สี่แจ่ง กำแพงเมือง และประตูเมืองเชียงใหม่

แจ่งศรีภูมิ

จังหวัดเชียงใหม่ยังคงเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยก็ว่าได้ ที่ยังคงมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ “กำแพงและประตูเมือง” หลงเหลืออยู่อย่างสมบูรณ์ แม้ว่าในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาจะมีการบูรณะซ่อมแซมมาบ้างแล้วก็ตาม

แนวกำแพงและประตูเมืองที่เห็นในปัจจุบันยังคงมีเค้าโครงของแนวกำแพงสมัยโบราณอยู่ โดยเฉพาะก้อนอิฐซึ่งมีลักษณะใหญ่กว่าปกติ สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ในสมัยของพระเจ้ากาวิละที่เข้ามาฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่หลังจากที่ร้างมานานกว่า 200 ปี

กำแพงเมืองและประตูเมืองเชียงใหม่ มีความสำคัญ ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ที่พิเศษ ในอดีตเมื่อพระมหากษัตริย์จะเสด็จเข้าเมืองจะต้องเข้าเมืองที่ประตูทางทิศเหนือซึ่งถือเป็นเดชเมือง ในการสร้างกำแพงเมืองเชียงใหม่ขึ้นแต่เดิมนั้น พงศาวดารโยนกกล่าวไว้ว่า “เมื่อพญามังรายได้สร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นแล้ว ได้ทรงขุดคูเมืองทั้งสี่ด้านนำเอาดินขึ้นมาถมเป็นแนวกำแพง โดยเริ่มขุดที่มุมตะวันออกเฉียงเหนือคือแจ่งศรีภูมิอันเป็นทิศมงคลก่อน แล้วก่ออิฐขนาบสองข้างกันดินพังทลาย ข้างบนกำแพงปูอิฐตลอดแนวทำเสมาไว้บนกำแพงทั้งสี่ด้านและประตูเมืองอีกทั้งสี่แห่ง คือประตูหัวเวียง(ช้างเผือก) ,ประตูท้ายเวียง(เชียงใหม่) ,ประตูท่าแพและประตูสวนดอก

ประตูช้างเผือก

กำแพงเมืองเชียงใหม่มีสองชั้น คือ กำแพงชั้นในรูปสี่เหลี่ยมและกำแพงชั้นนอกหรือกำแพงดิน กำแพงทั้งสองชั้นสร้างขึ้นไม่พร้อมกันและมีความสำคัญไม่เท่ากัน กำแพงชั้นในสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระยามังราย เมื่อครั้งสถาปนาเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.1839 ส่วนกำแพงชั้นนอกสันนิษฐานว่าสร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ 22

ในรายงานการวิจัยเรื่อง “ชุมชนโบราณในแอ่งเชียงใหม่ – ลำพูน” โดยสรัสวดี อ๋องสกุล กล่าวถึงความสำคัญของกำแพงเมืองทั้งสองว่า กำแพงเมืองชั้นในมีความสำคัญกว่ากำแพงเมืองชั้นนอก ซึ่งพิจารณาจากการใช้สอยพื้นที่พบว่า ภายในกำแพงเมืองชั้นในถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางการปกครอง เพราะเป็นที่อยู่ของกษัตริย์และเจ้านาย รวมทั้งเป็นที่ตั้งของวัดสำคัญหลายแห่ง เช่น วัดพระสิงห์ วัดเจดีย์หลวง วัดเชียงมั่น เป็นต้น ด้านถนนภายในกำแพงเมืองมีลักษณะตัดตรงเป็นเรขาคณิต เมื่อเปรียบเทียบกันกำแพงเมืองชั้นนอกแล้ว พบว่า กำแพงชั้นนอกเป็นที่อยู่ของช่างและพ่อค้าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลาย อาทิ ชาวเขิน มอญ พม่า ไทใหญ่และไทยวน ส่วนบริเวณกำแพงเมืองชั้นในจะกำหนดให้เฉพาะชาวไทยวน หรือ คนเมืองอยู่เท่านั้น

