“มิดะ” และ “ลานสาวกอด” มายาคติอาข่าในสังคมไทย

**บนฟ้ามีเมฆลอย บนดอยมีเมฆบัง มีสาวงามชื่อดัง อยู่หลังแดนดงป่า
มีกะลาล่าเซอ มีหนุ่มๆ เผลอฮ้องหา มีสาวงามขึ้นมา แล้วมี มิดะ.
นางนั้นยืนท่าคอย หนุ่มน้อยที่ยังบ่เคยผ่าน ยังไร้ราคีพาน บ่ฮู้การกามโลกีย์
ยั่วยวนวาจาเว้าวอน บอกสอนหื้อละอ่อนนั้นมี ความฮู้กามวิธี แล้วพลีเรือนกาย
งามเหนือคำรำพัน เป็นหมันและเป็นหม้าย ความสวยงามคือภัย ถูกเลือกไว้เป็นมิดะ
หนุ่มใดบ่เกยชิดชม บ่สมสู่ฮู้วิชา หมดหนทางขึ้นมา บนลานสาวกอด
หมดปัญญาดิ้นรน มืดมนเหมือนคนตาบอด คนแล้วคนเล่ากอด ทอดกายในดงดินแดน
จนวัยโรยราล่วงไป คนใหม่มาเป็นมิดะแทน คือเรื่องราวในแดนแผ่นดินอีก้อ…

นี่คือบทเพลง “มิดะ” ที่ขับร้องโดย จรัล มโนเพ็ชร ศิลปินชาวเชียงใหม่ ที่ชาวอาข่าขอให้มีการห้ามเผยแพร่เพลงนี้ เนื่องจากทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมของชาวอาข่า ยาวนานหลายสิบปี ที่คำว่า “มิดะ” ถูกนำเสนอซ้อนทับกับภาพของหญิงชาวอาข่าที่ “เป็นหมันและเป็นหม้าย” ผู้รับบทบาทส่งมอบความรู้ “กามวิธี” ให้หนุ่มน้อย เช่นเดียวกับคำว่า “ลานสาวกอด” ที่ถูกเข้าใจในฐานะ “เวทีสาธารณะ” สำหรับกิจกรรมทางเพศ แม้นเวลาจะผ่านไปนานหลายสิบปี แต่ภาพที่ว่านั้นยังคงลอยวนอยู่ในความเข้าใจของผู้คนจำนวนมาก และยิ่งไปกว่านั้นมุมมองที่ผิดเพี้ยนยังคงถูกผลิตซ้ำในรูปแบบใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

วันนี้ คน “อาข่า” ผู้รับผลกระทบโดยตรงจาก “ความเข้าใจผิด” ที่สั่งสมมานานหลายทศวรรษ จึงนำเสนอเรื่องราวว่าด้วย “มิดะ” และ “ลานสาวกอด”

คำว่า “มิดะ” เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2492 ในหนังสือ 30 ชาติในเชียงราย ซึ่งเขียนโดย บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ และมีหนังสืออีกหลายเล่มถัดจากนั้นที่พูดถึง “มิดะ” ช่นเดียวกัน ก่อนจะกลายเป็นบทเพลงชื่อดังที่ ขับร้องโดยจรัล มโนเพ็ชร ที่ทำให้คนทั้งประเทศรู้จัก “มิดะ” ในฐานะหญิงสาวทำหน้าที่ให้ประสบการณ์ทางเพศแก่ชายหนุ่มอาข่าในวัยก่อนออกเรือน และสถานที่พลอดรักของหนุ่มสาวบนดอยสูงนั้นมีชื่อว่า “ลานสาวกอด” ผลกระทบที่คนอาข่าได้รับจากความหมายของ “มิดะ” และ “ลานสาวกอด” ในแบบที่พวกเขาไม่ยอมรับนั้น มีผู้หญิงอาข่าในหลายชุมชนถูกล่วงละเมิดทางเพศ เพราะความเข้าใจผิดว่าสามารถกอดผู้หญิงอาข่าคนไหนก็ได้เมื่อเข้าไปในหมู่บ้าน หรือเมื่อผู้หญิงอาข่าที่ไปเป็นลูกจ้างหรือทำงานบริการ ก็ถูกเข้าใจผิดว่าสามารถทำได้แบบเดียวกับบทเพลง จึงเกิดเป็นวาทะกรรม “มิดะ” และ “ลานสาวกอด” ขึ้น ซึ่งชาวอาข่าได้ออกมาแสดงความคิดเห็นกับการสร้างอัตลักษณ์ความเป็นอาข่า ในแบบที่ชาวอาข่าไม่ได้เป็นผู้สร้าง

อย่างไรก็ดี “มิดะ” ได้ถูกสร้างขึ้นมาเป็นบทสรุปประเด็นความผิดพลาดที่ชนเผ่าอาข่ารับไม่ได้ เพราะคำว่า “มิดะ” ในภาพที่ถูกสร้างขึ้นมา หมายถึงตำแหน่งผู้หญิงอาข่าที่ทำหน้าที่สอนหนุ่มรุ่นนในชุมชนให้รู้จักวิธีปฏิบัติทางเพศต่อสตรี เมื่อมิดะเดิมหมดสภาพลงแล้ว บรรดาชาวอีก้อระดับหัวหน้าก็จะประชุมคัดเลือกผู้หญิงอายุกลางคนซึ่งเคยมีสามีมาแล้ว แต่ไม่มีบุตรธิดา และสามีได้เสียชีวิตลง โดยจะแต่งตั้งหญิงผู้นี้เป็นครูสอนบรรดาชายหนุ่มที่ยังไม่เคยผ่านการได้เสียกับหญิงใดมาก่อน

