“ร่มบ้านบ่อสร้าง” จากอาชีพท้องถิ่นสู่แหล่งท่องเที่ยวเชียงใหม่

“แม้ว่าทิศทางการทำร่มของบ้านบ่อสร้างจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่ในความรู้สึกนึกคิดของคนทำร่มทุกคนของบ้านบ่อสร้างแล้ว พวกเขายังหวังที่จะเห็นอนาคตของร่มที่ทำจากบ้านบ่อสร้างแห่งนี้เจริญรุ่งเรืองอยู่เป็นสัญลักษณ์และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอสันกำแพงต่อไป”

การทำร่มบ่อสร้างเป็นอาชีพหัตถกรรมของชาวบ้านในอำเภอสันกำแพง ซึ่งได้กลายเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อของเชียงใหม่และเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศไปแล้ว ในอดีตบ้านบ่อสร้างได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านที่มีการทำร่มกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ชาวบ้านเกือบทุกคนของหมู่บ้านนี้มีฝีมือในการทำร่มได้อย่างสวยงามและคงทน เฉกเช่นที่บรรพชนได้ถ่ายทอดเอาไว้

เมื่อประมาณน้อยกว่าปีก่อน มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ “พระอินถา” อาศัยอยู่ในสำนักวัดบ่อสร้าง ท่านได้เดินธุดงค์ไปยังสถานที่ต่าง ๆ จนครั้งหนึ่งท่านได้ธุดงค์ไปในประเทศพม่าได้มีชาวบ้านนำกลดมาถวาย เพราะเห็นว่าท่านไม่มีกลด หลังจากที่ให้ศีลให้พรกับผู้นำมาถวายแล้ว ท่านก็ได้เอ่ยถามชาวพม่าผู้นั้นว่า กลดนี้เจ้าเป็นคนทำหรือ เจ้าช่วยพาอาตมาไปดูซิว่ามีแหล่งทำอยู่ที่ใด หลังจากที่พระอินถาได้เดินทางไปที่หมู่บ้านทำกลดในพม่า ท่านได้เห็นชาวบ้านทำร่มใช้กางกันแดดกันฝนได้ ซ้ำยังเห็นว่าชาวบ้านทำร่มขนาดใหญ่ที่ใช้สำหรับเป็นร่มในพิธีงานทางศาสนาต่าง ๆ ด้วย แต่ร่มเหล่านี้ทำด้วยกระดาษสา ติดด้วยยางและทาน้ำมันเพื่อกันแดดและฝน ท่านจึงได้ศึกษาถามเอาจากชาวบ้านถึงวิธีและขั้นตอนการทำร่ม

พอเดินทางกลับมาถึงวัดก็เลยชักชวนชาวบ้านช่วยกันหาอุปกรณ์และสอนวิธีการทำให้กับชาวบ้าน ในระยะแรกมีการทำขึ้นเพื่อใช้ก่อน ต่อมาจึงให้ชาวบ้านนำไปขายได้เงินเป็นจำนวนมาก กระทั่งในระยะหลังเริ่มมีชาวบ้านจากหมู่บ้านต่าง ๆ ในอำเภอสันกำแพงหันมาทำร่มกันมากขึ้น มีการดัดแปลงจากร่มกระดาษสามาเป็นร่มที่ทำจากผ้า ส่งขายกันในเมือง บางก็มีการเปิดร้านจำหน่ายเอง จนชื่อเสียงของร่มบ้านบ่อสร้างเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น

แม้ว่าการทำร่มของบ้านบ่อสร้างจะมีวัฒนาการที่เจริญมากขึ้น จะอดีตที่ชาวบ้านเคยใช้วัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น เรียนรู้การทำร่มอย่างง่าย ๆ ส่วนหนึ่งเพื่อไว้ใช้งานและอีกส่วนหนึ่งทำเพื่อขาย เป็นที่รู้กันว่าร่มที่ทำขึ้นจากบ้านบ่อสร้างมีเอกลักษณ์เฉพาะแบบที่ไม่เหมือนใคร ด้วยรูปลักษณ์ที่สวยงามและการใช้วัสดุที่คงทนจึงทำให้ชื่อเสียงของร่มบ้านบ่อสร้างแห่งนี้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้คนและนักท่องเที่ยว

