สวนสัตว์บอกปีนี้มีลุ้น ผสมเทียมหมี ’หลินฮุ่ย’

รอลุ้น…………ทีมสัตวแพทย์ โครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย ร่วมกันเปิดแถลงข่าวผลการดำเนินการผสมพันธุ์เทียมแพนด้าหลินฮุ่ย ประจำปี 2560 เมื่อวันที่ผ่านมา โดยผลการดำเนินการเป็นไปอย่างราบรื่นและอยู่ในช่วงของการเฝ้าติดตามของทางเจ้าหน้าที่ คาดมีลุ้นผสมเทียมสำเร็จ ตามข่าว

สวนสัตว์เชียงใหม่เปิดแถลงข่าว ผลการดำเนินการผสมพันธุ์เทียมแพนด้า “หลินฮุ่ย” หลังแสดงพฤติกรรมและมีอาการเป็นสัดต่อเนื่อง โดยล่าสุดผลการผสมพันธุ์เทียมเป็นไปอย่างราบรื่น พร้อมเฝ้าติดตามรอลุ้นความสำเร็จ เผยปีนี้มีลุ้นมาก เนื่องจากมีบทเรียนและการเฝ้าติดตามเป็นอย่างดี

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 5 ก.พ.60 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมอาคารสโมสร หมีแพนด้า สวนสัตว์เชียงใหม่ นายนิพนธ์ วิชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ พร้อมด้วย นายสัตวแพทย์ ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ หัวหน้าโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย ได้ร่วมกันเปิดแถลงข่าวต่อคณะสื่อมวลชนถึงผลการดำเนินการ ผสมพันธุ์เทียมแพนด้า หลินฮุ่ย ประจำปี 2560 ซึ่งได้มีการดำเนินการเมื่อคืนวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา ด้วยความร่วมมือของทางเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ทำให้การผสมพันธุ์เทียมในครั้งนี้เป็นไปอย่างราบรื่นและอยู่ในช่วงของการเฝ้าติดตาม

โดยทาง นายสัตวแพทย์ ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ หัวหน้าโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย เปิดเผยว่า คณะทำงานโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย สวนสัตว์เชียงใหม่ ได้รายงานให้ทราบว่า หมีแพนด้าหลินฮุ่ย (ปัจจุบัน อายุ 16 ปี มีน้ำหนักตัว 118 กิโลกรัม) ได้เริ่มแสดงพฤติกรรมการเป็นสัดตามธรรมชาติ เมื่อวันที่ 15 ม.ค.60 ซึ่งพฤติกรรมการเป็นสัดของหลินฮุ่ย ยังไม่ชัดเจน แต่สามารถสังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของหลินฮุ่ยได้ ซึ่งทางคณะทำงานโครงการวิจัยฯ สวนสัตว์เชียงใหม่ ดำเนินการตรวจระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนจากปัสสาวะของหลินฮุ่ย เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนมาโดยตลอด และพบว่าระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมการทำงานของรังไข่และทำให้เกิดพฤติกรรมการเป็นสัดเริ่มเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม

ต่อมาในช่วงวันที่ 30 ม.ค.60-2 ก.พ.60 ที่ผ่านมา หลินฮุ่ยมีการเดินกระวนกระวายมากขึ้น มีการป้ายกลิ่นด้วยปัสสาวะถี่ขึ้น และเริ่มส่งเสียงร้องแพะเมื่อวันที่ 3 ก.พ. ซึ่งเป็นเสียงที่พบได้ในช่วงฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น นอกจากนี้พบว่าระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนมีความเข้มข้นสูงสุดในวันที่ 3 ก.พ. สอดคล้องกับทั้งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม คณะทำงานโครงการวิจัยฯ ได้ติดต่อสอบถามและร่วมปรึกษาหารือถึงแนวทางการดำเนินการผสมพันธุ์หมีแพนด้ากับ ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีน โดยได้รับคำแนะนำให้มีการให้โอกาส ช่วงช่วง และหลินฮุ่ย ได้พบกันและสังเกตพฤติกรรมของหมีแพนด้าทั้งสอง เป็นระยะๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ ช่วงช่วง ได้เรียนรู้พฤติกรรมของหลินฮุ่ยในช่วงเป็นสัด และเพื่อสังเกตว่า ช่วงช่วง มีปฏิกิริยาอย่างไร มีความสนใจในหลินฮุ่ยหรือไม่ อีกทั้งเป็นการทดสอบว่าหลินฮุ่ย มีความพร้อมในการผสมพันธุ์เพียงใด

