“นครเชียงใหม่” นครแห่ง 3 กษัตริย์

สามกษัตริย์ผู้ทรงร่วมกันสร้างนครเชียงใหม่

นครเชียงใหม่เป็นเมืองโบราณเก่าแก่เมืองหนึ่งในภาคเหนือ เคยเป็นราชธานีของอาณาจักรลานนาไทยในอดีต พระมหากษัตริย์ผู้ทรงสร้างนครเชียงใหม่เป็น ราชธานีของพระองค์คือ พระเจ้าเมงรายมหาราช ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าลวจังกราชปฐมกษัตริย์ผู้สร้างเมืองหิรัญนครเงินยาง (เชียงแสน) เป็นราชธานี ของอาณาจักรเงินยางของพระองค์ เมื่อพุทธศักราช 1181 หากจะนับตามลำดับ แต่พระเจ้าลวจังกราชปฐมวงศ์มา พระเจ้าเมงรายมหาราชก็นับเป็นอันดับที่ 25 แต่นักประวัติศาสตร์หลายท่านได้ยกย่องว่า พระองค์เป็นต้นราชวงศ์เมงราย จึงนิยมเรียกราชวงศ์ของพระองค์ว่า ราชวงศ์เมงราย

พระเจ้าเมงรายทรงสร้างนครเชียงใหม่ ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1839 และมีเชื้อสายของพระองค์ครองเมืองเชียงใหม่สืบมาอีก 262 ปี ถึงรัชกาลของพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์ (หรือที่เรียกกันอย่างสามัญว่า เจ้าแม่กุ) ก็เสียเมืองให้แก่พระเจ้าบุเรงนอง (พม่าเรียก บะหยิ่นหน่อง) กษตริย์พม่า เมื่อปี พ.ศ. 2101 ปีมะเมีย สัมฤทธิศก จุลศักราช 920 วันเสาร์ เดือน 7 ขึ้น 15 ค่ำ ยามกลองงาย (ประมาณ 09.00 น.) พม่ารามัญก็ยกเข้าเมืองเชียงใหม่ได้ อิสรภาพของลานนาไทยก็หมดสิ้นลง แต่นั้นมานครเชียงใหม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าเป็นเวลานาน แต่ปรากฏว่าชาวเชียงใหม่ได้พยายามกู้อิสรภาพหลายครั้ง และบางครั้งก็ตั้งตัวเป็นอิสระ บางครั้งก็ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระเจ้าเชียงใหม่มังซานรธามังคุย หรือมังนรธาฉ่อหรือเจ้าฟ้าสารวดี ราชบุตรของพระเจ้าบุเรงนอง มาครองเมืองเชียงใหม่ ได้ยอมสวามิภักดิ์ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.2141 ต่อมาเมื่อพระเจ้าสุทโธรรมราชา (พม่าเรียก สะโดะ-ธรรมราชา) ยกกองทัพมาปราบปรามแว่นแคว้นล้านนาไทย ตีได้เมืองน่าน เมืองเชียงราย เชียงแสน และตีได้เมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 2174 เชียงใหม่จึงได้ตกอยู่ในอำนาจของพม่าอีกวาระหนึ่ง

จนกระทั่งปี พ.ศ.2271 พม่ารามัญที่มาปกครองบ้านเมืองอยู่นั้นกระทำการกดขี่ข่มเหงชาวเมืองมากนัก บรรดาผู้รักชาติและอิสรภาพ จึงคบคิดกันกู้อิสรภาพขึ้น ในจำนวนผู้รักชาติเหล่านี้ มีผู้กล้าหาญคนหนึ่ง ชื่อ เทพสิงห์ เป็นชาวเมืองยวม (คืออำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน) ได้ซ่องสุมสมัครพรรคพวก ทำการขับไล่พม่าออกไปได้ แต่ยังไม่ทันตั้งตัวเป็นกษัตริย์ พวกพม่ารามัญที่ยังเหลืออยู่ก๊กหนึ่ง เห็นว่าเทพสิงห์กวาดล้างชาวพม่ารามัญอย่างทารุณจึงไม่พอใจ และอาราธนาพระภิกษุเจ้าองค์คำ วัดสวนดอกเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเชื้อสายกษัตริย์ล้านช้าง (หลวงพระบาง) หลบหนีราชภัยมาบวชอยู่ ให้รับเป็นหัวหน้า เจ้าองค์นกก็รับคำลาสิกขาออกจากสมณเพศ คุมไพร่พลชาวเมืองและพม่ารามัญออกสู้รบกับพวกเทพสิงห์ ได้ชัยชนะ ขับไล่พวกเทพสิงห์ออกไปสำเร็จ จึงทำพิธีปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ครองเมืองเชียงใหม่ทรงพระนามว่า พระเจ้าหอคำ หรือเรียกกันอย่างสามัญว่า พระองค์นก เพราะทรงโปรดปรานในการเลี้ยงนกเขาเป็นอันมาก