บริเวณกำแพงเมืองชั้นใน ประกอบด้วยประตูเมือง 5 ประตู ได้แก่ “ประตูหัวเวียง” หรือ ประตูช้างเผือก อยู่ทางทิศเหนือของเมืองถือว่าเป็นประตูมงคล ในพิธีราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี กษัตริย์ผู้ปกครองเมืองเชียงใหม่จะเสด็จเข้ามาที่ประตูนี้ ประตูหัวเวียงเปลี่ยนชื่อมาเป็น ประตูช้างเผือกเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 23 เมื่อพญาแสนเมืองมาได้สร้างอนุสาวรีย์ช้างเผือก 2 เชือกเป็นอนุสรณ์แก่มหาดเล็ก 2 คนที่ช่วยพระองค์ให้รอดพ้นจากภัยสงคราม แต่เดิมรูปปั้นช้างเผือกทั้ง 2 เชือกอยู่ริมถนนโชตนาด้านละเชือก สำหรับรูปปั้นช้างเผือกที่ตั้งในปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ในสมัยพระเจ้ากาวิละ

“ประตูเชียงเรือก” ตั้งอยู่ด้านตะวันออกของกำแพงเมืองชั้นใน มีบ้านเชียงเรือกตั้งอยู่บริเวณนอกกำแพงเมือง เดิมบ้านเชียงเรือกเป็นชุมชนค้าขายเพราะเป็นที่ตั้งของตลาดเชียงเรือก ตลาดเก่าแก่แห่งหนึ่งของเชียงใหม่ คาดว่ามีประชากรหนาแน่น ซึ่งมีหลักฐานกล่าวถึงสมัยพญาแก้วเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเชียงเรือกมีคนจมน้ำตายเป็นจำนวนมาก ในสมัยพระเจ้าอินทวิชายานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7 (พ.ศ.2416 – 2440) ชื่อประตูเชียงเรือก เปลี่ยนมาเป็น “ประตูท่าแพชั้นใน” เพื่อให้คู่กับประตูท่าแพชั้นนอก ซึ่งอยู่บนถนนสายเดียวกัน ชื่อประตูท่าแพ หมายถึงประตูชั้นนอกตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดแสนฝาง ต่อมาบ้านเรือนขยายตัวประตูท่าแพชั้นนอกได้สลายไปเหลือแต่ประตูท่าแพชั้นใน ชาวบ้านจึงเรียกชื่อสั้น ๆ ว่า ประตูท่าแพ สำหรับประตูท่าแพในปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2528 – 2529 โดยอาศัยภาพถ่ายเก่าประตูเมืองเชียงใหม่ประตูหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5

“ประตูเชียงใหม่” ตั้งอยู่ทางด้านใต้ ในอดีตเป็นเส้นทางสำคัญระหว่างเชียงใหม่ไปเวียงกุมกามและลำพูน ในสมัยราชวงศ์มังราย (พ.ศ.1804 – 2101) ทั้งเชียงใหม่ กุมกามและลำพูนตั้งอยู่ด้านตะวันตกของแม่น้ำปิงเช่นเดียวกัน การเดินทางจึงไม่ต้องข้ามแม่น้ำปิง

“ประตูแสนปุง” ตั้งอยู่ด้านตะวันตกเฉียงใต้ใกล้กับประตูเชียงใหม่ คือเฉพาะกำแพงเมืองด้านใต้เท่านั้นที่มีสองประตู ประตูนี้สันนิษฐานอาจเจาะภายหลังคือไม่ได้สร้างพร้อมกับสร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.1839 อย่างไรก็ตามยังไม่พบหลักฐานที่กล่าวถึงการเจาะประตูนี้ หลักฐานตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวถึงประตูแสนปุงครั้งแรกสมัยมหาเทวีจิรประภา พ.ศ.2088 “…ชาวใต้มาปล่นเอาปะตูแสนปุง บ่ได้…” สันนิษฐานที่ชื่อ แสนปุง เพราะเป็นทางออกไปสู่บริเวณที่มีเตาปุง (เตาไฟ) มากมาย เพราะด้านนอกประตูเป็นที่อยู่ของกลุ่มช่างหลอมโลหะจึงมีเตาปุงไว้หลอมโลหะจำนวนมากเปรียบนับแสน ปัจจุบันยังมีบ้านช่างหล่อพระพุทธรูปอาศัยอยู่ และถนนเลียบคูเมืองด้านนี้ชื่อถนนช่างหล่อจากความเชื่อเรื่องทิศและพื้นที่ถือเป็นเขตกาลกิณีจึงกำหนดให้ประตูแสนปุงเป็นทางออกไปสุสาน

