อดีตร้านค้ายุครุ่งเรืองของเมืองลำพูน

ในสมัยหริภุญชัย จุดศูนย์กลางในการพบปะแลกเปลี่ยนสิ่งของบริเวณใกล้ข่วงเจ้าฮั้งเมืองคือตลาดกลางเวียงเรียกว่า “กาดลี” อยู่ในเขตมณีแก้วและเขตขุนคลังแก้ว คือตั้งแต่แนวถนนรถแก้ว ถนนแว่นคำและถนนมุกดา โดยมีประตูท่าสิงห์และประตูมหาวันเป็นทางเข้าเวียงของพ่อค้าที่นำสินค้าจากท่านํ้าฝั่งปิง (นํ้าแม่กวง) เดิมคือ กาดของลัวะมาตลอดตั้งแต่สมัยราชวงศ์มัง

สมัยเจ้าเจ็ดตน ชาวไตลื้อเมืองยองที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตชุมชนต่างๆ ของลำพูน เช่น ที่บ้านเวียงยอง บ้านฉางข้าวน้อย บ้านหนองเงือก บ้านป่าซาง ชุมชนในเขตทางตอนใต้และทางตะวันตกเมื่อเก็บเกี่ยวข้าว ยาสูบ ครั่ง ได้จำนวนมากก็มีการนำช้าง วัว ควาย ขนข้าวกลับไปในตัวเมืองลำพูน โดยเข้าทางประตูมหาวัน รวมทั้งมีสินค้าที่ส่งมาจากเมืองเมาะตะมะประเทศพม่าโดยเข้ามาทางเมืองระแหง (ตาก) และสินค้าทางบกจากเมืองต่างๆ ในรัฐฉาน สิบสองปันนา หลวงพระบาง การค้าขายในยุคแรกนั้นจึงมีเพียงพ่อค้าจีนฮ่อ พ่อค้าชาวไทใหญ่ ชาวพม่าและชาวตองสู่ใช้เส้นทางนี้นำสินค้าเข้ามาขายในเมืองลำพูน

นอกจากนั้นก็ยังมีสินค้าจากพ่อค้าจีนที่นำสินค้าส่งมาขายจากกรุงเทพฯ – อยุธยาถึงปากนํ้าโพ มาถึงเมืองตากผ่านป่าซาง ปากบ่อง สบทา ลำพูนและไปสิ้นสุดที่เชียงใหม่ ป่าซางจึงเป็นศูนย์กลางการค้าผ้าทางนํ้าที่สำคัญควบคู่กับสันกำแพงที่เป็นศูนย์กลางการค้าทางบก ในปี พ.ศ.2444 มีพ่อค้าสัตว์ต่างชาวไทใหญ่และพ่อค้าชาวจีนมาตั้งร้านค้าในแถบหมู่บ้านชาวยองที่เป็นชุมชนการค้าที่สำคัญบนฝั่งแม่นํ้าปิงและแม่นํ้าทา ที่บ้านปากบ่อง และบ้านสังฆน้อย (ฉางข้าวน้อย) โดยสินค้าที่นำมาขายเป็นสินค้าที่ขึ้นท่าเรือบ้านปากบ่องที่มาจากกรุงเทพฯ และเมืองเมาะตะมะ

