วัดจอมสวรรค์ วัดพม่าในเมืองแพร่

งานศิลปกรรมของชาวแพร่นั้น ก็ดุจเดียวกับงานศิลปะล้านนาทั่วไป คือเป็นศิลปะล้านนาผสมกับศิลปะไทใหญ่ หรือ ศิลปะพม่า อันเนื่องมาจากการอยู่ใกล้ชิดติดกันของอาณาจักรล้านนาและพม่า ศิลปะพม่าสวยๆ ในเมืองนี้หาชมได้จากวัดสำคัญสองแห่งด้วยกันคือที่ วัดจอมสวรรค์และวัดสระบ่อแก้ว

เวียงโกศัย หรือ เมืองแพร่ เมืองในแวดล้อมของขุนเขาที่เป็นหนึ่งในหัวเมืองสำคัญของล้านนามาตั้งแต่อดีตกาล เรื่องราวของเมืองนี้มีทั้งตำนานและประวัติศาสตร์ที่ต่อเนื่องยาวนานน่าสนใจ ตลอดจนความมั่งคั่งทางด้านศิลปวัฒนธรรมที่เจริญก้าวหน้ามาหลายยุคหลายสมัย

บนพื้นฐานของความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ป่าเขาลำเนาไพร และทุ่งราบดูเหมือนว่าจะไม่มีวันหมดสิ้นไปจากพื้นแผ่นดินนี้ แม้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับร้อยปีที่เมืองแพร่ได้เผชิญศึกสงคราม ความเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมือง การกบฏและการปฏิวัติ แม้กระทั่งความรุนแรงจากการปกครองจากส่วนกลางและการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการค้า
ไม้สัก แต่คนเมืองแพร่ก็ยังคงยึดมั่นในความเป็นเมืองแห่งศาสนาและรักษาวัฒนธรรมของตนเองเอาไว้ไม่ขาดสาย

ความเป็นคนเมืองของชาวแพร่ยังไม่จางหายไป สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้สะท้อนออกมาในรูปธรรมที่สามารถมองเห็นและสัมผัสได้อย่างชัดเจน ผ่านงานศิลปกรรมบนศาสนสถานของพวกเขา

งานศิลปกรรมของชาวแพร่นั้น ก็ดุจเดียวกับงานศิลปะล้านนาทั่วไป คือเป็นศิลปะล้านนาผสมกับศิลปะไทใหญ่ หรือ ศิลปะพม่า อันเนื่องมาจากการอยู่ใกล้ชิดติดกันของอาณาจักรล้านนาและพม่า ศิลปะพม่าสวยๆ ในเมืองนี้หาชมได้จากวัดสำคัญสองแห่งด้วยกันคือที่ วัดจอมสวรรค์และวัดสระบ่อแก้ว โดยเฉพาะที่วัดจอมสวรรค์นั้น ศิลปะการก่อสร้างทั้งภายนอกและภายในยังคงลักษณะความเป็นวัดพม่าไว้อย่างชัดเจน ภายในพระอุโบสถปรากฏงานฝีมือการฉลุไม้และประดับกระจกซึ่งเป็นจุดเด่นที่สุดของศิลปะพม่า

นอกจากการฉลุไม้และประดับกระจกอันงดงามแล้ว ที่วัดจอมสวรรค์ยังเป็นที่เก็บรักษาคัมภีร์โบราณที่ทำจากงาช้าง โดยนำงาช้างมาบดละเอียดแล้วแผ่ออกเป็นแผ่น เป็นศิลปะวัตถุสำคัญคู่บ้านคู่เมืองแพร่

กล่าวถึงความสำคัญของวัดจอมสวรรค์ซึ่งได้รับการบอกเล่ามาจากพ่อลุงส่างละ หลานของพ่อเฒ่ากันตีว่า วัดนี้เป็นวัดโบราณสร้างมาตั้งแต่เมื่อใดและใครเป็นผู้สร้างไม่ปรากฏหลักฐาน แต่สันนิษฐานว่า ชาวไทใหญ่ (เงี้ยว) เป็นผู้สร้างเพราะสังเกตได้จากรูปแบบของสถาปัตยกรรมเป็นศิลปะแบบพุกาม ซึ่งพบเห็นได้ในจังหวัดต่างๆ ของภาคเหนือ
เช่น แม่ฮ่องสอน ลำปาง เชียงใหม่ อายุของวัดนี้น่าจะมีอายุไม่ตํ่ากว่า 150 ปี

