ตั้งโต๊ะเจรจา เปิดประตูค้าเสรีไทย-ปากีสถาน

ไทย-ปากีสถาน ตั้งโต๊ะประชุมเจรจาความตกลงการค้าเสรีรอบที่ 6 ลุยหารือเกี่ยวกับรูปแบบการเปิดตลาดสินค้า การแลกเปลี่ยนข้อมูลตามมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีและแลกเปลี่ยนรายการสินค้าที่จะเปิดตลาดระหว่างกัน พร้อมตั้งเป้าจะเปิดตลาดระหว่างกันไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมด พร้อมเร่งเจรจาแล้วเสร็จภายในกลางปีนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มโอกาสในการลงทุนของทั้งสองประเทศและนักลงทุนจากต่างประเทศ

นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หัวหน้าผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมการเจรจา FTA ไทย-ปากีสถาน ครั้งที่ 6 เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17-18 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดกาประชุมเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-ปากีสถาน ครั้งที่ 6 ณ ประเทศปากีสถาน ซึ่งการเจรจารอบนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับรูปแบบการเปิดตลาดสินค้า การแลกเปลี่ยนข้อมูลตามมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีและแลกเปลี่ยนรายการสินค้าที่จะเปิดตลาดระหว่างกันโ ดยทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าจะเปิดตลาดระหว่างกันไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมด นอกจากนั้น ยังสามารถสรุปผลการหารือในส่วนของข้อบทได้เกือบทุกข้อบทแล้ว ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้เร่งสรุปผลการเจรจาให้แล้วเสร็จภายในกลางปีนี้ เพื่อให้มีผลใช้บังคับภายในปลายปีนี้ โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเจรจาครั้งต่อไปในเดือนมีนาคม 2560

นางสาวสุนันทา กล่าวว่า โดยการจัดทำ FTA ไทย-ปากีสถาน จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทั้งสองประเทศทั้งด้านการค้าและการลงทุน เนื่องจาก เป็นการขจัดอุปสรรคทางการค้าทั้งในรูปภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี เป็นการเพิ่มโอกาสการนำเข้าโดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบ โดยปากีสถานยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์และมีค่าเป็นจำนวนมาก การส่งออกสินค้าของไทยไปประเทศปากีสถานและประเทศใกล้เคียงในภูมิภาค เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มโอกาสในการลงทุนของทั้งสองประเทศและนักลงทุนจากต่างประเทศ

รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ประเทศไทยและปากีสถานตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ โดยปากีสถานมีที่ตั้งที่สามารถเป็นแหล่งการลงทุนและกระจายสินค้าสำหรับประเทศไทยไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และเอเชียกลาง ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจ ในทางกลับกัน ประเทศไทยก็ตั้งอยู่ตรงกลางของประเทศในกลุ่มอาเซียน และสามารถเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าและแหล่งลงทุนแห่งใหม่ให้แก่ปากีสถานได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ไทยและปากีสถานยังคงมีลู่ทางขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกันอย่างมากทั้งนี้ ในปัจจุบัน ก็มีนักลงทุนไทย ได้แก่ บริษัทสยามซีเมนต์ บริษัทไทยยูรีเทน เคมีคัลอินดัสเตรียล บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี. ปากีสถาน) ได้เข้าไปลงทุนในปากีสถานแล้ว

นางสาวสุนันทา กล่าวต่อไปอีกว่า ทั้งนี้จากข้อมูลในปี 2558 ปากีสถานเป็นคู่ค้าอันดับที่ 42 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียใต้รองจากอินเดีย การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 1,032.86 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 1.76 การส่งออกมีมูลค่า 913.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 4.38การนำเข้ามีมูลค่า 119.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 14.62 ทั้งนี้ การค้าระหว่างไทยกับปากีสถานในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2554-2558) มีมูลค่าเฉลี่ย 1,016.95 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการขยายตัวลดลงเฉลี่ย 44.96 ต่อปี และมีสัดส่วนการค้าเฉลี่ยร้อยละ 0.23 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามาโดยตลอด

ซึ่งสินค้าส่งออกที่มีศักยภาพของปากีสถานเช่น สิ่งทอ (เครื่องนุ่งห่ม ผ้าลินิน ผ้าฝ้าย เสื้อผ้าสำเร็จรูป) เครื่องหนัง ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกีฬา เคมีภัณฑ์ พรม เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าที่มีศักยภาพของปากีสถาน เช่น น้ำมันปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องจักร พลาสติก อุปกรณ์เพื่อการขนส่ง น้ำมันพืช เหล็กและเหล็กกล้า เป็นต้น สำหรับ FTA ที่ปากีสถานมีในปัจจุบันได้แก่ FTA กับประเทศจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ศรีลังกา และมอริเชียส และอยู่ระหว่างการเจรจาความตกลงทางการค้ากับไทย ตุรกี และเกาหลีใต้ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น