แผนฯ 12 ชูเหนือบน ศูนย์กลาง…“เกษตอินทรีย์”

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ซึ่งเปรียบเสมือนแผนแม่บทในการพัฒนาประเทศนั้น ในการวางยุทธศาสตร์ต่างๆได้มีการกำหนดทิศทาง แผนพัฒนาให้ครอบคลุมในหลากหลายด้าน พร้อมสนับสนุนให้เกิดร่วมมือ ลงมือ ทำอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นในเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จในช่วง 5 ปีตามแผน

ในส่วนภาคการเกษตรและบริบทของแผนพัฒนา สำหรับภูมิภาค และจังหวัด ในแผน ฉบับที่ 12 นี้มีประเด็นการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเกษตร ซึ่งระบุในแผน ว่าจะเร่งเสริมสร้างฐานการผลิตภาคเกษตรให้เข้มแข็งและยั่งยืน พัฒนาและจัดระบบการปลูกพืชให้สอดคล้องปริมาณน้ำที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาสังคมในแหล่งเก็บน้ำ แหล่งน้ำในไร่นา อ่างน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางให้กระจายตัวตามศักยภาพของพื้นที่

รวมทั้งให้มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำ การจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำในภาคเกษตรระดับลุ่มน้ำ คุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมที่มีศักขยภาพและขยายโอกาสในการเข้าถึงพื้นที่ทำกินของเกษตรกรให้มากขึ้น โดยผลักดันการจัดทำพระราชบัญญัติคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมการบริหารจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรอย่างเป็นระบบ

การรักษาพื้นที่เหมาะสมกับเกษตรกรรมไว้ให้เป็นฐานการผลิตการเกษตรที่มั่นคง สนับสนุนให้ทำการเกษตรที่สอด คล้องกับศักยภาพพื้นที่ ปริมาณน้ำ และความต้องการของตลาด

รวมทั้งเร่งฟื้นฟูและปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ ฟื้นฟูที่นาร้าง และการเข้าถึงปัจจัยการผลิตคุณภาพดีอาทิ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ปุ๋ย สนับสนุนการใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรชีวภาพ

ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารเข้าสู่ระบบมาตรฐานและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดและการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ โดยพัฒนาระบบมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล อาทิ สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ ยา พลังงานทดแทน วัสดุชีวภาพ ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารให้ได้คุณภาพมาตรฐาน ตามกระบวนการผลิตตามมาตรฐานอาทิ หลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี สินค้าเกษตรอินทรีย์ สินค้าฮาลาล และสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เสริมสร้างขีดความสามารถการผลิตในห่วงโซ่อุตสาหกรรมเกษตร การทำเกษตรแบบประณีตที่ต้องใช้องค์ความรู้ ควบคู่กับการวางแผนและการจัดการอย่างเป็นระบบ วิจัยพัฒนาและใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรสมัยใหม่ในกระบวนการผลิต จัดตั้งกองทุนประกันภัยพืชผลทางการเกษตร รวมทั้งสร้างระบบเตือนภัยทางการเกษตรล่วงหน้า เป็นต้น

ในแผนนี้มีความน่าสนใจอีกด้านนั่นคือจะพัฒนาให้ภาคเหนือตอนบนเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ และภาคเหนือตอนล่างเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยในรูปแบบฟาร์มเกษตรอัจฉริยะ โดยส่งเสริมการลดใช้สารเคมีในภาคเกษตรเพื่อปรับระบบการผลิตจากเกษตรเคมีไปสู่การผลิตตามแนวทางเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์

สนับสนุนการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้ในกระบวนการผลิตรวมถึงสนับสนุนการรวมกลุ่มเกษตรกรในการวางแผนการผลิตและการสร้างเครือข่ายการตลาดให้มีประสิทธิภาพ

ยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรในพื้นที่แหล่งผลิตที่สำคัญ โดยสนับสนุนให้เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน เป็นพื้นที่หลักในการแปรรูปพืชผัก ผลไม้และสมุนไพร แนวทางในแผน ที่กำหนดไว้จะเป็นจริงแค่ไหนนั้น ภายใน 5 ปี รู้ผลดำเนินงาน

ศิริ อันทริทร์…เรียบเรียง

ร่วมแสดงความคิดเห็น