ล้านนาวาไรตี้…..ไม่เคยเห็นของจริง

เซียนพระที่มีชื่อเสียงในวงการพระบ้านเราหลายคน เริ่มเล่นพระเครื่องจากการเริ่มซื้อ เริ่มส่องพระแท้ เมื่อเริ่มต้นดี ก็มักจะดีไปตลอด เมื่อเริ่มต้นจากการส่องพระแท้ แล้วก็เช่าหาพระแท้ สิ่งที่พบเห็นตลอดชีวิตการเป็นเซียนก็จะมีแต่พระแท้ พอไปเห็นพระเก๊ จึงสามารถเข้าใจได้เข้าใจง่ายว่า พระองค์นั้นๆ เป็นพระไม่แท้ได้อย่างไร เมื่อรู้ว่าไม่แท้ หลายครั้งก็จะไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพิจารณามากนัก มีบางครั้งที่จะส่องให้รู้ว่าองค์นี้ไม่แท้อย่างไร วิธีการทำพระไม่แท้เป็นอย่างไร เมื่อพิจารณาให้ละเอียดยิ่งขึ้นจะรู้ว่า เก๊มาจากองค์ไหน องค์ไหนเป็นพ่อ องค์ไหนเป็นลูกกันเลยทีเดียว นี่คือตัวอย่างที่ผมยกขึ้นมาสำหรับพระเครื่องบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นพระสกุลลำพูน พระสกุลล้านนา กลุ่ม พระเชียงใหม่ พระเชียงแสน และพระพะเยา

มีบ้างที่คนเล่นพระมีโอกาสได้พระเข้ามาในราคาไม่สูง อาจได้กำไรมาก ทำให้คนเล่นพระมักชอบเสี่ยง เสี่ยงซื้อ เสี่ยงเช่ามาเล่น โดยอาศัยหลักการพิจารณาพระแท้เบื้องต้น บางครั้งโชคดีเจอพระแท้ แต่อีกหลายครั้งโชคร้ายก็เจอพระเก๊เช่นกัน เพราะเมื่อนำพระไปเช็คก็จะมีคนบอกว่าพระองค์นี้แท้นะ พระองค์นี้เก๊นะ สุดท้ายเราก็จะมีวิธีจัดการกับพระองค์นั้นๆ แตกต่างกันออกไป

หลักการพิจารณาพระแท้แบบง่ายของคนเล่นพระที่เข้าใจกันทุกคนคือ ให้นำองค์ที่พิสูจน์ว่าแท้แล้ว มาวางเทียบกับองค์ที่ต้องการพิสูจน์ ส่องกันจุดต่อจุด พระกรุก็ดูเนื้อหา พิมพ์ทรง และคราบกรุ ส่วนเหรียญ ก็ดูตำหนิ ความคมชัด และรอยตัดขอบที่เปรียบเสมือนบาร์โค๊ดที่ปลอมกันไม่ได้ แต่บางครั้งไม่เป็นอย่างนั้น พระบางพิมพ์ ไม่มีตัวอย่างให้ดู บางรุ่น บางกรุ หาคนดูเป็นยาก ตั้งแต่เล่นพระมาไม่เคยซื้อ ไม่เคยขาย ไม่เคยผ่านตา ไม่แม้แต่จะเคยเห็นองค์จริง ไม่รู้จะนำไปเช็คที่ไหน แบบนี้อาจทำให้เข้าใจผิดได้เช่นกัน ปกติของคนซื้อ ก่อนซื้อพระ เราก็มักจะส่องเพื่อพิจารณากันก่อน ส่องไปก็นึกไป ดินก็ดูดี คราบก็ดูดี ราก็ดูดี แต่โชคร้ายที่เป็นพระเครื่องจากคนละพื้นที่กับที่เรามีความคุ้นเคย ดูอะไรก็ดีไปหมด จนนึกว่าใช่ แต่จริงแล้วกลับไม่ใช่ พระกรุนั้นของจริงอาจมีเนื้อหา และคราบกรุแตกต่างไปโดยสิ้นเชิงเลยทีเดียว ปัญหาของความเข้าใจผิดแบบนี้ มักเกิดขึ้นได้อยู่ตลอด ถ้าไม่เคยเห็นพระพิมพ์นั้นตัวจริง เพราะฉะนั้นปัญหาอย่างหนึ่งของการซื้อพระเก๊ แล้วหลงคิดว่าแท้ คือการไม่มีของแท้เทียบนั่นเอง

ผมเองเล่นพระมานาน สมัยก่อนเวลาซื้อพระเครื่องทางเหนือ ช่วงแรกประสบการณ์น้อยขาดความชำนาญ ก็อาศัยเก็บเอาไว้เพื่อเปรียบเทียบ พอเทียบบ่อยๆ ก็เริ่มจำได้ จนวันหนึ่งเมื่อจำได้ขึ้นใจ ก็ไม่ต้องอาศัยพระเทียบอีกต่อไป นานๆ เจอพระเก๊ ฝีมือดี ก็ค่อยหยิบออกมาเทียบกันสักที แต่เมื่อ เริ่มขยับไปเล่นหาพระกรุจากภาคอื่น ก็ไม่ต่างจากคนเริ่มต้นหัดเล่นพระใหม่อีกครั้ง เริ่มคลำทางใหม่ หลายครั้งที่ใช้หลักการดูเนื้อหา คราบกรุ รารักแบบที่เคยทำมา แต่ก็ใช้ไม่ได้ทุกครั้ง เพราะธรรมชาติของพระกรุจากภูมิภาคอื่นๆ บางทีก็แตกต่างจากของทางเหนืออย่างสิ้นเชิง บางครั้งมีรารักแล้วเป็นพระเก๊ก็มีเช่นกัน บางครั้งคราบกรุควรเป็นดิน แต่กลับเป็น ทรายกรวดเม็ดเล็กก็มีเหมือนกัน ทำให้ช่วงคลำทางของผมเป็นช่วงลองผิดลองถูก ซื้อมา 10 องค์ บางทีก็เจอพระเก๊ 2-3 องค์เหมือนกัน แต่สิ่งเหล่านี้สำหรับผมถือเป็นประสบการณ์ ซื้อแล้วเช็คเอง ให้คนที่เชี่ยวชาญกว่าเช็ค พอรู้ว่าแท้ ก็เก็บเอาไว้ดู เอาไว้เทียบในโอกาสที่จะซื้อคราวต่อไป อนาคตก็จะเกิดความผิดพลาดน้อยลงเรื่อยๆ จนสุดท้ายแล้วโอกาสผิดพลาดก็จะเป็นศูนย์ในที่สุด

ณัฐพล โอจรัสพร
www.siamboran.com

ร่วมแสดงความคิดเห็น