มช.จับมือปตท.วช.สนช. ผลักดันอุตฯ การแพทย์ 4.0

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมพัฒนานวัตกรรมพลาสติกชีวภาพคุณภาพสูง สำหรับใช้เป็นวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผลิตโดยประเทศไทย จากวัตถุดิบธรรมชาติ ข้าวโพด อ้อย และมันสำปะหลัง เพิ่มมูลค่าได้ถึงกิโลกรัมละ 5 หมื่นบาท พร้อมทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูงกิโลกรัมละ 1.5 ถึง 2 แสนบาท สนับสนุนนโยบายอุตสาหกรรมการแพทย์ 4.0 ของรัฐบาล ปัจจุบันต่อยอดผลิตเป็นวัสดุย่อยสลายได้ในร่างกายมนุษย์ เช่น ไหมเย็บแผล ช่วยลดขั้นตอนในการรักษา ผู้ป่วยไม่ต้องผ่าตัดซํ้าและไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วินิตา บุณโยดม ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าทีมวิจัย เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพคุณภาพสูงเกรดทางการแพทย์มาตรฐาน ASTM F1925-09 (Standard Specification for Semi-Crystalline Poly (lactide) Polymer and Copolymer Resins for Surgical Implants) สำหรับนำไปใช้เป็นวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งดำเนินการใน “ห้องปฏิบัติการผลิตพลาสติกชีวภาพสำหรับใช้ทางการแพทย์” ที่ได้รับรองมาตรฐาน ISO 13485 (ระบบบริหารคุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์) โดยอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นผู้ดำเนินการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตามแผนธุรกิจของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดบยร่วมมือกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อทดสอบตลาดและอยู่ระหว่างการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) งานวิจัยนี้สนับสนุนนโยบายอุตสาหกรรมการแพทย์ 4.0 ของรัฐบาล เนื่องจากเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเม็ด พอลิเมอร์ที่ดูดซึมได้คุณภาพสูงเกรดทางการแพทย์ซึ่งเตรียมได้จากข้าวโพด อ้อย และมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นผลผลิตมูลค่าตํ่าในประเทศ ทำให้นักวิจัยในประเทศไทย รวมทั้งผู้ประกอบการด้านวัสดุทางการแพทย์สามารถซื้อได้กิโลกรัมละประมาณ 50,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ถูกกว่าการสั่งซื้อจากต่างประเทศในกิโลกรัมละ 150,000 – 200,000 บาท จึงเป็นโอกาสดีที่จะผลิตเพื่อส่งออกและชดเชยการนำเข้าและมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์ภายใต้มาตรฐานสากล

ขณะนี้คณะผู้วิจัยร่วมกับทีมแพทย์ สัตวแพทย์ และวิศวกร ในการนำเม็ดพลาสติกชีวภาพดังกล่าวมาพัฒนาต่อยอดโดยการขึ้นรูปเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ในร่างกายมนุษย์ เช่น ไหมเย็บแผลที่ละลายได้ ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ด้วยปฏิกิริยาไฮโดรไลซิสโดยระบบเมตาบอลิซึมในร่างกาย จึงช่วยลดขั้นตอนในการรักษา ทำให้ไม่ต้องทำการผ่าตัดซํ้า ผู้ป่วย
ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมและไม่ต้องทนเจ็บปวดหลายครั้ง

ร่วมแสดงความคิดเห็น