การทำร่มของบ้านบ่อสร้างในอดีตจะทำขึ้นเพื่อใช้งานให้ชีวิตประจำวัน จนมีผู้เห็นความสำคัญของการทำร่มได้นำมีพัฒนาวิธีการทำให้ทันสมัยขึ้น จนปัจจุบันการทำร่มบ้านบ่อสร้างได้พัฒนาจากงานฝีมือของท้องถิ่นมาสู่ระบบอุตสาหกรรมค้าขายอย่างเต็มตัว เวลาที่เราเข้ามาเที่ยวชมการทำร่มของบ้านบ่อสร้างจะสังเกตุได้ว่า แทบทุกบ้านของที่นี่มีการทำร่มและนำออกจำหน่าย จนชื่อเสียงของบ้านบ่อสร้างเป็นที่รู้จักมักคุ้นของนักท่องเที่ยว

ในแต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเดินทางมาเที่ยวชมการสาธิตทำร่มของศูนย์อุตสาหกรรมทำร่มแห่งนี้เป็นจำนวนมาก นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสถึงวิถีการทำร่มและพัดอย่างใกล้ชิดแล้ว ยังสามารถที่จะทดลองทำร่มได้ด้วยตัวเอง

ที่ศูนย์อุตสาหกรรมการทำร่มบ้านบ่อสร้างมีการสาธิตการทำร่มให้กับนักท่องเที่ยวชมทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การทุบต้นสาเพื่อนำมาทำเป็นกระดาษสา นักท่องเที่ยวสามารถที่จะทดลองทำกระดาษสาได้ ในส่วนของการทำร่มจะมีโรงกลึงหัวร่ม โรงประกอบโครงร่มและโรงหุ้มร่มอยู่ในบริเวณใกล้ ๆ กัน เมื่อเสร็จขั้นตอนต่าง ๆ ของการทำร่มแล้ว ก็จะนำร่มเหล่านั้นไปวาดรูปที่โรงวาด ในโรงวาดรูปนี้จะมีบรรดาศิลปินผู้วาดรูปนั่งประจำตามโต๊ะสาธิตวิธีการวาดรูปลงบนร่มและพัดโดยไม่มีการร่างลวดลาย ซึ่งถือได้ว่าเป็นความสามารถและประสบการณ์ที่ได้ทำมายาวนาน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจะสนใจวิธีการวาดรูปอยู่เอาการทีเดียว นักท่องเที่ยวบางคนถึงกับยอมลงทุนให้วาดรูปลงบนเสื้อที่ตนสวมใส่เลยก็มี โดยที่โรงวาดรูปจะมีแบบต่าง ๆ ให้นักท่องเที่ยวสามารถเลือกได้

ชาวบ้านที่มาทำร่มอยู่ที่ศูนย์อุตสาหกรรมทำร่มบ้านบ่อสร้างหลายคนอาศัยความชำนาญที่ได้ทำมานาน บางคนอยู่มาตั้งแต่เป็นเด็กหญิง จนปัจจุบันโตเป็นสาวเต็มตัวเลยก็มี เช่นเดียวกับลุงศรีมูล สาอ้าย ผู้ซึ่งคลุกคลีอยู่กับการทำร่มมายาวนานถึง 30 ปี ลุงศรีมูลบอกว่า ตนเองเป็นชาวบ้านบ่อสร้างโดยกำเนิด ยึดอาชีพการทำร่มต่อจากบิดาที่เป็นสล่าทำร่ม ก่อนที่จะมาทำร่มอยู่ที่ศูนย์อุตสาหกรรมการทำร่มแห่งนี้ ได้เคยไปรับจ้างทำร่มอยู่ตามที่ต่าง ๆ ก่อนที่จะมาอยู่ที่ศูนย์ฯแห่งนี้ คุณลุงยังบอกอีกว่า การทำร่มเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนต้องอาศัยเวลาและความอดทนในการทำเป็นอย่างมาก ปัจจุบันเป็นเรื่องที่น่าห่วงสำหรับอนาคตของการทำร่ม เพราะมีคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่ไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการทำร่มดั่งเช่นบรรพชนในอดีตได้ถ่ายทอดไว้ให้

ร่มของบ้านบ่อสร้างได้รับความนิยมและมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเดินทางมาเที่ยวที่บ้านบ่อสร้างมากยิ่งขึ้น ทางราชการจึงมีดำริจัดงานเทศกาลร่มบ่อสร้างและหัตถกรรมสันกำแพงขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2526

แม้ว่าทิศทางการทำร่มของบ้านบ่อสร้างจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่ในความรู้สึกนึกคิดของคนทำร่มทุกคนของบ้านบ่อสร้างแล้ว พวกเขายังหวังที่จะเห็นอนาคตของร่มที่ทำจากบ้านบ่อสร้างแห่งนี้เจริญรุ่งเรืองอยู่เป็นสัญลักษณ์และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอสันกำแพงต่อไป.

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น