ชี้พร้อมเพย์ จุดเริ่มต้นสังคมไร้เงินสด

พร้อมเพย์เดินหน้าแล้ว เผยเป็นจุดเริ่มต้นของสังคมไร้เงินสดแม้กระทบต่อค่าธรรมเนียมแบงก์ แต่สร้างผลบวกทางเศรษฐกิจระยะยาว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยว่า ในที่สุดประเทศไทย แล้วก็ได้ฤกษ์เปิดให้บริการพร้อมเพย์ (PromptPay) สำหรับ “บริการโอนเงินระหว่างบุคคลกับบุคคล” พร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 27 ม.ค. 2560ที่ผ่านมา

ซึ่งโครงการดังกล่าว นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของแผนงาน National e-Payment อย่างเป็นทางการ ก่อนจะต่อยอดไปสู่โครงการอื่นๆ โดยข้อมูล ณ ธันวาคม 2559 พบว่า ผู้ลงทะเบียนในโครงการพร้อมเพย์เบื้องต้นมีจำนวนราว 18 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 48 ของผู้มีงานทำ ซึ่งถือเป็นสัญญาณอันดีที่บ่งชี้ถึงการยอมรับนวัตกรรมของผู้บริโภคในอนาคต

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลกระทบจากโครงการพร้อมเพย์ต่อรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ปี 2560 น่าจะอยู่ในช่วง 3.1 – 3.6 พันล้านบาท

ภายใต้สมมติฐานการยอมรับนวัตกรรมของผู้ใช้บริการ (Adoption Rate) ในปีแรกของโครงการพร้อมเพย์ที่ร้อยละ 60 ขณะที่ ผลบวกสุทธิต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจจากโครงการพร้อมเพย์ในระยะ 10 ปี คงไม่ต่ำกว่า 1.9 พันล้านต่อปี แม้ว่าในช่วงปีแรกๆ อาจจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย เนื่องจากยังอยู่ในระยะแรกของการลงทุนและปรับปรุงกระบวนการต่างๆ

ในท้ายที่สุดแล้ว สังคมไทยจะเป็นสังคมไร้เงินสดช้าหรือเร็วเพียงใด คงขึ้นอยู่กับความพร้อมเชิงโครงสร้างของระบบการชำระเงินไทย และ Adoption Rate ของผู้บริโภคเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปริมาณการใช้จ่ายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งระบบ

มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นไปที่ประมาณร้อยละ 50 ได้ภายในไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2569 จากปี 2560 นี้ ที่น่าจะมีสัดส่วนราวร้อยละ 30 เท่านั้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น