“สถานีรถไฟเชียงใหม่” สุดท้ายปลายรางแห่งภาคเหนือ

การสร้างเส้นทางรถไฟสายเหนือ เริ่มต้นมีการสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2448 เมื่อทางราชการได้เริ่มลงมือสำรวจ เพื่อสร้างทางรถไฟสายเหนือขึ้น โดยมีวิศวกรชาวเยอรมันชื่อ มิสเตอร์ อี. ไอเซ็นโฮเฟอร์ ซึ่งเข้ามารับราชการในกรมรถไฟหลวงเมื่อปลาย รัชกาลที่ 5

ทางรถไฟสายเหนือ สร้างจาก กทม.ขึ้นมาจนถึงลำปางก็ต้องหยุดชะงัก เนื่องจากภูมิประเทศในแถบนี้ เป็นภูเขาสูงและมีเหวลึก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้การสร้างทางรถไฟ ต่อจากลำปางมาถึงเชียงใหม่ต้องล่าช้าออกไป อุปสรรคอันใหญ่หลวงของการสร้างทาง ระหว่างลำปางมาเชียงใหม่ก็คือ จะต้องทำการขุดเจาะภูเขาขุนตาน ซึ่งอยู่บนสันเขาผีปันน้ำ เขตรอยต่อระหว่าง จ.ลำปาง กับ จ.ลำพูน

การสำรวจและขุดเจาะถ้ำขุนตาน ใช้เวลาถึง 11 ปีจึงแล้วเสร็จ งานขุดเจาะเริ่มตั้งแต่ ปี 2450 แล้วเสร็จใน ปี 2461 โดยขุดเจาะจากภายนอกทั้งสองด้าน เข้าไปบรรจบกันตรงกลาง ใช้ช่างชาวเยอรมันกว่า 250 คน กรรมกรชาวจีน อีสานและคนเมืองอีกหลายพันคน ในการก่อสร้างอุโมงค์ขุนตาน คนงานต้องพบกับอุปสรรคมากมาย มีกรรมกรชาวจีนจำนวนมากล้มตายลงที่นี่ด้วยโรคอหิวาต์และไข้มาลาเรีย ทั้งโรคภัยไข้เจ็บ รวมถึงปัญหาเสือคาบคนงานไปกิน แม้แต่นายช่างชาวเยอรมัน ก็เคยถูกเสือที่เข้าไปหลบซ่อนอยู่ในอุโมงค์ ทำร้ายบาดเจ็บมาแล้ว ส่วนงานเจาะภายในอุโมงค์นั้นใช้กรรมกรชาวอีสานกับคนพื้นเมือง เนื่องจากชาวจีนไม่ยอมทำงานในอุโมงค์ เพราะพวกเขาถือว่าในอุโมงค์ เป็นที่สิงสถิตย์ของภูติผีปีศาจ

เมื่อเริ่มทำการขุดเจาะอุโมงค์ขุนตานได้ไม่นาน ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 เสียก่อน มิสเตอร์ อี. ไอเซ็นโฮเฟอร์ ถูกจับตัวเป็นเชลยศึกในฐานะชนชาติศัตรู ถูกขังในเมืองไทยนาน 6 เดือน แล้วถูกส่งต่อไปยังประเทศอินเดีย อีก 2 ปี จากนั้นจึงถูกส่งกลับประเทศเยอรมัน ในปี พ.ศ.2463 ต่อมาในปี พ.ศ.2472 ท่านได้กลับมาเมืองไทยอีกครั้ง และพำนักอยู่ในเมืองไทย จนถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2505 จึงเสียชีวิต

ภายหลังการขุดเจาะอุโมงค์ที่ถ้ำขุนตานแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ.2461 นับเป็นการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจที่สำคัญของเชียงใหม่ ลำพูนเป็นเสมือนการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งจากความต้องการไม้สักของบริษัททำไม้อังกฤษ (บริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า) นอกจากนี้ ทางรถไฟดังกล่าวยังเป็นเส้นทางลำเลียงไม้สัก ข้าวและถ่านหุงต้มในเขตภาคเหนือ ไปยังตลาดภาคกลางได้สะดวกขึ้น

หลังจากที่ทางรถไฟสายเหนือสร้างมาถึงเชียงใหม่ ทำให้การเดินทางจาก กทม.ขึ้นมาเชียงใหม่ใช้เวลาไม่นานเหมือนแต่ก่อน ผู้คนจำนวนมากหันมาใช้บริการของรถไฟ จึงทำให้แต่ละขบวนแออัดไปด้วยผู้โดยสาร จนบางครั้งต้องออก แรงปีนขึ้นไปนั่งบนหลังคาก็มี หลังจากนั้นทางมณฑลพายัพ จึงได้สร้างสถานีรถไฟประจำเชียงใหม่ขึ้น ชาวบ้านเรียกสถานีนี้ว่า “สถานีปายราง” หมายถึงที่สิ้นสุดของรางรถไฟ หลังการก่อสร้างสถานีรถไฟเชียงใหม่เสร็จ ก็ได้มีพิธีเปิดทำการเดินรถไฟสายเหนือขึ้น เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2464 จนถึงปัจจุบันนับได้ 88 ปี
สถานีรถไฟเชียงใหม่ที่เห็นในปัจจุบัน นับเป็นอาคารหลังที่ 2 ซึ่งอาคารหลังแรกสร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.2464 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตร ได้ทิ้งระเบิดทำลายสถานีรถไฟเชียงใหม่จนพังพินาศ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2486 หลังจากที่สถานีรถไฟถูกระเบิด ทางราชการต้องประกาศงดใช้สถานีแห่งนี้ไปหลายปี ผู้โดยสารที่เดินทางโดยรถไฟต้องขึ้นลงที่สถานีป่าเส้า จ.ลำพูนแทน ต่อมาเมื่อสงครามสงบลงจึงได้มีการสร้างสถานีรถไฟขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นอาคารที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น