สกู๊ปพิเศษ…วัดนันตาราม วัดพม่าที่เชียงคำ

วัดนันตาราม ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างมาแต่สมัยใด เดิมวัดนี้เรียกว่า วัดจองคา เพราะหลังคาของวิหารมุงด้วยหญ้าคาพุทธศาสนิกชนชาวไทใหญ่ที่เข้ามาค้าขายอยู่ในอำเภอเชียงคำเมื่อราวร้อยกว่าปีเป็นผู้สร้าง โดยพ่อหม่องโพธิ์ชื่นเป็นผู้บริจาคที่ดินเนื้อที่ 3 ไร่เศษ ส่วนพ่อเฒ่าอุบลเป็นประธานในการก่อสร้างจนสำเร็จเรียบร้อยมีฐานะเป็นพระอารามหรือสำนักสงฆ์สำหรับปฏิบัติศาสนกิจสืบมา ชาวบ้านทั่วไปมักนิยมเรียกวัดนี้ว่า วัดจองเหนือ

ใครที่เคยเดินทางไปอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยาอาจจะเคยแวะเข้าไปเที่ยวชมความสวยงามของศิลปกรรมไทใหญ่วัดนันตารามแห่งนี้แล้ว แต่สำหรับใครที่ยังไม่เคยเดินทางไปอำเภอเชียงคำเลยก็จะขอโอกาสเขียนถึงวัดไทใหญ่ในอำเภอเชียงคำที่สวยงามวัดนี้สักครั้งหนึ่ง

วัดนันตารามตั้งอยู่ที่ตลาดเชียงคำ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างมาแต่สมัยใด เดิมวัดนี้เรียกว่า วัดจองคา (จอง เป็นคำไทใหญ่หมายถึงวัด) เพราะหลังคาของวิหารมุงด้วยหญ้าคาพุทธศาสนิกชนชาวไทใหญ่ที่เข้ามาค้าขายอยู่ในอำเภอเชียงคำเมื่อราวร้อยกว่าปีเป็นผู้สร้าง โดยพ่อหม่องโพธิ์ชื่นเป็นผู้บริจาคที่ดินเนื้อที่ 3 ไร่เศษ ส่วนพ่อเฒ่าอุบลเป็นประธานในการก่อสร้างจนสำเร็จเรียบร้อยมีฐานะเป็นพระอารามหรือสำนักสงฆ์สำหรับปฏิบัติศาสนกิจสืบมา ชาวบ้านทั่วไปมักนิยมเรียกวัดนี้ว่า วัดจองเหนือ ซึ่งอยู่ทางด้านทิศเหนือของอำเภอเชียงคำ

ปี พ.ศ.2467 แม่นางจ๋ามเฮิงได้บริจาคที่ดินเพิ่มอีก 5 ไร่ สำหรับขยายอาณาเขตของวัดจองคาซึ่งรวมทั้งหมดแล้วมีเนื้อที่กว่า 8 ไร่ ต่อมาพ่อเฒ่านันตา (อู๋) วงศ์อนันต์ คหบดีผู้มีศรัทธาแรงกล้าที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาจึงได้บริจาคเงินเพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะของวัดจองคา โดยพ่อเฒ่านันตา (อู๋) ได้เป็นเจ้าภาพสร้างวิหารขึ้น 1 หลังแทนวิหารที่มุงด้วยหญ้าคา แล้วจึงว่าจ้างนายช่างชาวพม่ามาออกแบบและทำการก่อสร้างวิหาร

รูปแบบของพระวิหารเป็นวิหารไม้สักทั้งหลัง ศิลปกรรมแบบไทใหญ่ หลังคามุงจั่วยกเป็นช่อชั้นลดหลั่นกันลงมาอย่างสวยงาม มุงหลังคาด้วยแป้นเกร็ด (กระเบื้องไม้) เพดานภายในตกแต่งประดับประดาด้วยกระจกสีลวดลายวิจิตรพิศดาร มีเสาไม้ลงรักปิดทองทั้งสิ้น 68 ต้น สิ้นค่าก่อสร้างในสมัยนั้นประมาณ 45,000 บาทเศษ

