การบุกรุกโบราณสถาน-กำแพงเมือง แนวทางการจัดการโดยรัฐและชุมชนท้องถิ่น

“แหล่งชุมชนและเมืองโบราณที่มีผู้คนอาศัยอยู่ใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องยาวนานมักมีการปรับปรุงแก้ไข เปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพของกำแพงเมืองคูเมืองให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา เมืองโบราณที่เป็นหัวเมืองสำคัญๆหลายแห่งมีการก่อสร้างและปรับปรุงกำแพงเมืองโดยการก่อสร้างกำแพงอิฐทับลงบนสันกำแพงดินเดิม สร้างป้อมตามมุมเมืองและสร้างประตูเมืองให้มั่นคงแข็งแรง หรือไม่ก็ดัดแปลงแนวกำแพงคูเมืองเพื่อวัตถุประสงค์ในการระบายน้ำหรือการชลประทาน ประโยชน์ใช้สอยของคูเมืองกำแงพเมืองในปัจจุบันจึงเปลี่ยนไปจากสมัยล้านนาอย่างสิ้นเชิง”

แผ่นดินล้านนาแม้จะไม่มีที่ราบกว้างใหญ่ไพศาลเหมือนกับในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ตามแอ่งและหุบในลุ่มน้ำต่างๆก็มีหลักฐานชุมชนและเมืองโบราณที่มีคูเมืองกำแพงเมืองล้อมรอบกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป แหล่งโบราณสถานเหล่านี้บางแห่งก็ถูกใช้ประโยชน์เพียงชั่วระยะเวลาสั้นไม่กี่สิบปี บางแห่งก็เป็นร้อยปี จึงถูกทิ้งรกร้างไป แต่มีโบราณสถานจำนวนไม่น้อยที่สร้างมาก่อนสมัยล้านนาและใช้ประโยชน์ต่อเนื่องกันมายาวนานจนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลาหลายร้อยปีหรือมากกว่าพันปี เช่น เมืองเชียงใหม่ เมืองเชียงราย เมืองฝาง เมืองลำปาง เมืองหริภุญชัย เวียงกุมกาม เป็นต้น

แหล่งชุมชนและเมืองโบราณที่มีผู้คนอาศัยอยู่ใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องยาวนานมักมีการปรับปรุงแก้ไข เปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพของกำแพงเมืองคูเมืองให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา เมืองโบราณที่เป็นหัวเมืองสำคัญๆ หลายแห่งมีการก่อสร้างและปรับปรุงกำแพงเมืองโดยการก่อสร้างกำแพงอิฐทับลงบนสันกำแพงดินเดิม สร้างป้อมตามมุมเมืองและสร้างประตูเมืองให้มั่นคงแข็งแรง หรือไม่ก็ดัดแปลงแนวกำแพงคูเมืองเพื่อวัตถุประสงค์ในการระบายน้ำหรือการชลประทาน ประโยชน์ใช้สอยของคูเมืองกำแงพเมืองในปัจจุบันจึงเปลี่ยนไปจากสมัยล้านนาอย่างสิ้นเชิง

กำแพงเมืองคูเมืองที่มีอยู่จึงมิได้เป็นปราการป้องกันข้าศึกที่จะต้องทะนุบำรุงรักษาให้มั่นคงแข็งแรงอีกต่อไปแล้ว ในสายตาและการรับรู้ของคนทั่วไปจึงเป็นแค่เพียงวัตถุหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่พอจะยืนยันถึงความเจริญของบ้านเมืองและชุมชนในอดีตเพียงเท่านั้น ดังนั้นในระยะ 40 – 50 ปีที่ผ่านมาผู้ปกครองในหลายๆ จังหวัดจึงได้ดัดแปลงและไถปรับแนวกำแพงเมืองไปสร้างถนน หรือไม่ก็รื้อกำแพงเมืองที่เป็นอิฐลงเพื่อเอาวัสดุไปใช้ก่อสร้างสิ่งสาธารณูปการอย่างอื่น นอกจากนั้นกำแพงเมืองและคูเมืองของชุมชนโบราณต่างๆ ในล้านนายังถูกบุกรุกทำลายลงด้วยกิจกรรมของคนสมัยปัจจุบัน ทั้งที่เป็นกิจกรรมของส่วนราชการและเอกชน

