3 องค์กรใหญ่เชียงใหม่ จับมือบูรณาการความร่วมมือ จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการเยาวชนหมอต้นไม้

3 องค์กรใหญ่เชียงใหม่ จับมือบูรณาการความร่วมมือ จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการเยาวชนหมอต้นไม้ นำร่องครั้งแรกพานักเรียนจาก โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย จำนวนกว่า 40 คน เข้าร่วมการศึกษาเรียนรู้นิเวศประวัติศาสตร์เชียงใหม่ “เมืองแม่น้ำในหุบเขา” โดยนั่งรถรางเขียวชมเมือง สำรวจและศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ ต่อยอดสู่ความเป็นมรดกโลก

ช่วงเช้าวันที่ 23 ม.ค.60 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณภายในบ้านร้อยปี สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ได้มีการจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการเยาวชนหมอต้นไม้ ซึ่งเป็นความร่วมมือของ 3 องค์กร ประกอบด้วย สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ,โครงการเชียงใหม่สู่สังคมแห่งการเรียนรู้ (CMLS) และ เขียว สวย หอม จัดขึ้นเพื่อนำคณะนักเรียนจาก โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย จำนวนกว่า 40 คน เข้าร่วมการศึกษาเรียนรู้นิเวศประวัติศาสตร์เชียงใหม่ “เมืองแม่น้ำในหุบเขา” โดยในกิจกรรมได้มีการนำผู้เข้าร่วมนั่งรถรางเขียวชมเมือง สำรวจและศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ ร.ร.เรยีนา – ขัวเหล็ก – อนุสาวรีย์พระเจ้ากาวิละ – ต้นฉำฉาใหญ่ยิมคานา – ต้นยางใหญ่ หนองหอย – ย่าน ถ.เจริญประเทศ ก่อนจะเดินทางมายัง บ้านร้อยปี สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 พร้อมทั้งให้ความรู้เบื้องต้นเรื่อง “หมอต้นไม้” และฝึกปฏิบัติการรักษาต้นไม้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้และปลูกฝังให้นักเรียนและผู้เข้าร่วมโครงการมีความรู้ในการรักษาสิ่งแวดล้อม

โดยทาง นายชลที ตะพัง ผู้ประสานงานเขียวชมเมือง By เขียว สวย หอม เปิดเผยว่า ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ก็เนื่องมาจากทางโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย ได้มีการประสานงานไปยังโครงการเชียงใหม่สู่สังคมแห่งการเรียนรู้ (CMLS) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เป็นโครงการมุ่งเน้นในเรื่องของการจัดการความรู้ และมีประเด็นเรื่องของต้นไม้เข้ามาเกี่ยวข้อง ทางโครงการจึงได้ติดต่อมาทาง เขียว สวย หอม ที่มีการดำเนินการในเรื่องของรถชมเมืองและมีข้อมูลเรื่องนิเวศประวัติศาสตร์ โดยการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ผ่านต้นไม้ โดยใช้เส้นทางในการจัดกิจกรรมและศึกษาในเส้นทางถนนเจริญประเทศ อาทิ แถวยิมคานา และวนไปตามถนนสายขัวเหล็ก และมาทำกิจกรรมกันในสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ซึ่งเป็นป่าไม้แห่งแรกของประเทศไทย ที่มีอายุราว 120 ปี และในพื้นที่ก็มีต้นไม้อายุเก่าแก่มากมาย รวมไปถึงมีนักวิชาการที่มีความรู้ความสามารถในการให้ความรู้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ในเนื้อหาการเรียนรู้ยังมีการพูดถึงเรื่องของหมอต้นไม้ด้วย ที่เน้นเนื้อหาในเรื่องของการดูแลต้นไม้ และยังมีเนื้อหาใหม่ที่นำเข้ามาเพิ่มเติมอีกคือเนื้อหาเรื่องของเชียงใหม่ที่เตรียมตัวเข้าสู่การเป็นมรดกโลก ที่มีความแตกต่างกับมรดกโลกที่ไทยเคยได้มาทั้ง 5 แห่ง โดยเชียงใหม่ที่จะเป็นมรดกโลกนั้นได้มีการพูดถึงเรื่องของพื้นที่สีเขียว โดยจะมีพื้นที่รอบคูเมืองที่เป็นเขตเมืองเก่า สวนดอกหรือเวียงสวนดอกที่เป็นอุทยานป่าพยอมเมื่อสมัยก่อน รวมไปถึงดอยสุเทพ ดังนั้นเส้นทางเหล่านี้ถือเป็นความรู้ใหม่ที่นักเรียนและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการจะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับรู้ ประกอบกับในการจัดกิจกรรมวันนี้ก็เป็นกิจกรรมที่มีหลากหลายหน่วยงานจัดขึ้น ซึ่งเนื้อหาความรู้ก็จะแทรกอยู่ในหน่วยงานที่รับผิดชอบ

สำหรับโครงการที่จัดขึ้นนี้ เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหลัก ซึ่งโรงเรียนเองก็เป็นหนึ่งในส่วนของชุมชนที่มีบทบาทในการนำเด็กนักเรียนออกจากโรงเรียนในการไปทัศนศึกษาในต่างจังหวัด แต่ปัจจุบันแนวคิดการศึกษาได้เปลี่ยนไปใหม่โดยเน้นการศึกษาด้านประวัติศาสตร์และความรู้ในพื้นที่โดยรอบ หรือความรู้ใกล้ตัว เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างเป็นกระบวนการ ซึ่งในส่วนนี้หลักสูตรกลางไม่มี และเป็นหลักสูตรท้องถิ่นที่ครูหรือโรงเรียนจะต้องเข้าใจและทำให้เด็กได้มีการศึกษามีความรู้ในส่วนนี้ เพื่อนำพาเด็กเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรม ซึ่งส่วนใหญ่ในตอนนี้ โรงเรียนต่างๆ ในเขตเมืองเชียงใหม่ ก็ได้รู้จักและมีการทำกิจกรรมกับทางกลุ่มโครงการมากขึ้น โดยผ่านจากข่าวสารในโซเชียลหรือเพ็จเฟสบุ๊ค รวมถึงรถรางเชียวชมเมือง และกิจกรรมต่างๆ ที่เคยจัดขึ้นโดยหน่วยงานต่างๆ ได้ประสานติดต่อเข้ามา โดยคาดว่าจะมีการต่อยอดการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยนำการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานเข้ามาปฏิบัติทั้งทางเชิงรับและเชิงรุก

ร่วมแสดงความคิดเห็น