เชียงใหม่จัดประชุมใหญ่ แผนการบริหารจัดการน้ำ ปี 60 รับมือภัยแล้ง

เมื่อช่วงบ่ายเวลา 13.00 น. วันที่ 3 ก.พ.60 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อาคารเอนกประสงค์ สำนักงานชลประทานที่ 1 จ.เชียงใหม่ นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน ได้เดินทางเป็นประธานในการจัดประชุมชี้แจงแผนการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง ปี 2560 ของพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน (จ.เชียงใหม่-ลำพูน) โดยมี นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 1 ให้การต้อนรับ พร้อมรับฟังการบรรยายภาพรวม ปัญหาภัยแล้งใน จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำพูน

รวมถึงภาพรวมสถานการณ์น้ำ และแผนการจัดการน้ำในฤดูแล้งปี 2560 ของพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน และ แผนการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ประสบภัย โดยมี ผวจ.เชียงใหม่ ผวจ.ลำพูน ผอ.ชลประทานที่ 1 ผอ.ส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษาเป็นผู้บรรยาย ซึ่งในการประชุมครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ทุกฝ่ายในพื้นที่ทั้งหมด เข้าร่วมรับฟังนโยบายเป็นจำนวนมากสำหรับสถานการณ์น้ำในปี 2559/60 พบว่าปริมาณฝนในเขต จ.เชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2559/60 (ตั้งแต่เดือน เม.ย 59 ถึงปัจจุบัน) มีปริมาณฝนสะสมที่สถานีวัดน้ำฝน สชป. 1 วัดได้เท่ากับ 1,103 มิลลิเมตร มากกว่าค่าเฉลี่ยปกติของปริมาณฝนสะสม (ตั้งแต่เดือน เม.ย. ถึง ม.ค) ที่มีค่าเท่ากับ 1,036 มิลลิเมตร อยู่ร้อยละ 6 (ฝนเฉลี่ยทั้งปีเท่ากับ 1,063 มิลลิเมตร) และปริมาณน้ำท่วมในแม่น้ำปิง ที่ตรวจวัดที่สะพานนวรัฐ อ.เมือง (สถานี P.1) พบว่าปริมาณน้ำท่าสะสมตั้งแต่เดือน เมษายน 2559 ถึงปัจจุบัน เท่ากับ 835 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ร้อยละ 51 (ค่าเฉลี่ยปกติช่วงเดือน เม.ย ถึง ม.ค. เท่ากับ 1,690 ล้านลูกบาศก์เมตร) โดยเฉลี่ยปริมาณน้ำท่าทั้งปีเฉลี่ย ที่สถานี P.1 เท่ากับ 1,769 ล้านลูกบาศก์เมตรสำนักงานชลประทานที่ 1 จึงได้วางแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน ปี 2559/60 โดยมีแหล่งเก็บกักน้ำหลัก คือ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ที่มีปริมาณน้ำเก็บกักเท่ากับ 177 ล้านลูกบาศก์เมตร (ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2560) โดยจัดสรรน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน (จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำพูน) ตลอดช่วงฤดูแล้งในปริมาณ 62 ล้านลูกบาศก์เมตร และได้กำหนดหลักการวางแผนบริหารจัดการน้ำ โดยพิจารณาจาก 1) การวิเคราะห์สมดุลน้ำ ระหว่าง ความต้องการใช้น้ำในทุกกิจกรรม (Demands) กับ ปริมาณน้ำที่สามารถจัดสรรให้ได้ (Supply) ซึ่งจะต้องส่งน้ำให้ใช้อย่างประหยัด

2) การส่งน้ำแบบขั้นบันได คือ เติมน้ำหน้าฝายแต่ละแห่ง (จำนวน 10 แห่ง) ในแม่น้ำปิง ส่งน้ำให้กับพื้นที่ของจ.เชียงใหม่ และ จ.ลำพูน และ 3) จัดทำแผนการส่งน้ำแบบรอบเวร กำหนดเวลาการส่งน้ำสัปดาห์ละ 2 วัน (วันพฤหัสและวันศุกร์) และกำหนดให้เปิดคลองส่งน้ำใช้พร้อมกันในวันจันทร์ เวลา 9.00 น. และ ปิดคลองส่งน้ำในวันศุกร์ เวลา 18.00 น. ส่วนสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าสูบน้ำได้ทุกวัน เวลา 9.00 น. ถึง 18.00 น. โดยวางแผนการส่งน้ำจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2560 (26 รอบเวร)ทั้งนี้ได้ดำเนินการประชุมชี้แจง เพื่อทำความเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ และทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนและหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการบริหารจัดการน้ำต้นทุนในช่วงฤดูแล้ง ปี 2559/60 จะพิจารณาจัดสรรน้ำที่ระบายจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เพื่อการอุปโภค-บริโภค ของประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน (จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำพูน) เป็นลำดับแรก และขอความร่วมมือจากกลุ่มผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วน ในการปฏิบัติตามแผน การจัดสรรน้ำที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด (รับน้ำตามรอบเวรของตนเอง) แผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ปี 2560