ปัจจุบันการศึกษาชุมชนและเมืองโบราณยังอยู่ในขอบเขตที่จำกัด แม้ว่าจะมีการสำรวจพบแหล่งชุมชนและเมืองโบราณเป็นจำนวนกว่า 200 แห่งแล้วก็ตาม แต่การขุดค้นศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของแหล่งโบราณสถานต่างๆ ยังดำเนินการได้ในขอบเขตที่จำกัด ทั้งเรื่องงบประมาณและข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งโบราณสถานนั้นๆ มีโบราณสถานและชุมชนอีกมากมายที่เรายังไม่ทราบประวัติและอายุสมัยการก่อสร้าง รวมถึงการใช้งานที่แท้จริงและยังไม่สามารถพิสูจน์หาข้อยุติได้ว่าชื่อเมืองต่างๆ ที่เรียกกันอยู่ในปัจจุบันนั้นตรงกับชื่อเมืองในหลักฐานเอกสาร ตำนานหรือพงศาวดารหรือไม่ ปัญหาตรงส่วนนี้นอกจากจะทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่องและความไม่ชัดเจนในการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและประวัติศาสตร์ประเทศชาติโดยรวมแล้ว บางครั้งยังก่อให้เกิดความเข้าใจที่ผิดและอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมได้ง่ายอีกด้วย

แม้ว่าปัญหาทางด้านวิชาการที่ดูเหมือนว่าเป็นปัญหาที่ไม่เร่งด่วนและไม่สามารถส่งผล กระทบร้ายแรงมากนักเมื่อเทียบกับปัญหาด้านอื่นๆ แต่เรื่องความรู้และข้อเท็จจริงในทางวิชาการก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดความกระจ่างในประวัติศาสตร์และความสำคัญที่แท้จริงของชุมชนและเมืองโบราณที่มีอยู่ แนวทางในการแก้ไขปัญหาทางวิชาการก็คือ จะต้องดำเนินการสำรวจ ขุดค้นศึกษาเรื่องราวเพื่อการกำหนดอายุสมัยการสร้างกำแพงเมืองคูเมือง รวมถึงการศึกษาพัฒนาการอยู่อาศัยและการใช้ประโยชน์แหล่งต่างๆ ทั้งหมดตามกระบวนการทางด้านโบราณคดี ซึ่งในทางปฏิบัติอาจ ต้องใช้งบประมาณและนักวิชาการเป็นจำนวนมาก

นอกจากนั้นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดการทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสภาพชุมชนและเมืองโบราณก็คือ ความไม่เข้าใจถึงคุณค่าและความสำคัญที่แท้จริงของคูเมืองกำแพงเมือง แม้ว่าคนในท้องถิ่นต่างก็รู้จักกันดีว่าอะไรคือกำพงเมือง อะไรคือคูเมือง ซึ่งทางภาคเหนือเรียกว่า “สันคือ” หรือ “คือเวียง” แต่ก็ไม่ทราบว่าสิ่งดังกล่าวมีความสำคัญอย่างไรต่อประวัติศาสตร์ของบ้านเมือง มีความสำคัญต่อชุมชน สังคมและต่อตัวเราอย่างไร และในระยะที่ผ่านมาปรากฏว่าผู้ที่มีส่วนสำคัญในการทำลายกำแพงเมืองคูเมือง ก็คือหน่วยงานราชการซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญและเป็นตัวเร่งให้เกิดการทำลายคือ หัวหน้าส่วนราชการ สถานบันการศึกษาที่ไม่ทราบหรือไม่ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของกำแพงเมืองคูเมือง ดังนั้นในระยะหลังเราจึงพบเห็นการก่อสร้างถนนและโครงการก่อสร้างของหน่วยงานราชการหลายโครงการจึงทำลายกำแพงเมืองคูเมืองของชุมชนโบราณล้านนาไปเป็นจำนวนมาก