พระเจ้าหอคำตั้งตัวเป็นอิสระ ไม่นานนักก็มีศึกพม่ามาติดเมืองแต่สามารถสู้รบเอาชนะแก่พม่าได้ และในตลอดรัชกาลของพระองค์พม่าไม่ได้ยกมารุกรานอีก
เพราะบ้านเมืองของพม่าในเวลานั้นก็ยุ่งเหยิง ในยุคนั้นบ้านเมืองต่างๆ ในแว่นแคว้นล้านนาไทยไม่ได้รวมกันเป็นกลุ่มก้อนเช่นกาลก่อน คงแยกตั้งเป็นอิสระ
เป็นเมืองๆไป และบางเมืองก็ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า เชียงใหม่เป็นอิสระอยู่จนถึง พ.ศ.2301 ก็ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าอีกครั้งหนึ่ง และพระเจ้ากาวิละกับพญาจ่าบ้าน (บุญมา) ได้ร่วมมือกันกู้อิสรภาพ ทำการขับไล่พม่าออกจากเชียงใหม่ได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2317 แต่นั้นมาเชียงใหม่ก็ได้เป็นอิสรภาพและเข้าร่วมอยู่ในราชอาณาจักรไทยกับไทยกลางมาจนกระทั่งปัจจุบัน

พระเจ้าเมงรายทรงสร้างเมืองเชียงใหม่ หลังจากที่พระองค์ทรงทำสงครามแผ่ราชอาณาจักร เพื่อรวมไทยภาคเหนือให้เป็นอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งในขณะเดียวกันนี้ พ่อขุนรามกำแหง (หรือพระร่วงเจ้า) ผู้เป็นพระสหายของพระองค์ ก็ทรงสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยขึ้นทางภาคกลาง และมีอาณาเขตติดต่อกัน แต่เนื่องด้วยพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์เป็นเชื้อชาติไทยชาติเดียวกัน จึงไม่ได้ทำการรุกรานซึ่งกันและกัน ตรงกันข้ามพระมหากษัตริย์ทั้งสอง ทรงมีสัมพันธไมตรีกันอย่างใกล้ชิดสนิทสนมยิ่ง หลังจากที่พระองค์ตีได้อาณาจักรหริภุญชัย จากพญายีบา เมื่อ พ.ศ.1824 และทรงครองเมืองหริภุญชัยได้ 2 ปี ก็มอบเวนเมืองให้อ้ายฟ้ามนตรี คนสนิทครองเมืองแทน ส่วนพระองค์ได้สร้างเมืองใหม่อยู่ทางทิศอีสานของเมืองลำพูน อยู่ได้ 3 ปี เห็นว่าตำบลนั้นเป็นที่ลุ่ม ในฤดูฝนหาที่พักอาศัยให้แก่สัตว์พาหนะไม่ได้ จึงย้ายมาสร้างเมืองอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมิงค์ (แม่น้ำปิง) เมื่อปี พ.ศ.1829 เรียกว่า “เวียงกุมกาม” (หรือกุ่มก๋าม ซึ่งหมายถึงว่า สร้างคร่อมแม่น้ำปิง กุ่มก๋วมแปลว่า ครอบ) เมืองนี้อยู่ในท้องที่ตำบลท่าวังตาล อำภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ยังมีเจดีย์เหลี่ยม หรือวัดกู่คำ และวัดช้างค้ำหรือวัดกานโถม ที่พระเจ้าเมงรายทรงสร้างไว้นั้นจนทุกวันนี้

เวียงกุมกาม
เวียงกุมกาม

พระเจ้าเมงรายมหาราช ครองเมืองกุมกาม อยู่จนถึง พ.ศ.1834 วันหนึ่งพระองค์เสด็จประพาสล่าสัตว์ไปทางทิศเหนือ ไปถึงเชิงดอยอ้อยช้าง (หรือดอยกาละหรือดอยสุเทพ) ทรงประทับแรมอยู่ตำบลบ้านแหนได้ 3 เพลา พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นสถานที่ชัยภูมิตรงนั้นดีมากเป็นทำเลที่เหมาะสำหรับสร้างเมืองอยู่อาศัย และในราตรีนั้นพระองค์ทรงสุบินนิมิตว่า มีบุรุษผู้หนึ่ง (คือเทพยดาจำแลง) มาบอกกับพระองค์ว่าหากพระองค์มาสร้างเมืองอยู่ที่นั่น จะประสบความเจริญรุ่งเรืองยิ่งนัก เมื่อพระองค์ทรงตื่นจากสุบิน ทรงเห็นเป็นศุภนิมิต ก็มีความดีพระทัยเป็นอันมาก ทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างเมืองขึ้น

