ชลประทานเชียงใหม่ วอนประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด

ชลประทานเชียงใหม่ มั่นใจน้ำอุปโภค-บริโภค เพียงพอกว่าปีที่ผ่านมา แต่ขอความร่วมมือให้ประชาชนใช้น้ำ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และให้เกษตรกรปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย โดยขอกุญแจประตูระบายน้ำ เพื่อบริหารจัดการเอง หวังป้องกันปัญหาในการแย่งน้ำ

นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน ใน  จ.เชียงใหม่ ในปีนี้ มีปริมาณน้ำในเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีมากกว่าเมื่อปีก่อนถึงเกือบ 3 เท่า ดังนั้นในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำนั้น จึงมั่นใจได้ว่าน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค หรือน้ำที่ใช้ในกิจกรรมการเกษตร หรือการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เพราะได้มีการเตรียมรับมือและวางแผนสำหรับปริมาณน้ำที่จะใช้ไปถึงเดือนกรกฎาคมที่ช่วงเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว

ในส่วนของพื้นที่นอกเขตชลประทานที่ใช้น้ำ จากสถานีสูบน้ำจากแม่น้ำปิง จำเป็นที่จะต้องมีการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการวางแผนการเพาะปลูก เนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงมีน้อย และไม่มีแผนรองรับสำหรับการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง ขณะที่การปลูกข้าวที่มีการปลูกไปแล้วในหลายพื้นที่นั้น ในเวลานี้คงไม่สามารถไปห้ามได้ แต่ต้องขอความร่วมมือ และทำความเข้าใจไม่ให้ปลูกเพิ่ม เพราะเกรงว่าจะได้รับความเสียหาย เนื่องจากน้ำไม่เพียงพอ

สำหรับโครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน ปี 2559/60 โดยมีแหล่งเก็บกักน้ำหลัก คือ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ที่มีปริมาณน้ำเก็บกัก เท่ากับ 177 ล้านลูกบาศก์เมตร (ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2560) โดยจัดสรรน้ำให้แก่พื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน (จ.เชียงใหม่ และลำพูน) ตลอดช่วงฤดูแล้งในปริมาณ 62 ล้านลูกบาศก์เมตร และได้กำหนดหลักการวางแผนบริหารจัดการน้ำ การส่งน้ำแบบขั้นบันได คือ เติมน้ำหน้าฝายแต่ละแห่งในแม่น้ำปิง จัดทำแผนการส่งน้ำแบบรอบเวร กำหนดเวลาการส่งน้ำสัปดาห์ละ 2 วัน (วันพฤหัส และวันศุกร์) และกำหนดให้เปิดคลองส่งน้ำใช้พร้อมกันในวันจันทร์ เวลา 09.00 น. และปิดคลองส่งน้ำในวันศุกร์ เวลา 18.00 น.

ส่วนสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าสูบน้ำได้ทุกวัน เวลา 09.00 น. ถึง 18.00 น. โดยวางแผนการส่งน้ำจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2560 (26 รอบเวร) ทั้งนี้ได้ขอกุญแจประตูระบายน้ำทุกฝาย จากหน่วยงานและกลุ่มผู้ใช้น้ำที่ถือครอบครองอยู่ มาให้ทางชลประทานเป็นผู้ถือ และบริหารจัดการน้ำเอง ซึ่งทางชลประทานจะมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วไปปิดประตูน้ำทั้งหมด เมื่อถึงเวลาน้ำเต็ม ก็จะเปิดให้ใช้น้ำพร้อมกัน เพื่อป้องกันปัญหาในการแย่งน้ำและลักลอบดูดน้ำเข้าในพื้นที่ของตัวเองเหมือนเช่นปีที่ผ่านมา

โดยมั่นใจว่าน้ำในปีนี้ ดีกว่าปีที่ผ่านมาแน่นอน โดยขณะนี้ได้ส่งหนังสือขอความร่วมมือไปยัง 3 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่วาง อ.ดอยสะเก็ด อ.ฮอด เพื่อแจ้งให้เตรียมความพร้อมในเขตที่รับผิดชอบดูแล ซึ่งมีปริมาณน้ำในภาพรวมของทั้งอำเภอต่ำกว่าร้อยละ 30 โดยการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย และร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด แม้ว่าสถานการณ์น้ำในปีนี้จะดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา แต่ทางชลประทานเชียงใหม่ ยังขอความร่วมมือจากประชาชน ช่วยวางแผนในการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย เช่น พืชตระกูลถั่วต่างๆ และพืชทนแล้ง ที่มีระยะเวลาการเก็บเกี่ยวสั้น ซึ่งแนวโน้มปีนี้จะแล้งยาวกว่าปกติ เนื่องจากหนาวช้าและนานกว่าปีก่อนๆ จึงได้เข้ามาสอดส่องดูแลเป็นพิเศษ

โดยขณะนี้เกษตรกรปลูกพืชเกษตรไปแล้ว 70% เหลืออีก 30% ทั้งนี้ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรให้มาทำเกษตรแปลงใหญ่ และการปลูกข้าวนาเปียกสลับแห้ง เพื่อช่วยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ย ใช้สารเคมีและน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้ต้นทุนการผลิตข้าวลดลง รวมทั้งยังทำให้คุณภาพของข้าวดีขึ้น เพิ่มปริมาณผลผลิตสูงกว่าเดิม เกษตรกรมีกำไรเพิ่มขึ้น และที่สำคัญทำให้คุณภาพชีวิตของชาวนาดีขึ้น เยาวชนรุ่นหลังๆ หันมาสนใจการทำนา ซึ่งจะเป็นการรักษาพื้นที่ชลประทานให้คงที่ เกิดความสามัคคีในชุมชนที่ไม่ต้องแย่งน้ำกันต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น