ความไม่รู้และไม่เข้าใจเป็นปัญหาทางการศึกษาและเป็นปัญหาในระดับมวลชน ปัญหาเหล่านี้จึงจำเป็นต้องเร่งรีบแก้ไขทั้งในระดับมหภาคและจุลภาคหรือในระดับสังคมกับปัเจกบุคคลไปพร้อมๆกัน ในระดับสังคมจะต้องกำหนดให้มีวิชาเกี่ยวกับการอนุรักษ์ในสถานศึกษาต่างๆ จัดทำสื่อการสอนในรูปแบบที่ทันสมัยออกเผยแพร่ทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน จัดการอบรมและจัดให้มีกิจกรรมที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ประชาชน เยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมศึกษาและปฏิบัติการให้มากขึ้น และจะต้องจัดให้มีแหล่งข้อมูลและการจัดแสดงเกี่ยวกับกำพงเมืองคูเมืองเป็นการเฉพาะให้โดดเด่นเทียบเท่ากับโบราณสถานอื่นๆ เช่น จัดให้มีส่วนแสดงข้อมูลกำแพงเมืองคูเมืองในสถานที่จริง โดยการขุดแต่งให้เห็นชั้นดินรากฐานกำแพงเมือง แสดงชั้นของการทับถมและพัฒนาการของกำแพงเมืองคูเมืองแต่ละสมัย และมีคำอธิบายที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของเมืองนั้นๆ

การดำเนินงานเช่นนี้นอกจากจะเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวและทัศนศึกษาที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้สัมผัสกับกำแพงเมืองคูเมืองโดยตรงแล้ว ยังเป็นส่วนที่ชี้ให้เห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของกำแพงเมืองคูเมืองได้อย่างเป็นรูปธรรมด้วย นอกจากนี้ควรมีการปรับปรุงให้ความสำคัญและขยายผลในกิจกรรมโครงการอาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลมรดกทางวัฒนธรรม หรืออาจจะมีการประกาศให้ปีพ.ศ. 2540 – 2549 เป็นทศวรรษแห่งการอนุรักษ์และพัฒนาแนวกำแพงเมืองคูเมืองของชาติ ชักชวนให้ประชาชนทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกำแพงเมืองคูเมืองให้มากที่สุด เพื่อปลุกจิตสำนึกให้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญโดยตรง

ในช่วงตลอดระยะเวลา 35 ปีที่ประเทศไทยมีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ส่งผลกระทบต่อแหล่งชุมชนและเมืองโบราณในล้านนาเป็นจำนวนมาก แนวคิดและนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในอดีตได้มีการเร่งเร้าให้มีการผลิต มีการนำเอาทรัพยกรออกมาใช้ให้มากที่สุกเพื่อผลผลิตรวมไปถึงการส่งเสริมการส่งออก โดยไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทางด้านจิตวิญญาณของประชาชน การพัฒนาในแนวทางดังกล่าวมุ่งเน้นให้เศรษฐกิจนำสังคม ผลที่ตามมาก็คือความต้องการในการใช้ดินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ราคาที่ดินพุ่งสูงขึ้น การใช้ที่ดินจึงมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพาะปลูกหรือการเกษตรเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นไปเพื่อธุรกิจบริการ ธุรกิจท่องเที่ยว ที่อยู่อาศัยและการค้า แนวทางเช่นนี้นอกจากทำให้ป่าไม้และที่สาธารณะจะถูกบุกรุกทำลายแล้ว บรรดาแหล่งโบราณสถานและชุมชนต่างๆ ก็ถูกบุกรุกจับจอง ออกเอกสารสิทธิ์และเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดินไปใช้ประโยชน์กันอย่างรวดเร็ว ทำให้โบราณสถาน กำแพงเมือง คูเมืองเสื่อมสภาพและถูกทำลายลง แต่ในทางกลับกันกระแสความต้องการในการใช้ประโยชน์จากที่ดินของโบราณสถานเพื่อธุรกิจท่องเที่ยวก็ส่งผลในทางบวกต่อการอนุรักษ์กำแพงเมืองคูเมืองบ้างเหมือนกัน คือมีผู้หันมาให้ความสนใจต่อการอนุรักษ์และปรับปรุงกำแพงเมืองมากขึ้น

