เดินหน้าแก้ปม หนี้สินเกษตรกร

รองพ่อเมืองลำพูนนั่งหัวโต๊ะ ประชุมคณะกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ระดับจังหวัด เร่งพิจารณาร่างแบบผังขั้นตอนการดำเนินการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร และแนวทางการบริหารจัดการหนี้สินทั้งระบบของจังหวัดลำพูน เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการเสอนข้อมูลแก่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะลงพื้นที่จังหวัดลำพูน

เมื่อวันที่ผ่านมา นางสาว ปาณี นาคะนาท รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ระดับจังหวัด เพื่อติดตามความก้าวหน้า ปัญหาอุปสรรค และการดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2559 ที่ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการและ เป็นการเตรียมความพร้อมข้อมูลด้านหนี้สินของจังหวัดลำพูน ณ ห้องประชุมจามเทวี ศาลากลางจังหวัดลำพูน พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อ นำเสนอข้อมูลให้ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรงเกษตรและสหกรณ์ (นายอำนวย ปะติเส) ในโอกาสจะเดินทางมาติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการ แก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดลำพูน โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาร่างแบบผังขั้นตอนการดำเนินการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและแนวทางการบริหารจัดการหนี้สินทั้งระบบของจังหวัดลำพูนทั้งระดับอำเภอและระดับจังหวัดเพื่อให้ทุกภาคส่วนบูรณาการทำงานร่วมกัน

โดย นางสาว ปาณี นาคะนาท รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า จังหวัดลำพูน มีเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และที่มีสิทธิปรับโครงสร้างหนี้ผ่านระบบธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 และวันที่ 22 มิถุนายน 2553 คงเหลือ ณ วันที่ 17 ธันวาคม 2559 จำนวน 128 รายจากทั้งหมดที่มาขอใช้สิทธิ 1,900 กว่าราย ในส่วนผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน (อชก.) ปีงบประมาณ 2559 มีผู้มาขอรับบริการ ขอคำปรึกษา 123 ราย ที่อยู่ในหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือตามระเบียบฯ จำนวน 48 ราย ได้ส่งเรื่องให้ ธ.ก.ส. ดำเนินการวิเคราะห์คำขอกู้ เงินกองทุนฯ 21 ราย เป็นเงิน 15 ล้าน 5 แสนกว่าบาท และได้อนุมัติการกู้ยืมในส่วนของ อชก.ส่วนจังหวัด จำนวน 5 ราย วงเงินกู้ 2 ล้านกว่าบาท ส่วนในปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม 2559- 31 ธันวาคม 2559) มีเกษตรกร มาขอรับบริการ ขอคำปรึกษา จำนวน 40 ราย ได้สั่งเรื่องให้ ธกส. จำนวน 8 ราย วงเงิน 5 ล้าน 9 แสนกว่าบาท และอนุมัติการกู้ยืมในส่วนของ อชก.ส่วนจังหวัด 2 รายวงเงิน 7 แสน 9 หมื่นกว่าบาท

สำหรับเกษตรกร ที่ได้ยื่นขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทางคณะกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรจังหวัดลำพูน จะได้เร่งดำเนินการวิเคราะห์ปัญหาหนี้สินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่ประสบปัญหาหนี้สินที่ไม่สามารถชำระได้ เพื่อหาช่องทางในการแก้ไขปัญหา และให้ความช่วยเหลือต่อไป รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวส่งท้าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น