เพื่อกิจกรรมการใช้น้ำภาคการอุปโภค-บริโภค สำหรับใช้ผลิตน้ำประปาในเขตพื้นที่ จำนวน 7 สถานี รวมปริมาณน้ำประมาณ 17.50 ล้านลูกบาศก์เมตร และการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2559/60 ของพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน (ข้าว 14,032 ไร่ พืชไร่-พืชผัก 16,414 ไร่ ไม้ผล 110,087 ไร่ และบ่อปลา 335 ไร่ ) รวมพื้นที่เพาะปลูก 140,867 ไร่ (70% ของพื้นที่โครงการ) รวมทั้งได้ส่งน้ำลงแม่น้ำปิง เพื่อรักษาระบบนิเวศน์และควบคุมคุณภาพน้ำให้อยู่ในเกณฑ์มาตราฐานตลอดฤดูแล้งด้วย
ขณะที่ทางด้าน นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน ใน จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำพูน ในปีนี้มีปริมาณน้ำในเขื่อนแม่งัดและเขื่อนแม่กวง มีมากกว่าเมื่อปีก่อนถึงเกือบ 3 เท่า ดังนั้นในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำนั้น จึงมั่นใจได้ว่าเรื่องของการอุปโภค บริโภค หรือน้ำที่ใช้ในกิจกรรมการเกษตร หรือการปลูกพืชใช้น้ำน้อย รวมถึงการอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรม จ.ลำพูน คงไม่มีผลกระทบ เนื่องจากได้มีการเตรียมรับมือ และวางแผนสำหรับปริมาณน้ำที่จะใช้ไปถึงช่วงเดือนกรกฏาคมปีนี้ ที่เป็นช่วงเข้าสู่ฤดูฝน

โดยในการดำเนินการนั้น ทางเจ้าหน้าที่ก็ได้มีการทำความเข้าใจ และสื่อประชาสัมพันธ์กับกลุ่มพี่น้องเกษตรกรให้ทราบ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาพี่น้องเกษตรกร ได้ปลูกข้าวไปแล้วส่วนใหญ่ ซึ่งในส่วนนี้คาดว่าคงไม่เกิดความเสียหาย แต่ในส่วนที่จะดำเนินการปลูกใหม่นั้น อยากแจ้งว่ายังไม่อยากให้ปลูกเพิ่มเติม เนื่องจากเกรงจะกระทบต่อปริมาณน้ำที่จะมีไม่เพียงพอ ซึ่งในจุดนี้ทางเราได้ใช้สื่อในส่วนของกรมชลประทาน เพื่อทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน รวมถึงได้มอบหมายให้ทางจังหวัดช่วยประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือในการปลูกพืชเพิ่มเติมด้วยและในส่วนของพื้นที่เฝ้าระวังนั้น ในเขตของชลประทานก็ได้มีการทำความเข้าใจอยู่แล้ว แต่ในส่วนของพื้นที่นอกเขตชลประทานในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ที่ใช้น้ำจากสถานีสูบน้ำ ก็จะต้องมีการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจ เนื่องจากหากมีการเพาะปลูกแล้วนั้น อาจจะมีน้ำไม่เพียงพอ เนื่องจากน้ำในแม่น้ำ  ปิงมีน้อย และไม่ได้มีแผนการสำหรับรองรับการปลูกพืชในช่วงดังกล่าว อย่างไรก็ตามในส่วนของภาพรวมทั้งประเทศในขณะนี้ ในพื้นที่ภาคกลางทั้งหมด 22 จังหวัด โดยหลักๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาปริมาณน้ำเมื่อปีก่อน หากเทียบกับในวันเดียวกันนี้มีปริมาณ 3 พันกว่าล้านลูกบาศก์เมตร แต่ในปีนี้พบว่ามีอยู่ประมาณ 8 พันกว่าล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะเห็นได้ว่าปีนี้มีมากกว่า 2 เท่า

ดังนั้นในเรื่องของการบริหารจัดการนั้น คงไม่มีปัญหาเกิดขึ้นในส่วนของพื้นที่ชลประทาน และทางชลประทานก็ได้เตรียมน้ำสำหรับการปลูกพืชในฤดูฝน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.60 ที่จะถึงนี้ ในการเพาะปลูกข้าวนาปี ส่วนเรื่องของการอุปโภค -บริโภคนั้น ก็ยืนยันได้ว่ามีความเพียงพอ ตลอดจนช่วงฤดูแล้งและเข้าสู่ฤดูฝน พี่น้องประชาชนจึงไม่ต้องวิตกกังวลแต่อย่างใดอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานนั้น มีแผนการบริหารจัดการน้ำ และแผนการปล่อยน้ำ ซึ่งมีการควบคุมติดตามสถานการณ์ตลอดทุกวัน และที่ผ่านมาก็เราก็ใช้น้ำอย่างประหยัด ซึ่งขณะนี้ในแผนการส่งน้ำพบว่า ยังมีการใช้น้ำน้อยกว่าแผนที่วางไว้ จากที่ได้วางแผนเตรียมการไว้

ร่วมแสดงความคิดเห็น