ปัญหาดังกล่าวข้างต้นถือได้ว่าเป็นปัญหาในระดับชาติ ซึ่งปัจจุบันรัฐได้ตระหนักและให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคนมากกว่าวัตถุหรือเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องเน้นให้มีการพัฒนาด้านจิตสำนึกในการอนุรักษ์และพัฒนาในส่วนของกำแพงเมืองคูเมืองควบคู่กันไปด้วย ซึ่งจะทำให้คนที่พัฒนานั้นมีความสมบูรณ์โดยแท้จริงและหากดำเนินการได้สำเร็จก็จะส่งผลให้การอนุรักษ์คูเมืองกำแพงเมืองได้ผลตามมา

ขณะที่ปัญหาที่หน่วยงานราชการประสบอยู่ก็ คือ การขาดข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับขอบเขตและขนาดที่แน่นอนชัดเจนของพื้นที่กำแพงเมืองคูเมืองต่างๆ กล่าวคือยังไม่มีการสำรวจกำหนดขอบเขตที่ดินกำแพงเมืองคูเมืองในเขตโบราณสถานอย่างจริงจัง ปัจจุบันจึงเกิดข้อขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐกับผู้บุกรุก ซึ่งหากจะพิจารณาให้ลึกซึ้งก็ต้องยอมรับว่าหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบยังไม่มีการกำหนดโครงการดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม แนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวสามารถกระทำได้โดยให้กรมศิลปากร กรมธนารักษ์ และกรมที่ดินร่วมมือกันจัดทำโครงการสำรวจรังวัดจัดทำขอบเขตที่ดินกำแพงเมือง คูเมืองให้แล้วเสร็จ นอกจากนั้นควรจะต้องมีการเร่งรัดให้มีการกระจายอำนาจในการควบคุมดูแล การจัดการเกี่ยวกับกำแพงเมืองคูเมืองลงไปสู่ระดับท้องถิ่นให้มากขึ้น โดยเฉพาะจะต้องให้ความสำคัฐกับองค์การบริหารส่วนตำบลให้เข้ามามีส่วนในการจัดการกำแพงเมืองคูเมืองในท้องถิ่นโดยมีหน่วยงานรัฐทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและสนับสนุนด้านวิชาการ

จะเห็นได้ว่าปัจจุบันปัญหาเรื่องที่ดินโบราณสถาน กำแพงเมืองมิได้เกิดขึ้นในเฉพาะล้านนาเท่านั้น หากแต่เกิดขึ้นทั่วประเทศ กลายเป็นปัญหาระดับชาติที่ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขให้สำเร็จลงได้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เท่าที่ทราบในทางปฏิบัติรัฐยังไม่มีการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทในการจัดการแหล่งชุมชนและเมืองโบราณที่มีคูเมือง กำแพงเมืองที่เป็นรูปธรรมและสามารถนำไปปฏิบัติได้ การแก้ไขปัญหาส่วนนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมศิลปากรและกรมธนารักษ์ จะต้องเป็นแกนนำในการจัดสัมมนาระดมความคิดทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น เพื่อให้ทราบถึงปัญหาที่แท้จริงและจัดทำแผนแม่บทเพื่อการดำเนินงานอนุรักษ์ พัฒนาและการจัดการกำแพงเมือง คูเมืองและเมืองโบราณของชาติขึ้นเป็นการเฉพาะ

ปัญหาและแนวทางในการแก้ไขเกี่ยวกับชุมชนและเมืองโบราณที่มีกำแพงเมืองคูเมืองที่เสนอทั้งหมดมิได้เน้นเฉพาะเจาะจงแต่ในล้านนาเท่านั้น หากแต่ชี้ให้เห็นถึงภาพรวมของปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วประเทศในทุกระดับ หากผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบและผู้ที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการแกไขให้ครบวงจรแล้ว ก็จะสามารถอนุรักษ์และจัดการพัฒนากำแพงเมือง คูเมืองที่เหลืออยู่ให้เกิดประโยชน์ที่ยั่งยืนยาวนานแก่ประชาชนนและสังคมได้อย่างแน่นอน

ข้อมูลประกอบ : “ชุมชนโบราณในล้านนา” เอกสารเผยแพร่กรมศิลปากร

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น