แต่จากหลักฐานภาพถ่ายโบราณของนายจองนั่นตา (เฮดแมนอังกฤษ) ระบุว่า จองนั่นตาได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2479 รวมอายุได้ 66 ปี ทำให้ทราบว่านายจองนั่นตาเกิดในปี พ.ศ.2413 นายจองนั่นตามีภูมิลำเนาเดิมอยู่ทางเหนือของพม่าเคยคลุกคลีกับชาวอังกฤษมาก่อน ต่อมาท่านได้ย้ายเข้ามาค้าขายที่เมืองแพร่จนรํ่ารวย ท่านจึงคิดที่จะสร้างวัดไว้เป็นอนุสรณ์ ขณะเดียวกันชาวเงี้ยวในเมืองแพร่ก็คิดที่จะสร้างถาวรวัตถุให้กับพุทธศาสนาเหมือนกัน นายจองนั่นตา จึงได้ร่วมกับชาวเงี้ยวบูรณะวัดจอมสรรค์ขึ้น

เดิมทีวัดจอมสวรรค์เป็นวัดที่อยู่ในป่ารกร้าง มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นหนาทึบและมีลำคลองตัดผ่าน ในสมัยนั้นบริเวณแห่งนี้ยังไม่มีหมู่บ้าน กระทั่งพ่อเฒ่ากันตีและนายฮ้อยคำมาก สองพ่อค้าเงี้ยวได้อพยพครอบครัวเข้ามาอาศัยอยู่ในป่าใกล้บริเวณที่ตั้งของวัดจอมสวรรค์ พ่อค้าทั้งสองเมื่อได้เห็นวัดร้างซึ่งมีศิลปะแบบพม่าจึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธา ได้ทำการบูรณะซ่อมแซมตกแต่งลวดลายต่าง ๆ ให้สวยงาม ว่ากันว่าได้รับแรงสนับสนุนจากชาวเงี้ยวที่อพยพติดตามมากับพ่อเฒ่ากันตีและนายฮ้อยคำมาก ในเวลาต่อมาชาวเงี้ยวได้เริ่มอพยพเข้ามาอาศัยอยู่บริเวณรอบวัดจอมสวรรค์เป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นหมู่บ้านใหญ่ เรียกว่า “หมู่บ้านใหม่” (ในยุคของเจ้าหลวงพิมพิสาร เจ้าผู้ครองนครแพร่ ปี พ.ศ.2415)

วัดจอมสวรรค์ เป็นโบราณสถานสำคัญของเมืองแพร่ วัดนี้พิเศษตรงที่ว่าวัดทั้งวัดมีเพียงอุโบสถไม้หลังเดียว ซึ่งเป็นทั้งโบสถวิหารและกุฏิไปในตัว จุดเด่นของอุโบสถอยู่ที่ลวดลายการฉลุไม้และการประดับกระจกสีบริเวณเพดาน ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธานปางคันธราฐศิลปะพม่า นอกจากนั้นยังมีพระพุทธรูปที่ทำจากไม้ไผ่สานทั้งองค์ลงรักปิดทอง ศิลปะแบบพม่า พระพุทธรูปองค์นี้ถือว่าเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญองค์หนึ่งที่ชาวแพร่ให้ความเคารพศรัทธาเป็นจำนวนมาก

ใกล้กับอุโบสถมีเจดีย์แบบพม่าคล้ายยอดพระปรางค์วัดเจ็ดยอด เชียงใหม่ ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ทำการขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดจอมสวรรค์ไว้เป็นสมบัติของชาติเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2527 สำหรับผู้ที่สนใจ หากมีโอกาสเดินทางไปเยือนจังหวัดแพร่ลองแวะเข้าไปชมความงามของศิลปกรรมพม่าที่วัดจอมสวรรค์ ซึ่งเหลืออยู่เพียงวัดเดียวในเมืองแพร่

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น