“ประตูสวนดอก” ตั้งอยู่ทิศตะวันตกประตูด้านนี้เป็นทางออกไปสู่อุทยานของกษัตริย์ สมัยพญากือนา พ.ศ.1914 ได้สร้างวัดบนพื้นที่อุทยานจึงเรียก วัดสวนดอก และในช่วงนั้นพญากือนาคงสร้างเวียงสวนดอกด้วย
นอกจากกำแพงเมืองชั้นในแล้ว เมืองเชียงใหม่ยังมีกำแพงเมืองชั้นนอกรูปพระจันทร์เสี้ยว หรือที่รู้จักชื่อ กำแพงดิน โอบล้อมไว้ เริ่มตั้งแต่แจ่งศรีภูมิด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือเลียบตามลำน้ำแม่ข่าลงมาด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ มาบรรจบกับกำแพงเมืองชั้นในที่แจ่งกูเฮือง บริเวณกำแพงเมืองเชียงใหม่ด้านนอกมีประตูเมืองสำคัญอยู่ 5 ประตู คือ ประตูช้างม่อย อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง ในอดีตถนนช้างม่อยเก่าเป็นเส้นทางโบราณผ่านหมู่บ้านเชียงเรือกไปวัดหนองหล่มแล้วไปสิ้นสุดที่ประตูช้างม่อย ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวถึงประตูช้างม่อยว่า สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2368 เมื่อบ้านเมืองขยายตัวทางราชการได้ตัดถนนช้างม่อยใหม่ขึ้น โดยเจาะกำแพงชั้นในให้ถนนราชวิถีจากในเวียงตัดตรงสู่ถนนช้างม่อยใหม่แล้วไปออกแม่น้ำปิง ดังนั้นชาวบ้านจึงเรียกประตูชั้นในที่เจาะใหม่ว่า ประตูช้างม่อย เพื่อแทนที่ประตูเดิมซึ่งถูกรื้อทิ้งไปในปี พ.ศ.2511

“ประตูท่าแพ” อยู่ด้านทิศตะวันออกของเมืองบริเวณหน้าวัดแสนฝาง ที่ชื่อท่าแพ เพราะเป็นทางออกสู่ท่าน้ำแม่ปิง ในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เรียกชื่อประตูนี้ว่า ประตูท่าแพชั้นนอก เพราะความเจริญเติบโตของเมืองชื่อของประตูท่าแพชั้นนอกจึงค่อยๆ หายไป ประตูท่าแพจึงเหลือเพียงประตูเดียว

“ประตูหล่ายแคง” หรือประตูระแกง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ พบหลักฐานในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวถึง ประตูนี้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2313 เมื่อกองทัพธนบุรียกมาล้อมเมืองเชียงใหม่ ที่ชื่อหล่ายแคง เพราะบริเวณริมคูเมืองมีลักษณะลาดเท ในสมัยต่อมาจึงเรียกเพี้ยนมาเป็น ประตูระแกง

“ประตูขัวก่อม” อยู่ทางทิศใต้ ปรากฏในหลักฐานโคลงมังทรารบเชียงใหม่ว่าสร้างขึ้นอย่างน้อยในปี พ.ศ.2158

“ประตูไหยา” หรือ หายยา อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวถึงประตูไหยาเป็นครั้งแรกว่า “พ.ศ.2270 เมื่อเทพสิงห์ยึดเมืองเชียงใหม่จากพม่าได้บุกเข้ามาทางประตูไหยา แต่ด้วยที่ตั้งของประตูไหยาอยู่ในทิศเดียวกับประตูแสนปุง เป็นตำแหน่งกาลกิณีเมือง จึงใช้เป็นทางเคลื่อนศพมาฌาปนกิจที่สุสานหายยามาตั้งแต่โบราณ

สำหรับสาเหตุที่ต้องสร้างกำแพงเมืองเชียงใหม่ชั้นนอกชึ้นเพื่อป้องกันกองทัพจากกรุงศรีอยุธยา ที่มักจะยกทัพมาคุกคามเมืองเชียงใหม่บ่อยครั้ง นับตั้งแต่ปลายรัชสมัยของราชวงศ์มังรายมาแล้ว ปัจจุบันแนวกำแพงและประตูเมืองทั้งด้านในและด้านนอกยังปรากฏหลักฐานให้เห็นอยู่ในบางช่วง ส่วนบริเวณแนวกำแพงเมืองด้านนอกนั้นถูกบุกรุกจากชาวบ้านเข้าไปสร้างบ้านเรือน จนทำให้แนวกำแพงดินพังทลายลง

เอกสารประกอบ

  1. สุรัสวดี อ๋องสกุล “ชุมชนโบราณในแอ่งเชียงใหม่ – ลำพูน”,2543
  2. “กำแพงเมืองเชียงใหม่” อนุสรณ์เนื่องในพิธีเปิดและฉลองประตูท่าแพ ,2529
  3. บุญเสริม สาตราภัย “ลานนาไทยในอดีต” 2522

ร่วมแสดงความคิดเห็น