ม.แม่โจ้ ร่วมภาคีเซ็น MOU ส่งเสริมเศรษฐกิจ “ฮาลาล”

ม.แม่โจ้ จับมือหอการค้า และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่ ลงนามข้อตกลงในการส่งเสริมเศรษฐกิจฮาลาล เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน หวังเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการและมูลค่าการส่งออกสินค้าให้มากขึ้น

เมื่อวันที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมชั้น 5 ตึกอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีพิธีลงนามข้อตกลง (MOU) ระหว่างมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กับหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่ ในการส่งเสริมเศรษฐกิจฮาลาล

นายกัลย์ กัลยาณมิตร ผู้อำนวยการสถาบันบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า ปัจจุบันอาหารฮาลาลได้รับความสนใจไม่เฉพาะกับพี่น้องมุสลิมเท่านั้น แต่เป็นยังที่ต้องการของทั่วโลก โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ดังนั้นผู้ที่ผลิตอาหารและสินค้าฮาลาลจะต้องผลิตให้ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม
ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญ และประชากรมุสลิมที่มีจำนวนมากก็ถือเป็นตลาดใหญ่และเป็นตลาดที่

ประเทศไทยควรจะเข้าถึง เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดการส่งออกอาหารและผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ซึ่งการลงนามทั้ง 3 ฝ่ายในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานฮาลาล รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารที่เกี่ยวข้องและเพื่อสนับสนุนองค์กร ผู้ประกอบการให้เข้าถึงสินค้าที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลามและได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาล ด้วย

ด้าน รศ.ดร.ศิริพร กิรติการกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้มีโรดแมพการพัฒนาก้าวเข้าสู่มหาวิทยาลัยในระดับเกษตรนานาชาติ ซึ่งมีความเข้มแข็งจากการที่มหาวิทยาลัยมีความเชี่ยวชาญในการผลิต และปัจจุบันมีการศึกษาพัฒนาต่อยอดทั้งทางด้านเกษตรอินทรีย์ และกรีนโปรดักส์จึงต้องการความ่ร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนองค์ความรู้สู่ผู้ใช้ประโยชน์ในระดับชุมชนไปจนถึงระดับประเทศ

“ปัจจุบันการผลิตของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีตั้งแต่ระดับต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เพราะฉะนั้นการที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์เข้าสู่มาตรฐานและได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาลก็มีส่วนจำเป็นที่ต้องบูรณาการกับทุกภาคส่วน ที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามระบบและกลไก ให้ได้มาตรฐานสากลมารองรับ เพราะตลาดมุสลิมเป็นตลาดใหญ่มากถึง 2,000 ล้านคน” รองอธิการบดี ม.แม่โจ้ กล่าว

ขณะที่ นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่เล็งเห็นถึงความสำคัญของเศรษฐกิจฮาลาลมาโดยตลอดซึ่งที่ผ่านมาได้มีการผลักดันในส่วนของปลายน้ำตามบทบาทของหอการค้าจังหวัด โดยนำสมาชิกและผู้ประกอบการทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียงไปทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยได้ทำงานร่วมกับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบมาตรฐานฮาลาล และการลงนามในครั้งนี้ได้มีการหารือกับทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้มาอย่างต่อเนื่อง เพราะสัดส่วนการผลิตและส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์ฮาลาลของจังหวัดเชียงใหม่มีมูลค่าสูงไม่แพ้จังหวัดอื่น โดยเฉพาะที่ตั้งที่สามารถเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและจีนตอนใต้ แต่สัดส่วนผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์ฮาลาลยังมีน้อย จึงเป็นหน้าที่ของหอการค้าที่จะต้องส่งเสริม เพราะมูลค่าการส่งออกยังไม่ถึง 1%

ด้าน นายกวินธร วงศ์ลือเกียรติ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันในเชียงใหม่มีผู้ประกอบการที่ได้รับเครื่องหมายรับรองฮาลาล 250 รายจำนวนกว่า 2 พันผลิตภัณฑ์ และทำให้มีรายได้เข้าเชียงใหม่ปีละกว่า 2 หมื่นล้านบาท สำหรับตลาดส่งออกสำคัญคือ ยุโรปร้อยละ 60 รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและตะวันออกกลางประมาณร้อยละ 25 นอกนั้นจะเป็นการส่งออกในกลุ่มอาเซียน

จังหวัดเชียงใหม่มีสถาบันการศึกษา บุคลากรและผลิตภัณฑ์ที่พร้อม จึงนับเป็นสิ่งที่ดีที่ทั้งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่ได้ร่วมมือกันในครั้งนี้เพื่อที่จะยกระดับและพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าให้ได้มาตรฐานฮาลาล ซึ่งที่ผ่านมาคนจะเข้าใจผิดคิดว่าการขอเครื่องหมายรับรองมาตรฐานจะยุ่งยากลำบาก ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีการรับรองมาตรฐานฮาลาลโดยใช้หลักศาสนาควบคู่กับหลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งหากสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้รับตราสัญญลักษณ์ขนมเปียกปูนซึ่งเป็นเครื่องหมายฮาลาลก็จะทำให้ผู้บริโภคที่เป็นมุสลิมมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น.

ร่วมแสดงความคิดเห็น