หลังจากที่พระองค์กลับมายังเวียงกุมกามแล้ว ครั้นหมดฤดูฝน ฤดูทำนา พระองค์ก็เสด็จประพาสล่าสัตว์ป่า พร้อมด้วยข้าราชบริพารอีกครั้งหนึ่งและคงไปล่าสัตว์ตามบริเวณดอยสุเทพตามเดิม คราวนี้ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จไปพบที่แห่งหนึ่ง เป็นที่น่าอัศจรรย์มาก ที่นั่นเป็นป่าเลาป่าคา และภายนอกบริเวณป่าเลาป่าคานั้น เป็นที่ราบกว้างขวาง ภายในป่าเลาป่าคาซึ่งขึ้นเป็นวงโอบล้อมหญ้าแพรกและแห้วหมู่นั้น มีฟานเผือก (เก้งเผือก) สองตัวแม่ลูกอาศัยอยู่ในที่นั้น เมื่อฟานสองตัวออกหากิน สุนัขล่าเนื้อของพรานที่ตามเสด็จก็รุมกันขับไล่ ฟานทั้งสองก็วิ่งกลับเข้าไปในที่นั้นอีก และสุนัขก็ไม่อาจจะทำอันตรายแก่ฟานทั้งสองได้ พวกพรานทั้งหลายเห็นเป็นอัศจรรย์ ก็นำความไปกราบทูลให้พระเจ้าเมงรายทรงทราบ เมื่อพระองค์ทรงทราบเช่นนั้นก็เข้าพระทัยว่า สถานที่นั้นเหมาะสมที่จะสร้างเป็นเวียงสำหรับอยู่อาศัยต่อไป พระองค์จึงสั่งให้ข้าราชบริพารช่วยกันล้อมจับฟานทั้งสองแม่ลูกนั้น แล้วให้สร้างเพนียดล้อมไว้ทางทิศเหนือริมแม่น้ำหยวก

เมื่อพระองค์เสด็จกลับเวียงกุมกามแล้ว จึงเกณฑ์ไพร่บ้านพลเมืองไปยังสถานที่นั้น เพื่อสร้างเมืองใหม่และให้เอาที่ป่าเลาป่าคาที่ฟานสองแม่ลูกนั้นอาศัยอยู่
เป็นชัยภูมิสร้างเมือง และทำพิธีตั้งชัยภูมิเมืองขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 7 เหนือ (เดือน 5 ใต้) ขึ้น 8 ค่ำดิถี 8 นาที จันทร์เสวยฤกษ์ 7 ปุณณะสฤกษ์ ในราศีกรกฏ ยามแตรรุ่ง 3 นาที เศษ 2 บาท ไว้ลักขณาเมือง ในราศีมีน อาโปธาตุยามศักราชขึ้นเถลิงศกเป็นจุลศักราช 654 ปีมะโรง จัตวาศก พ.ศ. 1835

เมื่อตั้งชัยภูมิเมืองแล้ว พระเจ้าเมงรายก็ทรงโปรดให้สร้างพระราชนิเวศน์มณเฑียรขึ้นใหม่ และให้สร้างบ้านเรือนให้ข้าราชบริพารอยู่แวดล้อมเป็นอันมาก เวียงเล็กที่พระเจ้าเมงรายทรงสร้างที่อยู่อาศัย เพื่อสร้างเมืองเชียงใหม่คือ “เวียงเล็ก” (บริเวณวัดเชียงมั่น ตรงที่ส้รางพระเจดีย์ไว้นั้นเป็นหอบรรทมของพระเจ้าเมงราย) แล้วพระองค์ได้ให้กรุยเขตที่จะขุดคูเมืองและก่อกำแพงโดยกำหนดเอาที่ชัยภูมินั้นเป็นจุดศูนย์กลาง แล้ววัดจากจุดศูนย์กลางด้านละ 1,000 วา เป็นขนาดกำแพงเมือง เมื่อกรุยทางไว้เรียบร้อยแล้ว พระองค์มารำพึงว่า การที่พระองค์จะสร้างเมืองขึ้นครั้งนี้เป็นงานใหญ่มากควรที่ชวนพระสหายทั้งสองคือ พญางำเมือง เจ้าเมืองพะเยา และพญาร่วง เจ้าเมืองสุโขทัย ซึ่งเคยร่วมสาบานเป็นพันธมิตรกันนั้น มาปรึกษาหารือช่วยคิดการสร้างเมืองจะดีกว่า ทรงดำริเช่นนั้นแล้วพระองค์จึงแต่งตั้งให้ราชบุรุษถือพระราชสาส์น ไปทูลเชิญพระสหายทั้งสองนั้นมายังเวียงมั่น ซึ่งทำให้การสร้างเมืองหยุดชะงักไปวาระหนึ่ง เป็นเวลา 3 ปีเศษ อาจเป็นเพราะพระสหายทั้งสองไม่มีเวลาเสด็จมายังเมืองใหม่ และอีกประการหนึ่ง ในระหว่างนี้มีข่าวว่า พญายีบาเจ้าลำพูนที่แตกหนีไปอาศัยอยู่กับ พญาเบิกผู้บุตร (บางแห่งว่าน้อง) จะยกทัพมาตีเมืองลำพูนคืน และจะยกมาตีเมืองกุมกามของพระเจ้าเมงรายด้วย พระเจ้าเมงรายต้องเตรียมรับศึก ซึ่งการยุทธครั้งนี้เกิดขึ้นในเดือน 4 เหนือ ก่อนการสร้างเมืองเชียงใหม่ 4 เดือน เป็นการยุทธครั้งใหญ่ยิ่งในรัชสมัยของพระองค์

