นกำมะถันค่อนข้างอ่อน ไหลล้นจากบ่อน้ำพุร้อน แทรกซอนโขดหินตะปุ่มตะป่ำไปทั่วมีจำนวนถึง 9 บ่อในบริเวณพื้นที่ 3 ไร่ ภายในบริเวณมีโขดหินน้อยใหญ่การจัดกระจายตามธรรมชาติอยู่ทั่วไป อุณหภูมิของน้ำพุร้อนประมาณ 73 องศาเซลเซียส นักท่องเที่ยวนิยมนำไข่ไก่และไข่นกกระทามาแช่ สำหรับไข่ไก่แช่นานประมาณ 17 นาที ไข่แดงจะแข็งมีรสชาติมันอร่อย ส่วนไข่ขาวจะเหลวคล้ายไข่เต่าแต่สุกและกินได้ทันที

ห้องน้ำอุ่น เป็นแอ่งน้ำที่เกิดจากการไหลมาบรรจบกันของน้ำพุร้อนและน้ำเย็นที่มาจากน้ำตกแจ้ซ้อน ทำให้เกิดเป็นน้ำอุ่นที่มีอุณหภูมิเหมาะแก่การแช่อาบ

ห้องอาบน้ำแร่ มีทั้งห้องแบบแช่ ซึ่งมีอ่างสำหรับลงแช่อาบ จำนวน 11 ห้องและห้องอาบน้ำแบบตักอาบ โดยแยกกันระหว่างชาย – หญิง จำนวน 16 ห้อง เหมาะสำหรับการอาบน้ำเพราะมีอุณหภูมิประมาณ 39 – 42 องศาเซลเซียส เป็นการบำบัดความเมื่อยล้าของร่างกาย ทำให้โลหิตไหลเวียนได้ดีขึ้น น้ำแร่ที่ใช้อาบได้ต่อท่อโดยตรงมาจากบ่อน้ำพุร้อน

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น