ผิดกับความจริง “มิดะ” ในภาษาอาข่า เรียกว่า “หมี่คะ” หมายถึงหญิงสาวบริสุทธิ์ที่ยังไม่เคยผ่านการแต่งงานมาก่อน และในสังคมของชาวอาข่าไม่เคยมีหญิงหรือชายวัยกลางคนที่ทำหน้าที่สอนเรื่องเพศให้กับหนุ่มสาวเช่นนี้ ส่วน “ลานสาวกอด” เป็นภาพที่ถูกสร้างขึ้นที่หมายถึงลานดิน “กะลาล่าเซอ” แต่หญิงสาวจะไม่ยอมให้แตะเนื้อต้องตัว จนกว่าหญิง “มิดะ” จะได้ฝึกหัดให้รู้จักหน้าที่ทางเพศเสียก่อน บรรดาผู้เฒ่าผู้แก่จะไปเรียนมิดะที่บ้านแล้วแจ้งให้ทราบว่ามีหนุ่มบริสุทธิ์มานั่นรออยู่ ให้ไปสอนหน้าที่ให้

ในความเป็นจริง ตามภาษาอาข่า จะเรียกบริเวณลานดินแห่งนี้ว่า “แดข่อง” แต่ถูกแปลเป็นภาษาไทยว่า “ลานสาวกอด” ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับร้องรำทำเพลงตามประเพณี หรือลานวัฒนธรรมและคำว่า “กะลาล่าเซอ” ในภาษาอาข่า กะลา หมายถึงคนภายนอกหรือฝรั่ง ล่าเซอ หมายถึง ชิงช้า กะลาล่าเซอ จึงหมายถึง ชิงช้าฝรั่ง ที่มีลักษณะเหมือนชิงช้าสวรรค์

ชนเผ่าอาข่า เป็นชนเผ่าที่ตั้งถิ่นฐานเดิมอยู่บริเวณภูเขาสูงทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน ปัจจุบันชาวอาข่ามีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นที่บริเวณมณฑลยูนนานประเทศจีน โดยเฉพาะแคว้นสิบสองปันนา นอกจากนี้ยังกระจายอยู่ในประเทศต่างๆ เช่น ประเทศลาว พม่า เวียตนาม และไทย กระจายในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคเหนือคือ เชียงราย พะเยา ลำปาง แพร่ ตาก และเพชรบูรณ์ อาข่าในประเทศไทยมีอยู่ 8 กลุ่มด้วยกัน คือ อู่โล้ (Uq Lor) ลอมี้ (Law mir) อู่ บยา (Uq byaq) หน่าคะ (Naq Kar) อาเคอ (Ar Ker) อาจ้อ (Ar Jawr) อู่พี (Uq Pi) และ เปี๊ยะ (Pyavq) มีจำนวนประชากรอาศัยมากที่สุดในจังหวัดเชียงราย

ชนเผ่าอาข่าเป็นชนเผ่าหนึ่ง ที่มีมรดกวัฒนธรรมที่ดีงามและมีคุณค่า ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมในรูปแบบของแนวคิดและแนวปฏิบัติมากมาย เช่น ศาสนสถาน โครงสร้างการปกครอง ความเชื่อในการจัดตั้งชุมชน การสร้างบ้านเรือน การเลือกพื้นที่เพาะปลูก การเลือกคู่ครอง กระบวนการผลิตเรื่องนุ่งห่ม ศิลปการแสดง พิธีกรรม ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม โดยมีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นผ่านกระบวนการเรียนรู้ตามวิถีชีวิต

แต่การดำรงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันดีงามของอาข่า นับวันจะยิ่งยากขึ้นเนื่องมาจากการปลี่ยนแปลงทางสังคมและความเชื่อ เนื่องจากมีคนรุ่นใหม่ได้รับการศึกษาสูงขึ้น ได้เข้าถึงความเจริญมากขึ้นทำให้วัฒนธรรมเผ่าเดิมค่อยๆ ถูกกลืนหายไปกับชนรุ่นหลังที่พัฒนาตนเองกลายเป็นคนเมือง แต่กระนั้นอีกด้านหนึ่งชาวอาข่าพบว่าสังคมไทยเปิดพื้นที่เล็ก ๆ ให้พวกเขายืนอยู่ได้ในฐานะผู้ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่สวังคมไทยผลิตให้ เพื่อแสดงตัวตนบนเส้นทางชาติพันธุ์ แต่ขณะบางกลุ่มก็เลือกที่จะปฏิเสธและต่อสู้แก้ไขภาพลักษณ์ แต่ที่เป็นสิ่งยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้ก็คือ ทัศนะที่เป็นอคติทางชาติพันธุ์ที่ขาดโอกาสของสังคมไทย ในอันที่จะเข้าไปรู้จักความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมที่ถูกต้องดีงามและมีคุณค่า.

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น