เมื่อกษัตริย์ทั้งสามพร้อมเพียงกันแล้ว ก็ปรึกษาหารือกันถึงการวางแผนผังสร้างเมือง พระเจ้าเมงรายมีความเห็นว่า จะสร้างกำแพงเมืองวัดจากชัยภูมิอันเป็นศูนย์กลางออกไปด้านละ 1,000 วา เป็นตัวเมืองกว้าง 2,000 วา หรือ 100 เส้น พญางำเมือง ประมุขแห่งอาณาจักรพะเยาเห็นชอบด้วย แต่พญาร่วงมีความเห็นว่า “การที่จะสร้างเมืองกว้างขวางเช่นนั้น หากเป็นเวลาที่ไม่มีศึกสงคราม ก็ไม่เป็นที่น่าวิตกอย่างใด หากแต่ว่าเกิดศึกมาประชิดติดเมืองแล้วการป้องกันบ้านเมืองจะลำบากมาก เพราะตัวเมืองกว้างขวางเกินไป ควรที่วัดจากชัยภูมิเมืองไปด้านละ 500 วา เป็นเมืองกว้าง 1,000 วา จะดีกว่าซึ่งถ้าหากจะมีข้าศึกมาเบียดเบียนก็ไม่เป็นการยากลำบากในการป้องกัน และหากว่าในกาลข้างหน้า บ้านเมืองเจริญขึ้น ก็ย่อมขยับขยายตัวเมืองได้ตามกาลเวลา” เมื่อได้ยินพระสหายออกความเห็นดังนั้น พระเจ้าเมงรายก็ทรงดัดแปลงผังเมืองใหม่ โดยให้มีด้านยาวเพียง 1,000 วาดังเดิม และให้มีด้านกว้างวัดจากหลักชัยภูมิไปเพียง 400 วา เป็นกว้าง 800 วา เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งพระสหายทั้งสองก็เห็นชอบด้วย

ผังเมืองเชียงใหม่

ดังนั้น พระเจ้าเมงรายจึงเชิญชวนพระสหายทั้งสองออกไปยังชัยภูมิเพื่อตรวจดูทำเลสถานที่ๆ จะสร้างพระราชนิเวศน์มณเฑียรถาวรใหม่ เมื่อกษัตริย์ทั้งสาม
ไปถึงสถานที่แห่งนั้น ก็ปรากฏศุภนิมิตให้เห็นคือ มีหนูเผือกตัวใหญ่เท่าดุมเกวียน มีบริวาร 4 ตัว วิ่งออกจากชัยภูมิที่นั้น ไปทางทิศตะวันออกก่อน แล้วบ่ายหน้าไปยังทิศตะวันออกเฉียงใต้ ไปลงรูแห่งหนึ่งที่ใต้ต้นนิโครธ (ต้นไม้ลุง) กษัตริย์ทั้งสามเห็นเป็นนิมิตอันดีเช่นนั้น ก็จัดแต่งดอกไม้ธูปเทียนไปสักการบูชาที่ต้นนิโครธนั้น (ต้นไม้ต้นนี้ถูกทำลายไปในรัชสมัยพระเจ้าติโลกมหาราช พระองค์ทรงให้ขุดขึ้นเพื่อสร้างพระราชนิเวศน์มณเฑียรใหม่) แล้วให้จัดสร้างรั้วไม้ล้อมรอบไม้นั้นจึงถือว่าเป็นไม้เสื้อเมืองหรือศรีเมืองสืบมา

