ชี้แจงข้อร้องเรียนฯ ชาวหางดงเดือดร้อน เรื่อง การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เรียน ผู้จัดการบริษัทเชียงใหม่รายวัน จำกัด

กรณีหนังสือพิมพ์เชียงใหม่นิวส์ ประจำวันที่ 5 กันยายน 2559 ได้มีการลงข่าว สรุปความว่า เวลา 10.00 น. วันที่ 4 กันยายน 2559 ผู้สื่อข่าว ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านหมู่ 4 ตำบลนํ้าแพร่ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่

กรณี มีการสร้างโรงงานผสมแอสฟัลส์คอนกรีต ซึ่งมีส่วนผสมของยางมะตอย ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง โดยประชาชนทั่วไปได้รับความเดือดร้อน ในเรื่องกลิ่นที่มาจากยางมะตอย ปัญหาเรื่องฝุ่น รถบรรทุกวิ่งด้วยความเร็ว จึงขอให้บรรเทาความเดือดร้อนและตรวจสอบการอนุญาตก่อสร้างโรงงานฯ ดังกล่าว ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่จึงได้มีบัญชาให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในกรณีดังกล่าว นั้น

จังหวัดเชียงใหม่ ขอเรียนว่า อำเภอหางดงได้รับรายงานจาก เทศบาลตำบลนํ้าแพร่พัฒนาว่า ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการตรวจสอบแล้วในวันที่ 7 ตุลาคม 2559 เบื้องต้นได้ข้อเท็จจริงสรุปได้ ดังนี้

1.สถานที่ที่ถูกร้องเรียนตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 4 บ้านนํ้าแพร่ ตำบลนํ้าแพร่ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ โดยเป็นของบริษัท สยามพันธุ์วัฒนา จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ โดยสถานที่ดังกล่าวไม่ใช่โรงงานผลิต แต่เป็นหน่วยงานผลิตแอสฟัลส์ติคคอนกรีตสำหรับหน่วยงานก่อเสร้าง โดยทางบริษัท สยามพันธุ์วัฒนา จำกัด ได้รับหนังสือรับรองจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่แล้ว เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2559 ว่าเป็นหน่วยงานผลิตแอสฟัลส์ติคคอนกรีตสำหรับหน่วยงานก่อสร้าง ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2559

2.ในวันที่ทำการตรวจสอบ ทางผู้แทนบริษัทฯ แจ้งว่า นํ้ามันสำหรับเผาหินหมด จึงไม่สามารถทำการเผาหินและผสมยางแอสฟัลส์กับหินให้ผู้ที่มาตรวจสอบเพื่อทำการทดสอบกลิ่นและฝุ่นได้

3.จากการตรวจสอบพบว่าระบบในการผสมยางแอสฟัลส์ติคกับหินเพื่อให้ได้เป็นแอสฟัลส์ติคคอนกรีตสำหรับใช้ในการก่อสร้างของบริษัท สยามพันธุ์วัฒนา จำกัด ทุกขั้นตอนจะเป็นระบบปิด โดยจะมีท่อดูดเอาฝุ่นลงไปเก็บไว้ในถุงเก็บฝุ่นซึ่งอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งตัวแทนผู้ประกอบการแจ้งว่าด้วยระบบดังกล่าวจะทำให้ไม่มีการฟุ้งกระจายของฝุ่นและนํ้ายาง และไม่มีกลิ่นเหม็นไปในระยะไกล โดยในวันที่ตรวจสอบไม่พบว่ามีฝุ่นละอองและกลิ่นเหม็นแต่อย่างใด

4.จากการตรวจสอบโดยวัดความสูงของส่วนที่ใช้ผสมยางแอสฟัลส์กับหินเพื่อให้ได้เป็นแอสฟัลส์ติคคอนกรีตสำหรับใช้ในงานก่อสร้างพบว่ามีความสูงไม่เกิน 10 เมตร จึงไม่เข้าลักษณะที่ต้องมาขออนุญาตก่อสร้างตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522

5.จากการตรวจสอบพบว่าระหว่างทางตั้งแต่ทางเข้าจากถนนเลียบคลองชลประทานจนถึงสถานที่สำหรับหน่วยงานผลิตฯ ดังกล่าว เป็นทางซึ่งไม่ได้ลาดยางแอสฟัลส์ติคหรือเทคอนกรีต ทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของฝุ่นเวลาที่มีรถวิ่ง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการรับว่าจะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อป้องกันปัญหาแอสฟัลส์ติคคอนกรีตสำหรับใช้ในงานก่อสร้างไม่ได้มีการขับเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนดแต่อย่างใดและพบว่ามีการคลุมผ้าไว้อย่างมิดชิด

6.บริเวณโดยรอบหน่วยงานผลิตแอสฟัลส์ติคคอนกรีตสำหรับหน่วยงานก่อสร้างดังกล่าวล้อมรอบด้วยรั้วสูงที่ทำจากเมทัลชีท ซึ่งช่วยป้องกันและบรรเทาไม่ให้ฝุ่น และกลิ่นเหม็นลอยไปสร้างผลกระทบต่อบุคคลที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงพบว่า สถานที่ตั้งของหน่วยงานผลิตฯ ดังกล่าว ไม่ได้อยู่ติดกับบ้าน หรือสถานประกอบการใดๆ โดยบ้านหรือสถานประกอบการที่อยู่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างออกไปอีกประมาณ 200-300 เมตร

ทั้งนี้ อำเภอหางดงจึงให้เทศบาลตำบลนํ้าแพร่พัฒนา ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่และจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยละเอียดอีกครั้ง และจะรายงานผลการตรวจสอบให้ทราบต่อไป รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย

จึงเรียนมาเพื่อทราบ
ขอแสดงความนับถือ
นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์
รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทน
ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น