รณรงค์ ดื่มนมจืด วันละ 2 แก้ว “Love Milk Day” & คัดกรองสายตาเด็กวัยเรีย

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ขับเคลื่อนโครงการรณรงค์ ดื่มนมจืด วันละ ๒ แก้ว “Love Milk Day” และรณรงค์คัดกรองสายตาเด็กวัยเรียน จังหวัดเชียงใหม่

นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานมอบนมจืดและมอบแว่นสายตา ให้แก่ตัวแทนนร.ชั้น ป.1 ที่สายตาผิดปกติ ในงานฉลองวันเด็กแห่งชาติ วันที่ 14 มกราคม 2560 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ 1) ดญ.ตรีทิพยนิภา ชัยวรรณ รร.ปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย อ.เมืองเชียงใหม่ 2) ดช.อดิศรณ์ กันนะ รร.บ่อสร้าง อ.สันกำแพง 3) ดญ.สายน้ำผึ้ง จินโน รร.บ้านเหล่าป่าผาง อ.แม่วาง 4) ดญ.สายชล จินโน รร.บ้านเหล่าป่าผาง อ.แม่วาง 5) ดญ.สายธาร จินโน รร.บ้านเหล่าป่าผาง อ.แม่วาง พร้อมนี้ภายในงานดังกล่าว สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับกลุ่มจิตอาสา “ลานนาตาดี” ยังมีการรณรงค์คัดกรองสายตาฟรี ให้แก่เด็ก และผู้ปกครองร่วมด้วย

การมอบนมจืดให้แก่เด็กที่เข้าร่วมงานฉลองวันเด็กแห่งชาติ จังหวัดเชียงใหม่ ในครั้งนี้ นางชลลิสา จริยาเลิศศักดิ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมมอบนมจืดให้แก่เด็กร่วมด้วย ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการณรงค์ “ดื่มนมจืด 2 แก้วทุกวัน” ซึ่งการดื่มนมจืดอย่างน้อยวันละ 2 แก้ว เป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่สำคัญและมีผลต่อความสูงของร่างกาย ได้แก่ การเจริญเติบโตของกระดูก โดยเฉพาะกระดูกกลุ่ม Long bone และการปิดของบริเวณ Growth plate พร้อมกับการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ จะกระตุ้นการหลั่งของ Growth hormone และ Growth factor รวมทั้งการกระตุ้นโดยตรงต่อกระดูก ทำให้เพิ่มการสร้างกระดูกมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องส่งเสริมให้เด็กวัยเรียนดื่มนมจืด 2 แก้วทุกวัน จังหวัดเชียงใหม่ โดย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ จึงกำหนดให้ดำเนินกิจกรรมรณรงค์ให้เด็กวัยเรียนดื่มนมจืดวันละ 2 แก้ว “Love Milk Day” ในเดือนมกราคม2560 จังหวัดเชียงใหม่ และตลอดการศึกษาในวัยเรียน

การรณรงค์คัดกรองสายตา นักเรียนชั้นป.1 จังหวัดเชียงใหม่ ในด้านวิชาการ เนื่องจากภาวะสายตาผิดปกติในเด็กตั้งแต่อายุน้อยกว่า 6 ขวบ สามารถนำไปสู่ภาวะตาบอดในเด็กไทย ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่หลีกเลี่ยงได้ตามคำนิยามขององค์การอนามัยโลก ถ้าได้รับการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาอย่างเหมาะสมและทันเ
วลา จะสามารถลดจำนวนเด็กตาบอดและตาเลือนรางได้ ขณะที่องค์การอนามัยโลกมีโครงการ VISION 2020 the right to sight โดยตั้งเป้าหมายเพื่อควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุของสภาวะตาบอดในเด็ก เพื่อลดอัตราความชุกของตาบอดในเด็กทั้งโลกจากร้อยละ 0.075 เป็น ร้อยละ 0.04 ในปี พ.ศ. 2563 โดยกำหนดแนวทางที่สำคัญประการหนึ่งคือ เด็กนักเรียนทุกคนควรได้รับการตรวจคัดกรองสายตาและแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติ สถานการณ์ในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขต้องการลดอัตราความชุกของตาบอดในเด็กจากร้อยละ 0.11 เป็น ร้อยละ 0.07และในปี พ.ศ. 2563 ให้ได้ ร้อยละ 0.04