แล้วทั้งสามกษัตริย์ก็ให้บุกเบิกแผ้วถางบริเวณที่จะสร้างเป็นเมืองแล้วขึงเชือกกระชับดู ปรากฏว่าพื้นที่นั้นลาดไปทางทิศตะวันออกเป็นการต้องกับลักษณะ
ชัยภูมิที่จะสร้างเป็นนครยิ่งนัก เมื่อพญาร่วงและพญางำเมืองทรงเห็นดังนั้น ก็กล่าวแก่พระเจ้าเมงรายว่า ทำเลที่จะสร้างเมืองนี้ถูกต้องด้วยชัยภูมิ 7 ประการคือ

1.มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า เคยมีกวางเผือกสองตัวแม่ลูกเคยมาอาศัยอยู่ในที่นี่ และมีคนมากันมาสักการะบูชาเป็นอันมาก
2.มีฟาน (เก้ง) เผือกสองตัวแม่ลูกมาอาศัย และได้ต่อสู้กันฝูงสุนัขของพราน ซึ่งตามเสด็จพระเจ้าเมงรายมาดังกล่าวแล้ว
3.ได้เห็นหนูเผือกพร้อมด้วยบริวาร 4 ตัว วิ่งเข้าโคนต้นไม่นิโครธ (ไม้ลุง)
4.พื้นที่สูงทางทิศตะวันตก เอียงลาดไปทางทิศตะวันออกเป็นทำเลต้องด้วยลักษณะพื้นที่ที่จะสร้างเมือง
5.มีน้ำตกไหลจากดอยสุเทพ โอบอ้อมตัวเมืองไว้เป็นการสะดวกในการที่ชาวเมืองจะใช้สอยบริโภค
6.มีหนองน้ำใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมือง ปรากฏว่า เคยเป็นที่เคารพสักการะของท้าวพญาเมืองต่างๆมาแล้ว และขณะนั้นก็ยังเป็นที่
เคารพสักการะของประชาชนอยู่ (หนองนี้เรียกว่า หนองบัว อยู่ตรงสนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ ต่อมาในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ทรงให้ขุดระบาย
น้ำลงแม่น้ำปิงเสียจึงตื้นเขินไป)
7.แม่น้ำระมิงค์ (หรือแม่น้ำปิง) ซึ่งเป็นแม่น้ำที่เกิดจากเทือกเขาผีปันน้ำ บนเทือกเขานั้นมีเขาลูกหนึ่งอยู่บนหลังเขาเชียงดาวชื่อว่า “ดอยอ่างสลุง” (ชาวเมืองเรียกอ่างสะหลง) ซึ่งถือกันว่าเป็นที่สรงน้ำของพระพุทธเจ้า ไหลผ่านตัวเมือง นับว่าเป็นมงคลแก่บ้านเมืองอีกประการหนึ่งด้วย

ซึ่งชัยภูมิทั้ง 7 ประการนี้หายากยิ่งที่จะส้รางเป็นพระนคร พระเจ้าเมงราย ได้ยินพระสหายกล่าวเช่นนั้น ก็ทรงโสมนัสยินดีเป็นที่ยิ่ง ทรงชมเชยว่า พระสหายทั้งสองเป็นผู้มีสติปัญญาลึกซึ้งยิ่งนัก เมื่อตกลงเป็นที่แน่นอนแล้ว ทั้งสามกษัตริย์ก็ช่วยกันอำนวยการสร้างเมือง ก่อนสร้างได้เริ่มทำพิธีบวงสรวงเทวดาอารักษ์เสียก่อน เมื่อทำพิธีพลีกรรม ฃบวงสรวงเรียบร้อยแล้ว ก็ให้แบ่งพลเมืองออกเป็น 2 พวก พวกหนึ่งจำนวน 5 หมื่นคน ช่วยกันก่อสร้างพระราชนิเวศน์มณเฑียรสถาน อีกพวกหนึ่งจำนวน 4 หมื่นคนช่วยกันขุดคูเมือง และก่อกำแพงเมืองร วมใช้กำลังคนในการสร้างเมืองเชียงใหม่ 9 หมื่นคน

การขุดคูเมืองนั้นให้ขุดทางทิศอีสาน (ตะวันออกเฉียงเหนือ) ก่อนคือ เริ่มที่แจ่งศรีภูมิ์อันเป็นศรีพระนครก่อน แล้วโอบอ้อมไปทางทิศใต้แล้ววงรอบใหh
บรรจบกันทั้ง 4 ด้าน การสร้างได้ทำพร้อมๆ กันเลยทีเดียว และในวันเดียวกันนี้ก็ได้ทำพิธีฝังเสาหลักเมือง ในวันพฤหัสบดี เดือนแปดเหนือ (เดือน 6 ใต้) ปีวอก อัฐศก จุลศักราช 658 (พ.ศ.1835) ก่อนทำพิธีขุดคูเมืองและสร้างพระราชนิเวศน์มณเฑียรสถาน

