สสจ.ชม.ร่วมกับจังหวัด ลงนามความร่วมมือมอบรถกู้ชีพ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ห่างไกล

ช่วงสายวันที่ 13 ม.ค.60 ที่ห้องประชุม 4 ชั้น 4 อาคารอำนวยการศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ พร้อมด้วย ร.อ.ภูรีวรรธน์ โชคเกิด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดฯ และ นายอัครพล นพรัตน์พงษ์ไพร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสบโขง อำเภออมก๋อย ได้ร่วมกันทำพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) และมอบรถกู้ชีพโครงการพัฒนาหน่วยกู้ชีพจังหวัดเชียงใหม่ งบพัฒนาจังหวัด ปี 2560

โดยทาง ร.อ.ภูรีวรรธน์ โชคเกิด กล่าวว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินเมื่อ ปี พ.ศ.2547 โดยจัดตั้งสำนักงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดฯ และศูนย์แจ้งเหตุและสั่งการ ณ โรงพยาบาลนครพิงค์ ต่อมาได้มีการบริหารจัดการระบบ โดยคณะอนุกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดฯ ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานอนุกรรมการ และมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดฯเป็นอนุกรรมการ และเลขานุการ การดำเนินงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีนโยบายที่จะให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ตลอดจนเตรียมความพร้อมในการรับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น

ปัจจุบันได้มีการขยายบริการการแพทย์ฉุกเฉิน สู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 155 แห่ง และดำเนินการในรูปของมูลนิธิและสมาคมอีก 11 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 78.30 ทั้งนี้ยังมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ห่างไกล ที่ขาดแคลนงบประมาณในการดำเนินการจัดตั้ง หน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาหน่วยกู้ชีพ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากงบพัฒนาจังหวัด ปี 2560 จำนวน 1,500,000 บาท โดยจัดซื้อรถพยาบาลฉุกเฉิน (ขับเคลื่อนสี่ล้อ) พร้อมอุปกรณ์กู้ชีพพื้นฐาน จำนวน 1 คัน เพื่อสนับสนุนให้มีการจัดตั้งเครือข่ายหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ระดับตำบลอย่างเต็มรูปแบบในพื้นที่ห่างไกล

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้จัดให้มีพิธีลงนามความร่วมมือเรื่อง การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในระดับท้องถิ่น โครงการพัฒนาหน่วยกู้ชีพ งบพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2560 ขึ้นระหว่างจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ องค์การบริหารส่วนตำบลสบโขงอำเภออมก๋อย โดยจังหวัดเชียงใหม่ มีภาระหน้าที่ ส่งเสริมและสนับสนุน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถดำเนินงานและบริหารจัดการแพทย์ฉุกเฉินในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และครอบคลุมพื้นที่ในการให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง

และขณะเดียวกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ มีภาระหน้าที่มอบหมายให้หน่วยงาน และหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่ ร่วมดำเนินงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินในระดับท้องถิ่นให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และครอบคลุมพื้นที่ในการให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง รวมถึงสนับสนุนด้านวิชาการ ในการจัดบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสนับสนุนงบประมาณ เพื่อเป็นค่าชดเชยปฏิบัติการฉุกเฉิน ในการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน

ส่วนทางองค์การบริหารส่วนตําบลสบโขงฯ มีภาระหน้าที่ การใช้รถพยาบาลฉุกเฉินนี้ ให้ใช้ในวัตถุประสงค์การปฏิบัติงานการแพทย์ฉุกเฉิน และการส่งต่อผู้ป่วย จัดหาสถานที่ เพื่อจัดตั้งสำนักงานการแพทย์ฉุกเฉินระดับตำบล รวมทั้งมีโครงสร้างการบริหารจัดการระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เป็นลายลักษณ์อักษร และจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการ การแพทย์ฉุกเฉินระดับพื้นฐาน ที่เป็นชุดปฏิบัติการมาตรฐาน มีบุคลากรที่ผ่านการอบรม จำนวน 8 – 10 คน รวมทั้งจัดหาพนักงานขับรถยนต์ ในการออกปฏิบัติงานการแพทย์ฉุกเฉิน และส่งต่อผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานการแพทย์ฉุกเฉิน ได้แก่ ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่อยู่เวรตลอด 24 ชั่วโมง , การประชาสัมพันธ์ 1669 ในพื้นที่รับผิดชอบ และ อื่นๆ เช่น ชุดเครื่องแต่งกาย/ระบบวิทยุสื่อสาร/อื่นๆที่เกี่ยวข้อง , ดูแลรักษาและซ่อมบำรุงรถพยาบาลฉุกเฉินให้พร้อมใช้ ในการปฏิบัติหน้าที่อยู่เสมอ และยังมีการตรวจสอบมาตรฐานและพัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติงานของบุคลากร/หน่วยปฏิบัติการและรถพยาบาลฉุกเฉินของหน่วยปฏิบัติการ ให้เป็นไปตามมาตรฐานอยู่เสมอ

พร้อมทั้งรายงานข้อมูลการดำเนินการการแพทย์ฉุกเฉิน ให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ตามที่ร้องขอ รวมถึงสนับสนุน ส่งเสริม การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ตามขอบเขตรับผิดชอบ ซึ่งทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ ซึ่งเป็นผู้ได้รับการอนุมัติโครงการ เป็นผู้โอนกรรมสิทธิ์ให้องค์การบริหารส่วนตําบลสบโขงฯ เป็นผู้ครอบครอง และเป็นผู้ดูแลรักษา ซ่อมบำรุง พร้อมใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น