เตรียมแผนส่งเสริม ใช้พลังงานถ่านหิน

กระทรวงพลังงาน เดินหน้าตามแผนหลักพัฒนาพลังงาน 20 ปีทั้งกระจายเชื้อเพลิงส่งเสริมการใช้ถ่านหิน และพลังงานทดแทน ชี้อีก 10 ปีข้างหน้าการใช้ถ่านหินจะพุ่งถึง 1 พันล้านตัน ส่วนผู้สนใจขอสนับสนุนติดตั้ง ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ติดต่อ พพ.ภายใน 20 ก.พ.

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ. ได้จัดทำโครงการสนับสนุนการลงทุนติดตั้งใช้งานระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ประจำปี 2560 (พาราโบลาโดม) เพื่อมุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ หรือเกษตรกรมีการใช้พลังงานทดแทน และกระตุ้นให้เกิดการใช้เทคโนโลยีระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ เปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการตั้งวันนี้จนถึง 20 ก.พ. 2560

โครงการนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 35 % ของเงินลงทุน สร้างระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์(พาราโบราโดม) ตามแบบมาตรฐานของ พพ. 3 แบบได้แก่ พพ. 1 ขนาดเล็ก ขนาด 6 x 8.2 ตร.ม เงินสนับสนุน 125,700 บาท พพ. 2 ขนาดกลาง ขนาด 8 x12.4 ตร.ม เงินสนับสนุน 253,450 บาท พพ. 3 ขนาดใหญ่ ขนาด 8 x 20.8 ตร.ม เงินสนับสนุน 425,150 บาท โดย พพ. มีเป้าหมายที่จะส่งเสริมพื้นที่รวมทั้งสิ้น 5,000 ตร.ม

“เทคโนโลยีระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไทยนับเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่มีการใช้ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ในการทำแห้งผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรโดยมีผลิตภัณฑ์อบแห้งหลากหลายชนิด ทั้งที่วางจำหน่ายภายในประเทศและส่งออก นับตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการปี 2554 จนถึงปัจจุบัน พพ. ได้ส่งเสริมผู้ประกอบการแล้วทั้งสิ้น 171 ราย คิดเป็นพื้นที่ 21,182 ตารางเมตร โดยผู้ประกอบการมีความสนใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าวเป็นจำนวนมาก พพ. จะพัฒนาและส่งเสริมให้มีการใช้ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่องทุกปีตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (AEDP) เพื่อทดแทนการใช้เชื้อเพลิงแอลพีจี หรือพลังงานไฟฟ้า” นายประพนธ์ กล่าว

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และรองโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากรายงานสรุปสำนักความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงพลังงาน ถึงการเข้าร่วมสัมมนาผ่านเว็บไซด์ (webinar) เรื่อง ถ่านหินในอาเซียนหลังจากข้อตกลงปารีส ซึ่งจัดโดย ศูนย์พลังงานอาเซียน (ACE) พบว่า แนวโน้มกำลังผลิตถ่านหินทั่วโลก ในอีก 10 ปีข้างหน้าซึ่งคาดว่าจะเพิ่มสูงถึง 1 พันล้านตัน โดยเฉพาะการเพิ่มกำลังผลิตในทวีปเอเชีย และเชื้อเพลิงถ่านหินยังเป็นตัวขับเคลื่อนพลังงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคาดว่าสัดส่วนการใช้ในภาพรวมจะเพิ่มจาก 46 % ในปัจจุบัน เป็น 60 % และสัดส่วนการใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นจาก 32% เป็น 50% ภายในปี 2040 หรืออีก 23 ปีข้างหน้า ในขณะที่ประเทศไทยจำเป็นต้องให้เกิดการสร้างความสมดุลของเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า โดยความต้องการเชื้อเพลิงถ่านหิน จะเพิ่มขึ้น 20 -25% ภายในปี 2579

ทั้งนี้ สถานการณ์เชื้อเพลิงถ่านหินภายหลังข้อตกลงปารีส (Cop 21) เบื้องต้นจากรายงานสรุปพบว่า เทคโนโลยีถ่านหินประสิทธิภาพสูงและปล่อยมลพิษต่ำ (HELE) ยังคงพัฒนาได้ต่อไป รวมทั้งแนวโน้มการลดลงของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโรงไฟฟ้าถ่านหินมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีเป้าหมายที่จะลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 25% – 30% ควบคู่ไปกับการมุ่งเน้นเทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอน (CCS) โดยจากข้อตกลงปารีส ในการประชุม Cop 21 ต้องการทำให้ CCS ดังกล่าวเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ซึ่งทบวงพลังงานโลกหรือ IEA คาดการณ์ว่าจะสามารถดักจับและเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปริมาณสูงถึง 4,000 ล้านตัน ภายในปี 2040

ร่วมแสดงความคิดเห็น