การตรวจคัดกรองหาความผิดปกติทางด้านสายตา (Vision Screening) ถือเป็นแนวทางหนึ่งในการป้องกันความผิดปกติทางตาและการมองเห็น เนื่องจากความผิดปกติส่วนใหญ่สามารถให้การแก้ไข หรือการรักษาได้หากตรวจพบแต่เนิ่นๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการส่งเสริมให้เด็กได้มีพัฒนาการเรียนรู้ และเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพและมีศักยภาพต่อชุมชน ดังนั้นหากตรวจพบได้เร็วเท่าไหร่ ยิ่งเป็นผลดีต่อการรักษา ซึ่งการคัดกรองหาความผิดปกติ ควรทำในเด็กทุกคน โดยเฉพาะในช่วงอายุ 5-6 ปี หรือนักเรียนชั้น ป.1 เนื่องจากเป็นช่วงที่เริ่มเข้าโรงเรียน พูดตอบรู้เรื่อง และสามารถร่วมมือในการตรวจ แม้ว่าการตรวจคัดกรองสุขภาพตาในเด็กเป็นสิ่งที่จำเป็นในการป้องกันความพิการทางสายตา

อย่างไรก็ตามการตรวจเหล่านี้ต้องใช้ทรัพยากรทางด้านบุคคลและค่าใช้จ่าย เป็นจำนวนมาก และในทางปฏิบัติการคัดกรองโดยหน่วยงานด้านสาธารณสุขยังไม่สามารถทำได้อย่างทั่วถึง จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ที่ใกล้ชิดเด็ก ได้แก่ ครูประจำชั้น หรือผู้ปกครองให้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา และมีการพัฒนาทักษะให้สามารถคัดกรองความผิดปกติเบื้องต้นได้ ข้อสรุปจากการศึกษาโดยองค์การอนามัยโลกแนะนำว่า การคัดกรองภาวะสายตาผิดปกติในเด็กเป็นเรื่องเร่งด่วนและควรทำในระดับชุมชนร่วมกับโรงเรียน

จังหวัดเชียงใหม่ มีความตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหาดังกล่าวข้างต้น โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับโรงเรียนทุกสังกัดของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเขต 1-6 มีการผสมผสานการดำเนินงานทางจักษุ โดยการกำจัดหรือจำกัดสาเหตุที่ทำให้เกิดตาบอดด้วยการจัดการทางด้านสาธารณสุข ได้แก่ การตรวจคัดกรองภาวะสายตาผิดปกติโดยครูประจำชั้น การให้สุขศึกษาเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานเรื่องอนามัยดวงตา การดูแลรักษาเบื้องต้น และการส่งต่อเพื่อแก้ไข ส่งเสริมการตรวจวัดสายตาเด็กวัยเรียนและดำเนินการแก้ไขอย่างเหมาะสมและทันเวลาซึ่งจะส่งผลให้สามารถลดความชุกของสภาวะตาบอดในเด็กไทยได้

จังหวัดเชียงใหม่ ครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในโรงเรียนทุกสังกัด จำนวน 783 คน และบุคลากรสาธารณสุขได้แก่ พยาบาล/เจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับอำเภอและตำบล (รพช. และ รพสต.) จำนวน ๒๘๗ คน ได้รับการพัฒนาความสามารถด้านการคัดกรอง ให้ความรู้ และส่งต่อเพื่อแก้ไข ผลการดำเนินงานคัดกรองสายตานักเรียนชั้น ป.1 ทุกคนร่วมกัน พบว่า นักเรียนชั้นป.1 ปีการศึกษา 2558 พบสายตาผิดปกติ ร้อยละ 1.43 หรือจำนวน ๒๖๑ ราย ในขณะที่ ปีการศึกษา ๒๕๖๐ นร.ป.๑ นักเรียนสายตาผิดปกติ เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 3.11 หรือจำนวน 469 ราย (เนื่องจากการค้นพบ และการคัดกรองที่ครอบคลุมมากขึ้น)

ด้านการแก้ไข ขณะนี้นร.ที่มีรายชื่อสายตาผิดปกติทยอยเข้าสู่ในระบบการแก้ไขวัดค่าสายตาและตัดแว่น โดยทีมจักษุแพทย์และพยาบาลจากโรงพยาบาลนครพิงค์ จอมทอง และโรงพยาบาลฝาง และกระทรวงสาธารณสุขจัดส่งแว่นเพื่อมอบให้แก่นักเรียนที่สายตาผิด ดังข่าวนักเรียนตัวแทนเข้ารับมอบแว่นสายตาจากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ในวันเด็กแห่งชาติ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๐ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณค่าแว่นสายตาจาก สปสช.

ร่วมแสดงความคิดเห็น