และในวันที่ 3 ก.พ.60 พบว่าหลินฮุ่ยแสดงการปฏิเสธ ช่วงช่วง โดยแสดงอาการส่งเสียงขู่ แต่ช่วงบ่ายมีการยอมรับ ช่วงช่วง มากขึ้น ซึ่งคณะทำงานได้ลงความเห็นว่าหลินฮุ่ยแสดงอาการเป็นสัดตามธรรมชาติ โดยทีมนักวิจัยฮอร์โมนหมีแพนด้าได้สรุปผลฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เริ่มลดระดับลงและโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งบ่งบอกว่าหลินฮุ่ยน่าจะมีการตกไข่ในเช้าวันที่ 4 กุมภาพันธ์ จึงเริ่มกระบวนการเตรียมผสมเทียมให้กับหลินฮุ่ยในห้วงเวลาที่เหมาะสม (24-36 ชั่วโมงหลังจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงสุด) คณะทำงานฯ ได้ตัดสินใจเก็บน้ำเชื้อและผสมเทียมในช่วงเวลา 20.30 น. ของวันที่ 4 ก.พ.60 โดยเริ่มวางยาสลบเก็บน้ำเชื้อ ช่วงช่วง (ปัจจุบัน อายุ 17 ปี มีน้ำหนักตัว 139 กิโลกรัม) ได้น้ำเชื้อสดคุณภาพดี และได้ผสมเทียมให้กับหลินฮุ่ย โดยใช้น้ำเชื้อสดที่เก็บได้ พร้อมตรวจสุขภาพของหมีแพนด้าพบว่า หมีแพนด้าทั้งสองตัวมีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ดี

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานผสมเทียมในช่วงกลางคืน และสิ้นสุดกระบวนการในเวลา 24.00 น. เป็นไปอย่างเรียบร้อยสมบูรณ์ การวางยาสลบและการฟื้นของ ช่วงช่วง และหลินฮุ่ย ได้รับการดูแลจากทีมสัตวแพทย์และทีมพี่เลี้ยงเป็นอย่างดี ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ อีกทั้งทีมทันตแพทย์จากคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มาร่วมทำการตรวจสุขภาพช่องปากและฟันของ ช่วงช่วง และหลินฮุ่ย อีกด้วย

“องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะทำหน้าที่ดูแลสุขภาพ ของ ช่วง ช่วง และหลินฮุ่ย โดยจะทำการจัดทำโปรแกรมการส่งเสริมพฤติกรรมตามธรรมชาติ และนำต้นไม้มาเสริมในส่วนแสดงสำหรับการฝึกปีนป่าย ให้แพนด้าได้ออกกำลังกาย มาเสริมในส่วนจัดแสดง อีกทั้งจะเตรียมแผนการจัดการพื้นที่ให้หลินฮุ่ยได้อยู่โดยปราศจากความเครียดและการรบกวน โดยจะงดจัดแสดงหลินฮุ่ยในช่วง 3-4 เดือนนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้หลินฮุ่ยได้มีความเป็นส่วนตัวในระยะตั้งท้อง และทางทีมงานวิจัยหมีแพนด้า องค์การสวนสัตว์มีความหวังว่าหลินฮุ่ยจะมีโอกาสให้กำเนิดน้องของหลินปิงในปีนี้ ต่อไป”

ร่วมแสดงความคิดเห็น