การสร้างเมืองเชียงใหม่ใช้เวลาทั้งหมด 4 เดือน ก็สำเร็จเรียบร้อย พระเจ้าเมงรายจึงทรงโปรดให้จัดงานฉลองสมโภชเมืองใหม่อย่างสนุกสนานเป็นการใหญ่ยิ่งเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน ได้เลี้ยงดูไพร่บ้านพลเมือง และแจกจ่ายของรางวัลให้ทั่วหน้า แล้วทั้งสามกษัตริย์ก็ร่วมใจกันขนานนามเมืองใหม่ว่า “เมืองนพบุรี ศรีนครพิงค์ เชียงใหม่”

พระเจ้าเมงรายครองเมืองเชียงใหม่ต่อมาจนกระทั่ง พ.ศ.1860 ทรงพระชนมายุได้ 79 พรรษา (บางครั้งว่า 80 พรรษา) วันหนึ่งพระองค์เสด็จไปประพาสที่ตลาดกลางเวียง เกิดอสนีบาตตกต้องพระองค์สวรรคตในท่ามกลางเมืองนั้น (ที่ที่พระองค์ต้องอสนีบาตสวรรคตนั้นคือที่กลางเวียงเชียงใหม่ ถนนพระสิงห์ เวลานี้เป็นที่ว่างเพราะเชื่อกันว่ามีอาถรรพณ์ เมื่อ 30 ปีก่อน มีต้นโพธิ์ต้นใหญ่ขนาด 4-5 อ้อม อยู่ต้นหนึ่งและมีหอเรียกว่า หอเมงราย เวลานี้ย้ายไปไว้หลังต้นโพธิ์ ข้างร้านตัดเสื้อ ถนนปกเกล้าห่างจากที่เดิมประมาณ 100 เมตรเศษ ) รวมเวลาที่พระองค์ครองเมืองเชียงใหม่ 21 ปี เป็นอาณาจักรลานนาไทย 58 ปี

กษัตริย์เชื้อสายของพระองค์ได้ครองเมืองเชียงใหม่เป็นราชธานีต่อมาอีกหลายชั่วคน แต่บางองค์ก็ย้ายราชธานีไปตั้งอยู่ที่เมืองเชียงรายและเชียงแสน เชียงใหม่ เป็นอิสระอยู่ได้ 262 ปี ถึง พ.ศ.2101 ในรัชกาลของพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์หรือชาวเมืองเรียกว่าเจ้าแม่กุเพราะเป็นชาวไทยใหญ่สืบเชื้อสายมาจากเจ้าขุนครามราชโอรสของพระเจ้าเมงราย สำเนียงชาวไทยใหญ่แปร่ง จึงขนานพระนามเพี้ยนเป็น “เจ้าแม่กุ” พระเจ้าเมกุฏิฯ พยายามจะกู้เอกราชในปี พ.ศ.2107 แต่ไม่สำเร็จ

พระเจ้าบุเรงนองได้ยกกองทัพมาปราบ และจับพระองค์ไปกักไว้ที่กรุงหงสาวดีจนถึงแก่ทิวงคตพม่า ได้ตั้งให้นางพญาวิสุทธิเทวี (อาจจะเป็นพระนางจิร
ประภา ราชธิดาของพระเมืองเกษเกล้าซึ่งเคยั้งเมืองเชียงใหม่ เมื่อพ.ศ.2088) ครองเมืองเชียงใหม่ได้อีก 14 ปี พระนางก็ทิวงคต ต่อมาในปี พ.ศ.2122 พระเจ้าหงสาวดี (บุเรงนอง) จึงให้เจ้าฟ้าสารวดีหรือมังซานรธามังคุยหรือมังนรธาฉ่อ ราชบุตร ผู้ครองเมืองสาวถีมาครองเมืองเชียงใหม่ นับว่าสิ้นราชวงศ์เมงรายอย่างเด็ดขาด