เมื่อการก่อสร้างพระวิหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว พ่อเฒ่านันตา (อู๋) ทราบว่าที่วัดจองเหม่ล่า (สถานีอนามัยบ้านดอนแก้ว ต.ออย อ.ปง จ.พะเยา ในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นวัดร้างมีพระประธานไม้สักทองต้นใหญ่ทั้งองค์ เป็นศิลปะแบบไทใหญ่สวยงามมาก ขนาดหน้าตักกว้าง 51 นิ้ว สูงจากฐานถึงยอดพระเกศา 9 ศอก จึงได้ระดมคนทั้งว่าจ้างและไหว้วานประมาณ 80 คนเดินทางไปอัญเชิญพระประธานดังกล่าวมาประดิษฐานเป็นพระประธานในวัดจองคา สมัยนั้นการคมนาคมยังไม่สะดวกขบวนอัญเชิญพระประธานจึงต้องเดินเท้า โดยผลัดเปลี่ยนกันหามาตามทางเท้าประมาณ 60 กิโลเมตรใช้เวลาเดินทาง 1 สัปดาห์

ในการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์วัดจองคาครั้งใหญ่ใช้เวลาร่วม 10 ปี จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2477 พ่อเฒ่านันตา (อู๋) วงศ์อนันต์ จึงได้เป็นประธานจัดงานฉลองครั้งใหญ่รวม 15 วัน 15 คืน นอกจากจะจัดงานมหรสพสมโภชแล้วยังมีการแจกวัตถุทานและตั้งโรงทาน แจกจ่ายยาจกวณิพกและคนยากจนทั่วไปตลอดทุกวัน มีประชาชนเดินทางมาร่วมงานและรับของแจกเป็นจำนวนมาก นับเป็นงานมหากุศลครั้งยิ่งใหญ่และเป็นครั้งแรกของวัดจองคา

ชื่อเสียงของพ่อเฒ่านันตา (อู๋) วงศ์อนันต์ เป็นที่รู้จักทั้วไปของคนในอำเภอเชียงคำ ด้วยท่านเป็นคหบดีที่มีจิตใจเลื่อมใสในพุทธศาสนาและมีจิตศรัทธาเป็นมหากุศล รักษาอุโบสถศีล นอนวัดอยู่มิขาด ทั้งยังเป็นทายกผู้สร้างวัดถวายเป็นสมบัติของพระพุทธศาสนา จนได้รับการขนานนามว่า “พ่อจองตะก่านันตา” (พ่อตะก่า เป็นคำยกย่องทายกผู้สร้างวิหารหรือปฏิสังขรณ์วัดถวายเป็นสมบัติของพระพุทธศาสนา)

เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณงามความดีของท่านทายกผู้สร้างวัดจองคาจึงได้เปลี่ยนชื่อจากวัดจองคามาเป็น “วัดนันตาราม” เพื่อเป็นเกียรติแก่ท่านและวงศ์ตระกูลต่อไป

โบราณวัตถุและโบราณสถานที่สำคัญ
1.พระประธานไม้สักศิลปแบบไทใหญ่ สร้าง พ.ศ.2468
2.พระประธานไม้แกะสลักแบบไทใหญ่อัญเชิญมาประดิษฐาน พ.ศ.2476
3.พระวิหารไม้สักทั้งหลัง ศิลปะไทใหญ่ สร้าง พ.ศ.2467
4.พระเจดีย์สร้าง พ.ศ.2500
5.พระอุโบสถ สร้าง พ.ศ.2515
6.พระเจ้าแสนแช่ (พระพุทธรูปสมัยเชียงแสน)
7.พระพุทธรูปเกษรดอกไม้ (นำมาจากเมืองตองกี ประเทศพม่า) ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างสมัยใด
นอกจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอเชียงคำแล้ว วัดนันตารามยังเป็นสถานที่สำคัญทางศาสนาหลายประการ เช่น
– เป็นสำนักศาสนศึกษาปริยัติธรรมแผนกนักธรรมและแผนกบาลี ประจำจังหวัดพะเยา
-เป็นหน่วยอบรมประชาชนตำบลหย่วน
-เป็นสถานที่แสดงตนเป็นพุทธมามกะของนักเรียนทั่วไป
-เป็นสถานที่อบรมพระนวกะภาคพรรษากาลของคณะสงฆ์ อ.เชียงคำ
-เป็นสถานที่อบรมโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น