มช.ปลื้มผลงาน เมล็ดงานสู่เม็ดเงิน

ศาสตราจารย์ ดร.ปรัชญา ชี้การก้าวสู่ความสำเร็จ จากเมล็ดงา สู่เม็ดเงิน หวังสร้างรายได้ให้ มช. กว่า 30 ล้านบาท โดยยังพบว่าเซซามินช่วยทำให้ แคลเซียมประสานกับกระดูกเพิ่มมากขึ้น สามารถป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อม โรคกระดูกพรุน และยังสามารถปกป้องเซลล์ประสาทที่เสื่อมสภาพให้สามารถกลับมาทำงานเป็นปกติได้

อาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ค้นคว้าสาร เซซามินจากงาดำ ช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็ง ที่เป็นต้นกำเนิดของโรคต่างๆ ปัจจุบันได้ทำการจดสิทธิบัตรไปแล้วทั้งหมด 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย สหรัฐอเมริกา และมาเลเซีย ในอนาคตพร้อมก้าวสู่เชิงพาณิชย์สร้างรายได้กว่า 30 ล้านบาท เร่งสนับสนุนทุนวิจัย สามารถนำ นวัตกรรม งานวิจัย มาผลิตและสร้างรายได้ ตอบแทนให้กับมหาวิทยาลัยในอนาคต

ศาสตราจารย์ ดร.ปรัชญา คงทวีเลิศ หน่วยวิจัยที่มีความเป็นเลิศทางด้านวิศวกรรมเนื้อเยื่อ และเซลล์ต้นกำเนิด ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับสารสกัดงาดำ ” เซซามิน” เปิดเผยว่า ตนได้เล็งเห็นถึงการใช้โภชนบำบัดเป็นอย่างมาก คือการทานอาหารให้เป็นยา การใช้อาหารช่วยในการรักษาโรคโดยการดัดแปลงอาหารธรรมดา ให้เป็นอาหารที่เหมาะสมกับโรคที่เป็นอยู่ จึงได้ทำการศึกษาวิจัยงาดำขึ้น พบว่า งาดำมีสารเซซามิน ที่ช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งและช่วยฟื้นฟูสภาพเซลล์ที่เสื่อมไปให้กลับมาทำงานเป็นปกติได้ นอกจากนี้ยังพบว่าเซซามินช่วยทำให้ แคลเซียมประสานกับกระดูกเพิ่มมากขึ้น สามารถป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อม โรคกระดูกพรุน และยังสามารถปกป้องเซลล์ประสาทที่เสื่อมสภาพให้สามารถกลับมาทำงานเป็นปกติได้ สรุปได้ว่าสารสกัดเซซามินจากงาดำ สามารถต้านเซลล์ต่างๆที่เสื่อมสภาพแล้ว ยังสามารถฟื้นฟูและป้องกันเซลล์ที่ถูกทำลายลงได้ ทั้งนี้เริ่มทำการศึกษาวิจัยตั้งแต่ปี 2553 ได้พัฒนาสารเซซามินจากงาดำในรูปแบบแคปซูลอาหารเสริม และให้ผู้ป่วยโรคสมองและโรคมะเร็งทานสารเซซามินจากงาดำแคปซูล ควบคู่กับยาที่แพทย์สั่ง พบว่าผ่านไป 6 เดือน ผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นเจ้าชายนิทรา พูดไม่ได้ ขยับตัวไม่ได้ กลับมาพูดได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยคีโม มีอาการผมร่วงหมด เมื่อทานสารเซซามินจากงาดำ แคปซูลควบคู่ยาที่ทานปกติ พบว่าผมได้งอกขึ้นเป็นปกติ และผู้ป่วยอีกหลายรายที่ได้ทำการทดสอบ ด้วยวิธีการทานสารเซซามินจากงาดำ แคปซูลควบคู่ไปกับยาที่รักษา กลับได้ผลเป็นปกติถึง 90 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ได้รับทุนสนับสนุนจาก ” ทุนวิจัยรางวัลเซเรบอส ” (Cerebos Awards) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา โครงการวิจัยนวัตกรรมทางเคมี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะแพทยศาสตร์ จนกระทั่งในปี 2559 นี้ มีผู้ป่วยทั่วโลกให้ความสนใจสารเซซามิน จากงาดำที่สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ ซึ่งปัจจุบันได้ทำการจดสิทธิบัตรไปแล้วทั้งหมด 3 ประเทศ เนื่องจากเป็นงานวิจัยที่จับต้องได้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และเป็นประโยชน์กับคนทั่วโลก สร้างรายได้ตอบแทนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กว่า 7 ล้านบาท คาดว่าปี 2564 จะสร้างรายได้เข้ามหาวิทยาลัยได้ถึง 30 ล้านบาท

ศาสตราจารย์ ดร.ปรัชญา กล่าวว่า ” หวังว่ามหาวิทยาลัยต้องลดการพึ่งพารายได้จากการเรียนการสอนลงไป แต่เน้นไปที่การทำงานวิจัยที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศและสามารถนำนวัตกรรม งานวิจัย มาผลิตและสร้างรายได้

มหาวิทยาลัยต้องเน้นรายได้จากการวิจัยที่สร้างนวัตกรรมและนำไปสู่เชิงพาณิชย์ ออกมาทำใช้ได้จริง ส่งออกได้จริง ลดต้นทุนได้จริง นำพาประเทศก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งรายได้สำคัญของมหาวิทยาลัยด้วย มหาวิทยาลัยโดยเฉพาะในระดับบัณฑิตศึกษาต้องรับนักศึกษาให้ลดลงแต่มีคุณภาพเข้มข้น ขณะเดียวกันอาจารย์มหาวิทยาลัยต้องหาเงินทุนวิจัยได้มากจากภาคเอกชนเพื่อนำมาจ้างนักศึกษาระดับบัณฑิต “

ร่วมแสดงความคิดเห็น