วัดในทักษาเมืองเจียงใหม่

วัดหลวงสะดือเมืองหรือวัดอินทขีล

แนวความคิดเรื่องศูนย์กลางจักรวาลของเมือง ของโลกหรือของจักรวาลเป็นสิ่งที่มีอยู่ในระบบความเชื่อดั้งเดิมของชนพื้นเมืองที่นับถือผี ต่อมาได้รับอิทธิพลจากคติความเชื่อของฮินดู และพุทธศาสนาทั้งจากนิกายมหายานซึ่งล้านนาได้รับมาทางมอญ และพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่รับจากลังกา ซึ่งอาจย้อนไปถึงแนวคิดเรื่อง มันดาละ (Mandala) หรือวงกลมที่เป็นตัวแทนทางสัญลักษณ์ของโลกหรือจักรวาล

วัดหลวงสะดือเมืองหรือวัดอินทขีล

กรณีเชียงใหม่ ซึ่งตั้งอยู่บนชุมชนเก่าที่มีการบูชาเสาอินทขิลบริเวณศูนย์กลางของเวียง ซึ่งตำนานเรียกว่า สายดือเมือง หรือสะดือเมือง ต่อมาบริเวณนี้จึงเป็นที่ตั้งของวัด ที่ตำนานเรียกว่า วัดหลวงสะดือเมืองหรือวัดอินทขีล หลังจากถวายหอนอนช่วงก่อนสถาปนาเมืองเชียงใหม่ให้เป็นที่สร้างเจดีย์วัดเชียงมั่นแล้ว ก็โปรดให้สร้างหอคำ ณ บริเวณเวียงแก้วใกล้กับสะดือเมือง โดยใช้บริเวณกลางเวียงเป็นข่วงหลวงและด้านข้างเป็น “กาด” ตั้งแต่หน้าวัดลีเชียงพระ (ต่อมาเรียกวัดพระสิงห์) ไปถึงกลางเวียง บริเวณสะดือเมืองจึงเป็นทั้งศูนย์กลางความเชื่อดั่งเดิมที่มีต่อเสาอินทขิล ความเชื่อของพุทธที่สร้างวัดหลวงสะดือเมืองและเป็นศูนย์กลางการบริหารบ้านเมืองซึ่งอยู่ที่ “หอคำ” และ “เค้าสนามหลวง” ทั้งเป็นที่ชุมนุมกำลังคนที่ “ข่วงหลวง” และเป็นศูนย์กลางการค้า คือเป็น “กาด” ด้วย บริเวณรอบ ๆ เป็นวัดสำคัญและคุ้มเจ้านายบริเวณกลางเวียงจึงเป็นศูนย์กลางจักรวาลในระบบคิด

วัดเชียงยืน
วัดเชียงยืน
วัดนันตาราม

ในคัมภีร์มหาทักษาของวัดศรีภูมิโดยรองศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล พบว่าเชียงใหม่มีวัดสำคัญใน 8 ทิศที่สอดคล้องกับระบบความเชื่อ คือบริเวณกลางเวียงซึ่งเป็นสายดือเมืองถือเป็นเกตุเมือง ด้านทิศเหนือถือเป็นเดชเมือง มีวัดเชียงยืนเป็นวัดสำคัญ ด้านทิศใต้ถือเป็นมนตรีเมือง มีวัดนันตารามเป็นวัดสำคัญ ด้านทิศตะวันออกถือเป็นมูลเมือง มีวัดบุพพารามเป็นวัดสำคัญ ด้านทิศตะวันตก ถือเป็นบริวารเมือง มีวัดสวนดอกเป็นวัดสำคัญ ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือถือเป็นอายุเมือง มีวัดเจ็ดยอดเป็นวัดสำคัญ ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือถือเป็นศรีเมือง มีวัดชัยศรีภูมิหรือวัดพันตาเกิ๋นเป็นวัดสำคัญ ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้เป็นอุตสาหเมือง มีวัดชัยมงคลเป็นวัดสำคัญและด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ถือเป็นกาลกิณีเมือง มีวัดตโปตารามเป็นวัดสำคัญในระบบความเชื่อตามทักษาเมืองดังกล่าวนำมาอธิบายพื้นที่กำแพงชั้นในของเชียงใหม่ได้ดังนี้

