กฎหมายใหม่ เก็บค่าขยะบ้านทุกหลัง ขั้นต่ำ 150 ต่อเดือน

กระอัก!! ผุดแก้กฎหมายเปิดให้ท้องถิ่น จัดเก็บค่าขนขยะได้สูงสุดถึง 150 บาทต่อเดือน พร้อมต้องจ่ายค่ากำจัดด้วยขีดเพดานไว้ที่ 200 บาท ครัวเรือนทั่วไปมีโอกาสจ่ายค่าขยะสูงถึง 350 บาทต่อเดือน รองประธานชมรมท้องถิ่นแจงยังต้องรอกฎกระทรวงมหาดไทย ที่ต้องจัดทำให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ทำไม่เสร็จต้องชี้แจง ครม. ชี้อัตราค่าขยะไม่ควรเป็นราคาเดียวกันทั่วประเทศ ส่วนค่าขยะไม่ควรเกิน 60 บาทต่อเดือน เผยไม้เด็ดกฎหมายใหม่ “ใครเบี้ยวค่าขยะมีโอกาสติดคุก”

ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 ม.ค.60 ที่ผ่านมา ได้ลงประกาศ พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 และให้มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป โดยระบุว่า การจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย เป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศ แต่ปัจจุบันการบริหารจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยมีบัญญัติไว้ในกฎหมายหลายฉบับ และมีหน่วยงานที่รับผิดชอบหลายหน่วยงาน ทำให้ขาดการบูรณาการร่วมกัน โดยเฉพาะการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับการเก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย แต่ละประเภท อีกทั้งอัตราค่าธรรมเนียมในการให้บริการจัดการสิ่งปฏิกูล และมูลฝอยที่ราชการส่วนท้องถิ่นจัดเก็บยังไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายจริง

ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด สมควรกำหนดให้ราชการส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่และอำนาจในการเก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการคัดแยก เก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการให้บริการ รวมทั้งกำหนดให้ราชการส่วนท้องถิ่น มีอำนาจนำสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยที่จัดเก็บได้ ไปใช้ประโยชน์หรือหาประโยชน์ได้

เกี่ยวกับประเด็นนี้ เมื่อวันที่ 18 ม.ค.59 นายธนวัฒน์ ยอดใจ นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ ในฐานะ รองประธานชมรมองค์กรปกครองท้องถิ่น จ.เชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์กับ “เชียงใหม่นิวส์” ถึง พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ว่า กฎหมายฉบับนี้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 ม.ค.60 ที่ผ่านมา และมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศก็คือ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันจันทร์ที่ 16 ม.ค.60 ซึ่งที่จะมีผลโดยตรงที่จะกระทบต่อทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมดเอง และกระทบต่อพี่น้องประชาชน ประการแรกคือ เรื่องของค่าธรรมเนียมในการจัดเก็บและการจำกัดขยะ

“อปท. ทั่วประเทศกว่า 7 พันแห่ง มีการบริการการจัดเก็บขยะที่แตกต่างกันตามสภาพต่างกัน ตามแต่ขนาดและจำนวนประชากร ซึ่งแต่ละแห่งจะต้องออกกฎหมายลูกหรือเทศบัญญัติ ข้อบัญญัติ เพื่อการกำหนดค่าจัดเก็บขยะ บางแห่งเก็บเดือนละ 20 บาท 30 บาท หรือ 40 บาท ซึ่งเมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ใหม่ จะมีเรื่องอัตราการจัดเก็บ อัตราการกำจัด มูลฝอยออกมาชัดเจน แต่ทั้งนี้ในกฎหมายที่แก้ไขใหม่นี้ ได้กำหนดในมาตรา 5 ว่า การออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม และยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยให้เป็นอำนาจของ รมว.กระทรวงมหาดไทย

นอกจากนี้ใน มาตรา 11 ยังกำหนดการดำเนินในการออกกฎกระทรวงไว้ด้วย โดยบัญญัติว่าการออกกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ฉบับแก้ไขนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้ รมว.กระทรวงมหาดไทย รายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการได้ต่อ ครม.พื่อทราบ” นายธนวัฒน์ฯ กล่าว

“ในส่วนของท้องถิ่นเองจะต้องคอยดูว่า กฎกระทรวงที่จะออกมาโดยกระทรวงมหาดไทย จะกำหนดอัตราการจัดเก็บ อัตราการกำจัดขยะไว้ในอัตราที่เท่าไร เมื่อกฎกระทรวงออกมาแล้ว ก็ต้องมาดูอีกทีว่าจะให้ท้องถิ่นมาออกเทศบัญญัติหรือข้อบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งเชื่อว่าน่าจะบังคับใช้ไม่เหมือนกันในทุกพื้นที่ อย่างเช่นในเขตเมืองก็น่าจะเป็นอัตราหนึ่ง ส่วนพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลก็น่าจะเป็นอีกอัตราหนึ่ง ยกตัวอย่างพื้นที่ อมก๋อย ดอยเต่า แม่แจ่ม กับ เทศ บาลนครเชียงใหม่ เทศบาลเมืองต่างๆ ที่เป็นเมืองท่องเที่ยวในการจะกำหนดอัตราจะเป็นไปแบบใด ซึ่งเชื่อว่าหลังจากนี้ทางกระทรวงมหาดไทยคงจะเชิญ อปท. ต่างๆ มาให้ข้อมูล เพื่อสะท้อนสภาพแท้จริงที่เป็นอยู่ เพื่อใช้ในการออกกฎกระทรวงต่อไป” นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ กล่าว

“พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนี้ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ กฎหมายมีการกำหนดบทลงโทษไว้ด้วย ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยมีอย่างเช่นกำหนดไว้ว่า ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามที่ท้องถิ่นกำหนดจะมีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นการปรับปรุงให้กฎหมายมีสภาพบังคับ อีกประเด็นคือ ได้มีการปรับปรุงให้ผู้ที่จะเป็นผู้ดำเนินการตามกฎหมาย ให้เป็นอำนาจของปลัด อปท. ซึ่งข้าราชการการเมืองท้องถิ่น จะเข้าไปล้วงลูกบังคับให้เป็นอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ และตัวข้าราชการท้องถิ่นเองหากไม่ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด ก็จะกลายเป็นว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” นายธนวัฒน์ฯ แจง

“ประเด็นที่จะได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนี้ ต้องรอดูกันว่ากฎกระทรวงจะออกมาในรูปแบบไหนอย่างไร และอัตราการจัดเก็บ อัตราการกำจัด จะออกมาที่เท่าใด ซึ่งจะต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน ที่จะได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ด้วย โดยส่วนตัวแล้วอัตราการจัดเก็บในภาคครัวเรือน น่าจะไม่ควรเกินกว่าครัวเรือนละ 60 บาทต่อเดือน อย่างเช่นเทศบาลเมืองแม่เหียะ ในแต่ละปีจัดเก็บค่าขยะได้ราว 2 ล้านบาท โดยมีค่ากำจัดขยะที่อยู่ราว 9 ล้านบาท

ขณะนี้เทศบาลเมืองแม่เหียะ เก็บค่าขยะที่ครัวเรือน ละ 20 บาทต่อเดือน หากเก็บที่ 60 บาทต่อเดือน ก็จะมีรายรับเพิ่มขึ้นมาอีกเป็น 6 ล้านบาท ก็จะทำให้งบประมาณรายจ่ายที่ต้องจัดสรร สำหรับการจัดการขยะก็จะจ่ายน้อยลงไปด้วย หากค่าจัดการขยะขยับขึ้นไปเป็นเดือนละร้อยสองกว่า อาจจะส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนได้” นายธนวัฒน์ นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ กล่าว

พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนี้ได้กำหนดอัตราการจัดเก็บมูลฝอยแยกเป็น 2 เรื่องอย่างชัดเจน เรื่องแรกคือ การเก็บและขนมูลฝอย ประเด็นที่ 2 เป็นเรื่องการกำจัดมูลฝอย เป็นเรื่องที่กระทรวงมหาดไทยต้องไปออกกฎกระทรวงว่ามีอัตราเท่าใด โดยใน พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนี้ ได้กำหนดอัตราค่าจัดเก็บไว้ที่ครัวเรือนละ 150 บาทต่อเดือน ซึ่งน่าจะเป็นอัตราสูงสุดที่จะกำหนดไว้ในกฎกระทรวงได้ นอกจากนี้ยังมีการกำหนดค่ากำจัดมูลฝอยแยกออกไปต่างหากที่ครัวเรือนละไม่เกิน 200 บาทต่อเดือน ซึ่งก็น่าจะเป็นอัตราที่กำหนดไว้สูงสุด นั่นหมายความว่าแต่ละครัวเรือนจะต้องจ่ายเป็นค่าจัดเก็บ และค่ากำจัดเป็นรายเดือนสูงสุดไม่เกินเดือนละ 350 บาทต่อครัวเรือน

โดยกฎหมายนี้ได้บัญญัติไว้ท้าย พ.ร.บ.ว่า ค่าธรรมเนียมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย 5.1 การเก็บและขนมูลฝอย 5.1.1 กรณีมีปริมาณมูลฝอย ไม่เกิน 120 กิโลกรัม หรือ 600 ลิตร หรือ 0.6 ลูกบาศก์เมตร เดือนละ 150 บาท 5.1.2 กรณีมีปริมาณมูลฝอยต่อเดือนเกิน 120 กิโลกรัม หรือ 600 ลิตร หรือ 0.6 ลูกบาศก์เมตร ให้คิดเป็นหน่วย หน่วยละ 120 กิโลกรัม หรือ 600 ลิตร หรือ 0.6 ลูกบาศก์เมตร และให้เก็บหน่วยละ 150 บาทบาท 5.2 การกำจัดมูลฝอย 5.2.1 กรณีมีปริมาณมูลฝอยไม่เกิน 120 กิโลกรัม หรือ 600 ลิตร หรือ 0.6 ลูกบาศก์เมตร เดือนละ 200 บาท 5.2.2 กรณีมีปริมาณมูลฝอยต่อเดือนเกิน 120 กิโลกรัม หรือ 600 ลิตร หรือ 0.6 ลูกบาศก์เมตร ให้คิดเป็นหน่วย หน่วยละ 120 กิโลกรัม หรือ 600 ลิตร หรือ 0.6 ลูกบาศก์เมตร และให้เก็บหน่วยละ 200 บาท

ส่วนบทกำหนดโทษกำหนดไว้ใน มาตรา 58/1 ผู้ใดดำเนินกิจการเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย โดยมิได้รับใบอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 58/2 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของท้องถิ่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้มีหน้าที่หรือได้รับมอบหมายให้เก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย หรือผู้ได้รับใบอนุญาต ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของท้องถิ่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ร่วมแสดงความคิดเห็น