เพิ่มพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ ช่วยเกษตกรลดต้นทุนการผลิต

“ฉัตรชัย” ลั่น!! พร้อมเดินหน้าเพิ่มพื้นที่เป้าหมายเกษตรแปลงใหญ่ ปี 60 กว่า 3 ล้านไร่ ชูผลงานของปี 59 สามารถช่วยเกษตรกรลดต้นทุนได้ประมาณ 1,500 ล้านบาท เพิ่มผลผลิตได้ประมาณ 2,700 ล้านบาท รวมมูลค่ากว่า 4,200 ล้านบาท ชี้การบริหารจัดการแบบแปลงใหญ่ จะสามารถทำให้เกษตรกรประหยัดต้นทุนการผลิตได้มากขึ้นอย่างแน่นอน

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยวา การเกษตรแบบแปลงใหญ่ เป็นการดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การตลาด และการบริหารจัดการ โดยในปี 2559 ได้กำหนดนโยบายลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต สนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันผลิต จำหน่าย และบริหารจัดการร่วมกัน พัฒนาคุณภาพผลผลิตให้มีมาตรฐานตามความต้องการของตลาด อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำเกษตรแบบเดิม ต่างคนต่างทำ ก็จะไม่ทำให้เกิดการแข่งขันขึ้นได้ เพราะปัจจุบันการทำเกษตรต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาข่วย เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรมีความแปรผัน ซึ่งผลการดำเนินการในปี 2559 มีแปลงใหญ่ทั้งสิ้น 600 แปลง พื้นที่ 1.538 ล้านไร่ เกษตรกร 96,554 ราย 9 กลุ่มสินค้า ได้แก่ ข้าว พืชไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก/สมุนไพร กล้วยไม้ ประมง ปศุสัตว์ และหม่อนไหม รวม 33 ชนิด นอกจากนี้ ได้กำหนดเป้าหมายเพิ่มเติมในปี 2560 อีกไม่น้อยกว่า 900 แปลง รวม 1,500 แปลง พื้นที่มากกว่า 3 ล้านไร่ ” พลเอกฉัตรชัย กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลสัมฤทธิ์ของปี 2559 ในสินค้าเกษตรจำนวน 12 ตัวอย่างนั้น สามารถลดต้นทุนได้ประมาณ 1,500 ล้านบาท และเพิ่มผลผลิตได้ประมาณ 2,700 ล้านบาท รวมมูลค่าประมาณ 4,200 ล้านบาท ดังนั้น การรวมกลุ่มแปลงใหญ่ในปี 2559 ถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การบริหารจัดการแบบแปลงใหญ่ จะสามารถทำให้เกษตรกรประหยัดต้นทุนการผลิต เนื่องจากสามารถซื้อปัจจัยการผลิตร่วมกันเป็นกลุ่ม ประหยัดการลงทุนในเครื่องจักรกลและเทคโนโลยี อีกทั้ง การบริหารจัดการแบบแปลงใหญ่นั้น เกษตรกรต้องรู้ข้อมูลการผลิตที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ผลิต อาทิ ข้อมูลความเหมาะสมของพื้นที่ วิธีการผลิตที่เหมาะสม ราคา ปริมาณ และคุณภาพที่ตลาดต้องการ เป็นต้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการผลิตและการตลาด รวมถึงใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 882 ศูนย์ เป็นหลักของแต่ละพื้นที่ในการสนับสนุนด้านวิชาการที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่นั้น ๆ เพื่อเป็นศูนย์กลางการทำงานแบบบูรณาการของหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ ให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงตามความต้องการของชุมชน และเกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

ร่วมแสดงความคิดเห็น