รัฐมนตรีสาธารณรัฐเซเชลส์ เยี่ยมชมองค์การสวนพฤกษศาสตร์

 


H.E.Mr. Etienne Didier Cesar Dogley รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม พลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเซเชลส์ H.E.Mr. Maurice Jean Leonard Loustau-Lalanne รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และ Mr. Raymond Antoine Brioche ผู้อำนวยการสวนพฤกษศาสตร์เซเชลส์ ให้เกียรติเข้าเยี่ยมชมงานด้านพฤกษศาสตร์และการอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุ์พืช ณ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทั้ง หารือความร่วมมือทางวิชาการระหว่างองค์การสวนพฤกษศาสตร์และ สวนพฤกษศาสตร์เซเชลส์ โดยการสนับสนุนจาก กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมการต่างประเทศ

ทั้งนี้ รศ.ดร.ธนิต ธงทอง กรรมการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ ดร.ปิยเกษตร สุขสถาน รักษาการรองผู้อำนวยการองค์การสวนพฤกษศาสตร์พร้อมด้วย ผู้บริหาร นักวิชาการ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ให้การต้อนรับ โอกาสนี้ H.E.Mr. Etienne Didier Cesar Dogley รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม พลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเซเชลส์ ได้มอบ มะพร้าวแฝด (Coco de Mer) พืชหายากของโลก พบเฉพาะประเทศสาธารณรัฐเซเชลส์ ให้แก่องค์การสวนพฤกษศาสตร์ เพื่อเพาะขยายพันธุ์และอนุรักษ์พืชท้องถิ่นของเซเชลส์ในประเทศไทย ภายในพื้นที่ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จังหวัดเชียงใหม่


ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสถานเอกอัครราชทูต (สอท.) ณ กรุงไนโรบีได้ร่วมกับองค์การสวนพฤกษศาสตร์ (อ.ส.พ.) ดำเนินงานโครงการจัดตั้ง Thai Corner ในสวนพฤกษศาสตร์เซเชลส์ เพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับเซเชลส์ ครบรอบ 25 ปี ในปี 2556 โดยใช้งบประมาณของ สอท. ซึ่งได้ดำเนินการจัดปรับปรุงพื้นที่ในสวนพฤกษศาสตร์เซเชลส์เพื่อจัดแสดงพันธุ์ไม้ของไทยกลุ่มกล้วยไม้และเฟิร์น พืชผักสวนครัว ไม้เขตร้อนอื่นๆ และจัดตั้งห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพร้อมทั้งมอบเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้เซเชลส์ โดยได้ดำเนินการลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสวนพฤกษศาสตร์เซเชลล์และองค์การสวนพฤกษศาสตร์เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2556 และมีพิธีเปิดสวน Thai Corner ณ สวนพฤกษศาสตร์เซเชลส์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557

โดยสวนพรรณไม้ไทยในสวนพฤกษศาสตร์ฯ เซเชลส์ ประกอบไปด้วยเส้นทางไม้ดอกหอม พืชสมุนไพรและเครื่องเทศ และมุมจัดแสดงกล้วยไม้ที่มีการกระจายพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ว่านเพชรหึง และกล้วยไม้ลูกผสมหลากหลายสายพันธุ์ สำหรับห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (Tissue Culture Laboratory) นั้น องค์การสวนพฤกษศาสตร์ได้ส่งทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญไปดำเนินการจัดตั้งให้ โดยใช้ครุภัณฑ์และอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่ผลิตในประเทศไทยทั้งสิ้น ถือเป็นห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแห่งแรกและแห่งเดียวในสาธารณรัฐเซเชลส์ ที่จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยเพาะขยายพันธุ์และอนุรักษ์พืชท้องถิ่นของเซเชลส์ต่อไป นอกจากนี้สวนพรรณไม้ไทยในเซเชลส์ จะเป็นแหล่งที่ชาวเซเชลส์และนักท่องเที่ยวต่างชาติได้มีโอกาสสัมผัสและรู้จักพรรณไม้ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างใกล้ชิด สัญลักษณ์ที่ถูกนำมาใช้แสดงความร่วมมือของทั้งสองประเทศ เป็นรูปช้างไทยในมะพร้าวแฝด ที่ถูกตกแต่งด้วยไม้ประดับอย่างสวยงามอยู่บนเนิน Mont Fleuri ที่ผู้สัญจรไปมามองเห็นได้อย่างชัดเจน ชาวเซเชลส์ได้ตั้งชื่อให้กับสัญลักษณ์นี้ว่า “El-Coco” ย่อมาจาก Elephant – Coco de Mer ซึ่งจะเป็นตัวแทนของมิตรภาพอันยั่งยืนของสวนพฤกษศาสตร์ทั้งสองประเทศสืบไป.

ร่วมแสดงความคิดเห็น