วัดสวนดอก

ประตูหัวเวียงหรือประตูช้างเผือก ซึ่งอยู่ทางด้านทิศเหนือถือเป็นเดชเมือง ประตูเชียงใหม่อยู่ด้านทิศใต้เป็นมนตรีเมือง ประตูเชียงใหม่เรือกหรือประตูท่าแพอยู่ด้านทิศตะวันออกเป็นมูละหรือมูลเมือง ประตูสวนดอกอยู่ด้านทิศตะวันตกเป็นบริวารเมือง แจ่งหัวลินอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นอายุเมือง แจ่งศรีภูมิอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นศรีเมือง แจ่งขะต้ำอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้เป็นอุตสาหะ แจ่งกู่เรือง (อ่านว่าแจ่งกู่เฮือง) อยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นกาลกิณี ประตูแต่ละด้านมีจารึกและยันต์กำกับไว้และมีเทวบุตรเฝ้าอารักขาไว้ทุกประตู (เทวบุตรชื่อสุรักขิโต รักษาประตูท่าแพ ด้านทิศตะวันออก เทวบุตรชื่อไชยภุมโม รักษาประตูเชียงใหม่ด้านทิศใต้ เทวบุตรชื่อสุรชาโต รักษาประตูสวนดอก ด้านทิศตะวันตก เทวบุตรชื่อคันธรักขิโต รักษาประตูช้างเผือกด้านทิศเหนือ)

จากกรอบความเชื่อนี้จึงถือว่าเชียงใหม่มีหัวของเมืองหรือเวียงอยู่ทางทิศเหนือ ซึ่งเป็นทิศมงคลเพื่อทำการอันเป็นมงคล เช่น พิธีบรมราชาภิเษก มีหน้าเมืองอยู่ทางทิศตะวันออกหันหน้าไปทางแม่น้ำปิงด้านท่าแพ เหมาะแก่การคมนาคม การค้าขาย พิธีกรรมและการละเล่นในวันสงกรานต์ มีเขตอรัญญิกของเมืองอยู่ทางทิศตะวันตก ด้านเชิงดอยสุเทพ และมีทางออกของศพอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ และมีการสืบชะตาเมืองเป็นประจำ เช่นเดียวกับการสืบชะตาคนและสืบชะตาบ้าน

วัดชัยศรีภูมิ
วัดชัยศรีภูมิ

ตั้งแต่สมัยพระเจ้ากาวิละเป็นต้นมา บริเวณกลางเวียงมี “หอคำ” และคุ้มเจ้านายเรียงรายเป็นลำดับ ตำแหน่งคล้ายวังหลวง วังหน้าและวังหลังของกรุงเทพฯ เรียกว่า ราชสัณนิเวสน หอคำพระราชชะวังหลวง เจ้ามหาอุปราชชะวังหน้า เจ้ารัตตนะราชชะวังหลัง ขณะนั้นรับอิทธิพลกรุงเทพฯแล้ว ในยุคก่อนเทศาภิบาลก่อนกรุงเทพส่งข้าหลวงขึ้นมาจัดการปกครองบริเวณพื้นที่สายดือเมือง จึงประกอบด้วย หอคำ หอเจ้าอุปราชาราชวังหน้า หอเจ้ารัตตนะราชวังหลังและคุ้มเจ้านาย ซึ่งใช้เป็นสถานที่สั่งราชการ บริหารกิจการบ้านเมืองของนครเชียงใหม่และอาณาจักรล้านนา โดยอาณาบริเวณกว้างคือด้านเหนือจรดวัดหัวข่วง ด้านใต้จรดประตูเชียงใหม่ ขณะที่ด้านตะวันตกจรดวัดพระสิงห์และด้านตะวันออกจรดประตูเชียงเรือก เพราะอาณาบริเวณดังกล่าวมีหลักฐานเรียกว่า “ข่วงหลวง” ในปัจจุบันยังคงมีคุ้มเจ้านายทั้งที่อยู่ในสภาพเดิมและถูกเปลี่ยนสภาพไปแล้ว

คัดจาก วัดในทักษาเมือง (เอกสารประกอบการนำชมแหล่งประวัติศาสตร์ในเชียงใหม่) โดย รศ.สมโชติ อ๋องสกุล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น