แต่นั้นมาเชื้อสายของพระเจ้าหงสาวดีได้ครองเมืองเชียงใหม่ต่อมาอีก 3 องค์ ก็สิ้นวงศ์ ในสมัยที่เจ้าฟ้าสารวดี หรือพระเจ้าเชียงใหม่มังซานรธามังคุยครองเมืองเชียงใหม่นี้ ตรงกับในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระเจ้าเชียงใหม่ได้ยอมสวามิภักดิ์ต่อกรุงศรีอยุธยาจนตลอดรัชกาลของพระองค์ เมื่อสิ้นวงศ์บุแรงนองแล้ว ก็มีกษัตริย์เจ้าเมืองน่านมาครองเมืองเชียงใหม่ มีพระนามว่า พระเจ้าเชียงใหม่ศรีสองเมือง หรือ เจ้าพระยาพลศึกซ้ายไชยสงคราม ทรงแข็งเมืองเป็นอิสรภาพ ไม่ยอมขึ้นต่อพม่า แต่เมื่อพระเจ้าสุทโธธรรมราชากษัตริย์พม่า ยกกองทัพมาปราบในปี พ.ศ.2174 ตีเชียงใหม่แตกและจับตัวพระเจ้าเชียงใหม่ไปขังไว้ที่เมืองหงสาวดีจนทิวงคต เชียงใหม่ก็ได้ตกอยู่ในอำนาจพม่าอีกครั้ง พม่าได้ตั้งให้พระยาหลวงทิพยเนตร เจ้าเมืองฝางมาครองเมืองเชียงใหม่ เมื่อหลวงทิพยเนตรถึงแก่กรรม บุตรชื่อพระแสนเมือง หรือทางพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเรียก พระยาแสนหลวง ได้ครองเมืองแทนในปี พ.ศ. 2204 แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงยกทัพหลวงมาตีเมืองเชียงใหม่ โดยให้เจ้าพระยาโกษา (เหล็ก) เป็นแม่ทัพหน้า ตีเมืองเชียงใหม่ได้ สมเด็จพระนารายณ์ทรงได้ธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่เป็นบาทบริจาริกา และเมื่อนางนั้นทรงครรภ์ขึ้น พระองค์ทรงมีความละอาย จึงยกนางผู้นั้นให้แก่พระเทพราชา เจ้ากรมช้าง ต่อมานางนั้นประสูติกุมาร ซึ่งต่อมาคือ ขุนหลวงสรศักดิ์หรือพระพุทธเจ้าเสือ มีนามเดิมว่า เดื่อ สมเด็จพระนารายณ์ทรงตีได้เมืองเชียงใหม่ แต่ไม่ได้มอบให้ผู้ใดครองเมือง เพราะอยู่ห่างไกลกันมาก ยากแก่การป้องกันรักษา และพม่าก็อาจจะยกมาตีเอาคืนเมื่อไรก็ได้ จึงกวาดต้อนครอบครัวชาวเมืองไป และจับตัวพระเยาวราชกวี
เอกของเชียงใหม่ไปด้วยผู้หนึ่ง พระเยาวราชผู้นี้ได้เคยปะคารมกวีกับศรีปราชญ์ยอดกวีในยุคนั้น เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่อาจทราบได้ว่าพระเยาวราชผู้นี้คือใครเพราะในตำนานพื้นเมืองไม่ได้กล่าวถึงเลย นอกจากในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น

นับแต่ พ.ศ.2211 เป็นต้นมา พม่าได้เริ่มยกกองทัพมาตีหัวเมืองต่างๆ ในลานนาไทย โดยเริ่มตีหัวเมืองชายแดนก่อน และตีได้เชียงราย เชียงแสน เมื่อตีได้เมืองใด ก็จัดแต่งผู้คนปกครองไว้ ส่วนเมืองเชียงใหม่ยังคงล้มลุกคลุกคลานอยู่ บางครั้งพม่าก็เข้าปกครองแต่ถูกชาวเมืองขับไล่ เกิดการจลาจลอยู่เสมอ ไม่เป็นปกติสุข ชาวเมืองต้องได้รับความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า หลังจากที่เจ้าองค์นกได้เอกราชและครองเมืองโดยอิสระสืบมาถึง พ.ศ.2304 เจ้าองค์นกสิ้นพระชนม์แล้วเจ้าจันทร์ราชบุตรได้ครองเมือง แต่เจ้าปัดอนุชาคิดกบฏชิงเอาราชสมบัติได้ แต่ไม่ครองเมืองเอง ยกให้เจ้าอธิการวัดดวงดี ลาสิกขามาครองเมือง ต่อมาในปี พ.ศ.2306 กองทัพพม่ายกมา 9 ทัพ มีโป่อภัยคามินีเป็นแม่ทัพยกมาตีเมืองเชียงใหม่ ลำพูน พม่ากวาดต้อนครัวญาติวงศ์เจ้าองค์นก และชาวเมืองเชียงใหม่ส่งไปยังเมืองอังวะเป็นอันมาก และโป่อภัยคามินีก็ยกเข้าตั้งรักษาเมืองเชียงใหม่ไว้

