แรงงานสั่งติวเข้ม คุ้มครองแรงงานเด็ก

กระทรวงแรงงานแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายคุ้มครองแรงงานเพิ่มโทษนายจ้างฝ่าฝืนข้อหาจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และข้อหาให้ลูกจ้างอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานอันตรายและสถานที่ที่กฎหมายห้าม ฝ่าฝืนมีโทษหนักปรับตั้งแต่ 400,000 บาท ถึง 800,000 บาท ต่อลูกจ้างหนึ่งคน

นายคมเพชร พรมคำ นักศึกษาฝึกประสบการณ์ สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ วิทยาลัยแม่ฮ่องสอน รายงานว่า นายธรรศณัฏฐ์ นุชแสงพลี สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่า ด้วยการคุ้มครองแรงงาน โดยตราพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2560 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้นไป เพิ่ม โทษนายจ้างฝ่าฝืนข้อหาในการจ้างลูกจ้างแรงงานเด็ก มีโทษหนักปรับตั้งแต่ 400,000บาท ถึง 800,000 บาท ต่อลูกจ้างหนึ่งคน กล่าวคือพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ห้ามมิให้นายจ้างจ้างเด็กอายุตํ่ากว่า 15 ปี เป็นลูกจ้าง ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุตํ่ากว่า 18 ปี ทำงานอันตราย ทำงานในเรือประมง ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ สถานที่เล่นการพนัน สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับสัตว์นํ้า ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน และสถานประกอบกิจการที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับการแปรรูปสัตว์นํ้า ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 นายจ้างผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ มีโทษ 400,000 บาท ถึง 800,000 บาท ต่อลูกจ้างหนึ่งคน หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำผิดดังกล่าว เป็นเหตุให้ลูกจ้างได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ หรือถึงแก่ความตายต้องระวางโทษตั้งแต่ 800,000 บาท ถึง 2 ล้านบาท ต่อลูกจ้างหนึ่งคน หรือจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งการเพิ่มโทษเกี่ยวกับการจ้างลูกจ้างเด็กดังกล่าว ก็เพื่อให้การป้องกัน ยับยั้งและการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

นายธรรศณัฏฐ์ กล่าวยํ้าว่า สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่จึงขอเตือนนายจ้างโดยห้ามจ้างเด็กอายุตํ่ากว่า 15 ปี เข้าทำงานทุกกรณี หรือห้ามจ้างเด็กอายุตํ่ากว่า 18 ปี ทำงานในงานอันตรายหรือสถานที่ที่กฎหมายห้าม มิฉะนั้นจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย เจ้าของสถานประกอบกิจการท่านใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็กสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ 053-890472-3 หรือติดต่อสอบถามด้วยตนเองได้ที่ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น