ดังนั้นตลาดป่าซางจึงเป็นศูนย์กลางการค้าทางเรือในอดีตที่มีความรุ่งเรืองมาก่อน โดยมีตลาด หรือ กาด ที่สำคัญคือ กาดบ้านป่าซาง เป็นเส้นทางค้าขายของพ่อค้าเงี้ยวและจีนฮ่อทางขบวนวัวต่างและล่อ ร้านค้าส่วนมากเป็นของพ่อค้าชาวจีน ส่วนไตลื้อเมืองยองนั้นไม่นิยมการค้าขายแต่ต่อมาได้ร่วมมือกับชาวไทใหญ่และชาวจีนในการผลิตผ้าและค้าขายผ้าในแถบป่าซาง ซึ่งต่อมากลายเป็นต้นตระกูลค้าผ้าที่สำคัญได้แก่ ตระกูลนันทขว้าง ตระกูลอังกะสิทธิ์ และพ่อค้าชาวจีน เช่น ตระกูลอุนจะนำ ตระกูลเหลี่ยว เป็นต้น กาดบ้านปากบ่อง ก็เป็นตลาดที่สำคัญของพ่อค้าเงี้ยวและชาวจีนแต้จิ๋วที่บรรทุกสินค้ามาจากกรุงเทพฯ การค้าขายของกาดบ้านปากบ่องส่วนมากเป็นของพ่อค้าชาวพม่า ตองสู่ ไทใหญ่และคนจีน ส่วนคนไตยวนและไตลื้อเมืองยองนั้นไม่นิยมการค้าขาย ในเวลานั้นมีชาวจีนแต้จิ๋วอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่กาดบ้านปากบ่องเป็นจำนวนมาก ก่อนที่จะย้ายไปค้าขายในเชียงใหม่

ปี พ.ศ.2399 – 2413 มีพ่อค้าชาวจีนแต้จิ๋วขึ้นมาจากภาคกลางเข้ามาอยู่ในเชียงใหม่ในยุคแรก ได้แก่ ตระกูลฉั่ว (หลวงอนุสานสุนทร -ชุติมาและนิมมานเหมินท์) ตระกูลกิติบุตร (หลวงนิกรจีนกิจ) ซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นตระกูลผู้บุกเบิกการค้าของเมืองเชียงใหม่ให้เฟื่องฟูมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากตลาดป่าซางจะเป็นศูนย์กลางการค้าของเมืองลำพูนในยุคเริ่มต้นแล้ว ยังได้ขยายเข้าสู่ตัวเมืองลำพูน โดยเฉพาะกาดลี ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าที่สำคัญของลำพูน คือบริเวณตลาดกลางเมืองเป็นจุดสำคัญของการค้าขายมาตั้งแต่อดีต คือบริเวณลานจอดรถหลังห้างสรรพสินค้าแจ่มฟ้าพลาซ่า ก่อนที่จะย้ายไปเป็นตลาดสดหนองดอก

การค้าของเมืองลำพูนในยุคต่อมาได้ขยายไปสู่ชุมชนต่างๆ มีร้านค้าน้อยใหญ่เกิดขึ้นมากมายทั้งที่เป็นเพิงไม้ขายของที่สร้างแยกออกมาบริเวณหน้าเรือนใหญ่ ซึ่งพบได้ทั่วไปในย่านการค้าเก่าแก่ทั้งสามแห่งคือ ในเมืองลำพูน บ้านปากบ่อง บ้านป่าซาง นอกจากนั้นยังขยายตัวไปยังชุมชนหนองเส้ง ชุมชนหน้าสถานีรถไฟ ส่วนใหญ่เป็นร้านค้าไม้แบบชั้นเดียวที่มีหน้าที่เป็นร้านค้าและที่อยู่อาศัยในหลังเดียวกัน เรือนร้านค้าเหล่านี้จะสร้างเป็นหลังเล็กๆ 3 คูหาติดกันและแยกทางเข้าส่วนค้าขายกับส่วนที่อยู่อาศัย เจ้าของส่วนใหญ่จะเป็นชาวพม่า ตองสู่ เงี้ยว จีน

พ่อค้าชาวจีนมีส่วนทำให้เกิดงานสถาปัตยกรรมด้านการค้าที่สวยงามมาจนถึงปัจจุบัน เช่น ในพื้นที่เมืองลำพูน ป่าซางและปากบ่อง อาคารพาณิชย์ของชาวจีนในยุคนี้มีสถาปัตยกรรมแบบเรียบง่าย เป็นอาคารไม้และอาคารครึ่งตึกผสมไม้หรือก่ออิฐฉาบปูนมีทั้งชั้นเดียวและสองชั้น เป็นอาคารที่มีหลังคาทรงมนิลา เป็นพัฒนาการของสถาปัตยกรรมอาคารพาณิชย์ขนาดเล็กในลักษณะเรือนแถวที่เรียกว่า “เรือนแป” ที่สามารถค้าขายได้มากที่สุดโดยนำเอาความเรียบง่ายของเรือนร้านค้าชาวท้องถิ่นมาดัดแปลงร่วมกับอาคารพาณิชย์ของชาวจีน