พระเจ้ากาวิละ

พม่าได้เข้ายึดครองเมืองเชียงใหม่ ต่อมาในปี พ.ศ.2312 โป่อภัยคามินีถึงแก่กรรม พม่าจึงโป่มะยุง่วน หรือโป่มะยิหวุ่น (พม่าเรียกแมงแยงคามินี หรือ สะโดเมงเตง) หรือที่ชาวเชียงใหม่เรียกกันว่าโป่หัวขาวเพราะชอบใช้ผ้าขาวโพกศีรษะเสมอ มาเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ โป่หัวขาวผู้นี้ชอบกดขี่ข่มเห็งชาวเมืองมาก และเกิดทะเลาะวิวาทกับขุนนางชาวเมือง ถึงกับเกิดการสู้รบกันกลางเวียงเชียงใหม่หลายครั้ง ขุนนางชาวเมืองส่วนมากไม่นิยมชมชอบ พม่าจึงสั่งให้โป่สุพลามาควบคุมอีกคนหนึ่ง ในยุคนี้ล้านนาไทยมีคนดีเกิดขึ้น เช่น พระเจ้ากาวิละ และพญาจ่าบ้าน (บุญมา) ผู้เป็นน้าชายซึ่งได้คบคิดกันกู้อิสรภาพ นำทัพของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เข้าตีเมืองเชียงใหม่จากพม่าได้ในปี พ.ศ.2317 พม่าที่ครองเมืองเชียงใหม่หนีออกไปตั้งอยู่เมืองเชียงแสน ซึ่งต่อมาถูกกองทัพ กรุงเทพฯ และกองทัพเชียงใหม่ตีแตกในปี พ.ศ. 2347 แต่นั้นมาพม่าก็สิ้นอำนาจในแว่นแคว้นลานนาไทยโดยสิ้นเชิง

ในระหว่าง พ.ศ.2317-2347 พม่าพยายามจะตีเอาเมืองเชียงใหม่หลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ เพราะชาวเชียงใหม่ต่อสู้ ป้องกัน บ้านเมือง ยังแข็งแรง และมีกองทัพกรุงเทพคอยช่วยเหลือ พม่าจึงเป็นฝ่ายปราชัยล่าถอยไปอย่างยับเยินทุกครั้ง เพราะพม่ายกกองทัพมารบกวนอยู่บ่อยๆนี้เอง ทำให้เมืองเชียงใหม่กลายเป็น เมืองร้างไปชั่ววาระหนึ่ง เพราะกองทัพที่ตั้งรักษาเมืองอยู่นั้นขาดเสบียงอาหาร ปรากฏว่าในการสู้รบครั้งนี้ ชาวเมืองอดอยากถึงกับจับพม่าฆ่ากินเป็นอาหาร ชาวเมืองไม่มีเวลาที่จะทำมาหากิน เพราะต้องเตรียมรับมือกับพม่าซึ่งอาจจะยกมาเวลาใดก็ได้ และกองทัพพม่าที่ยกมามักจะมีกำลังเหนือกว่าทุกครั้งแต่ชาวเชียงใหม่ก็ต่อสู้อย่างทรหดอดทนทุกคนยอมพลีชีวิตดีกว่าอยู่ใต้อำนาจของต่างชาติ แต่ด้วยความจำเป็น ที่บ้านเมืองชำรุดทรุดโทรม ป้อมคูประตูหอรบปรักหักพังลงจนใช้การไม่ได้เพราะต้องรับศึกหลายต่อหลายครั้ง ครั้นจะบูรณปฏิสังขรณ์ก็ไม่มีเวลาพอ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่คนแรกคือ พญาจ่าบ้าน (บุญมา) และพระเจ้ากาวิละ ซึ่งได้ครอบครองเมืองเชียงใหม่ต่อมา ก็ได้ย้ายไปตั้งอยู่ที่เวียงป่าซาง ซึ่งมีข้าวปลาอาหารบริบูรณ์และเมื่อพลาดพลั้งเสียทีแก่พม่าก็ล่าถอยได้ง่ายเมืองเชียงใหม่ได้เป็นเมืองร้างอยู่ 20 ปีเศษ จนถึง พ. ศ. 2339 ตรงกับในรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์ พระเจ้ากาวิละ พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ จึงได้ยกเข้ามาตั้งเมืองเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง และได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์บ้านเมืองวัดวาอาราม ซึ่งรกร้างปรักหักพังไปนั้นขึ้นใหม่ จนเจริญรุ่งเรืองสืบมาจนถึงทุกวันนี้

คัดลอกจาก หนังสือตำนานเมืองเหนือ โดย สงวน โชติสุขรัตน์

ร่วมแสดงความคิดเห็น