ส่วนเรือนพาณิชย์สองชั้น เป็นโครงสร้างไม้และฝาไม้กระดาน ประตูหน้าต่างมีการตกแต่งด้วยการตีไม้ทางนอนหรือเอียง 45 องศา ประดับลวดลายฉลุ หลังคามีทรงจั่วผสมปั้นหยา เรือนแปหลังคาแบบปั้นหยาจะพบมากในเขตเมืองและตลาด ส่วนใหญ่สร้างติดต่อกันอย่างน้อย 3 คูหา ดังนั้นเรือนร้านค้าจึงมีลักษณะที่แข็งแรง มีรูปแบบเฉพาะของสถาปัตยกรรมท้องถิ่นที่เรียกอีกชื่อว่า “เรือนพาณิชย์สะระไน”

เมื่อเส้นทางรถไฟถูกตัดผ่านเทือกเขาขุนตานในปี พ.ศ.2463 เข้าสู่ลำพูน เส้นทางบกและทางนํ้าจึงลดความสำคัญลงไป ทำให้ย่านการค้าเปลี่ยนไป ในยุคหลังจากทางรถไฟสร้างเร็จการค้าขายทางแถบท่าเรือบ้านปากบ่องได้ซับเซาลง เพราะรถไฟสามารถขนถ่ายสินค้าได้คราวละมากๆ และเดินทางได้รวดเร็วปลอดภัย

ต่อมามีอาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เกิดขึ้นมากมายในย่านการค้าเดิม เนื่องจากที่ดินในเมืองมีราคาแพง เรือนร้านค้าในเมืองที่สร้างโดยช่างชาวจีนที่มีฝีมือเป็นที่ยอมรับกันว่าละเอียดประณีต ในระยะหลังจึงได้มีการสร้างอาคารคอนกรีตก่ออิฐฉาบปูนมีทั้งชั้นเดียวและสองชั้นเรียกว่า “ตึกแถว” เป็นอาคารพาณิชย์คอนกรีตที่ทันสมัยมีหลากหลายรูปแบบ ในยุคแรกของตึกแถวเป็นพัฒนาการของมาตรฐานการก่อสร้าง ใช้ศิลาแลง อิฐ อิฐบล็อกและคอนกรีต ซึ่งมีความแข็งแรงมั่นคง ลักษณะอาคารพาณิชย์ในเมืองลำพูนช่วงระหว่างปี พ.ศ.2510-2540 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 2-4 ชั้น กว้างคูหาละ 3-4 เมตร ยาวตลอดอาคารประมาณ 12 เมตร ด้านหลังจะมีพื้นที่ว่างประมาณ 2 เมตร รูปแบบได้รับอิทธิพลมาจากเชียงใหม่ในการกำหนดรูปแบบจากผู้ออกแบบและผู้รับเหมา

ปัจจุบันเมื่อความเจริญรุดหน้าเข้ามายังเมืองลำพูนมากขึ้น อาคารสมัยใหม่จึงผุดขึ้นแทนที่อาคารพาณิชย์เหล่านี้ ดังเช่นอาคารพาณิชย์บนถนนวังซ้าย จากเพิงไม้ชั้นเดียวอายุกว่า 60 ปีกลายเป็นอาคารพาณิชย์ 3 ชั้นเรียงรายตลอดแนวถนนเพื่อรองรับการขยายตัวด้านการค้าของเมือง ขณะที่ในพื้นที่รอบนอกของเมืองยังปรากฏอาคารร้านค้าเก่าแก่ตั้งแต่ยุดรุ่งเรืองของการค้าให้เห็นอยู่

และนี่อาจเป็นสองสิ่งที่อยู่คู่กันระหว่าง “อดีต” กับ “อนาคต” ในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงของสังคมเมืองลำพูน

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น