สดร. ชวนชมดาวศุกร์สว่างสุกใส 2 ครั้งในรอบปี 17 กุมภาพันธ์ และ 30 เมษายน

สดร. ชวนชมดาวศุกร์สว่างสุกใส 2 ครั้งในรอบปี 17 กุมภาพันธ์ และ 30 เมษายน

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชวนชมดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปี ช่วงค่ำ 17 กุมภาพันธ์ ทางทิศตะวันตก และเช้ามืด 30 เมษายน ทางทิศตะวันออก เผยเห็นด้วยตาเปล่า สว่างชัด เห็นได้ทั่วไทย คาดความสว่างปรากฏถึง -4.6

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รอง ผอ.สดร. เปิดเผยว่า “ในช่วงค่ำของวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 หลังดวงอาทิตย์ตก เวลาประมาณ 18:30-20:30 น. และรุ่งเช้าของวันที่ 30 เมษายน 2560 ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น เวลาประมาณ 04:00-06:00 น. ดาวศุกร์จะปรากฏสว่างสุกใสที่สุดในรอบปี สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน ในทุกภูมิภาคของประเทศ คาดว่าจะมีความสว่างปรากฏถึงแมกนิจูด -4.6 (ระดับของความส่องสว่างปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวง แมกนิจูด -12.6) หากสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ดาวศุกร์ จะปรากฏเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์” สำหรับวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ยังจะสามารถสังเกตเห็นดาวอังคาร อยู่เหนือดาวศุกร์ขึ้นไป ประมาณ 7 องศา อีกด้วย

ในวันที่ 12 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา ดาวศุกร์อยู่ในตำแหน่งห่างจากดวงอาทิตย์ ไปทางทิศตะวันออกมากที่สุด เราจึงมองเห็นดาวศุกร์สว่างในช่วงหัวค่ำ หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก หากใช้กล้องโทรทรรศน์สังเกตการณ์ จะเห็นดาวศุกร์ปรากฏครึ่งดวง จนกระทั่งในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ดาวศุกร์จะปรากฏสว่างที่สุด หากใช้กล้องโทรทรรศน์สังเกตการณ์ จะเห็นดาวศุกร์ปรากฏเป็นเสี้ยว และในวันที่ 25 มีนาคม ดาวศุกร์จะอยู่ระหว่างดวงอาทิตย์และโลก เรียกว่า ตำแหน่งร่วมทิศวงใน หากใช้กล้องโทรทรรศน์สังเกตการณ์ จะเห็นดาวศุกร์ปรากฎเป็นเสี้ยวบางมากๆ

ซึ่งหลังจากวันที่ 25 มีนาคม เราจะกลับมาสังเกตเห็นดาวศุกร์ในเวลารุ่งเช้า ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก หากใช้กล้องโทรทรรศน์สังเกตการณ์ จะเห็นดาวศุกร์เป็นเสี้ยวหนาขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งในวันที่ 30 เมษายน ดาวศุกร์จะปรากฎสว่างที่สุดอีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นในวันที่ 3 มิถุนายน 2560 ดาวศุกร์จะโคจรอยู่ในตำแหน่งห่างจากดวงอาทิตย์ไปทางทิศตะวันตกมากที่สุด

ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 2 ในระบบสุริยะ ถัดจากดาวพุธ อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลก สามารถสังเกตเห็นดาวศุกร์ด้วยตาเปล่าได้ง่าย เพราะดาวศุกร์มีความสว่างมาก ดาวศุกร์นับเป็นวัตถุที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้า ไม่นับรวมดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ดาวศุกร์จะปรากฏอยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์เช่นเดียวกับดาวพุธ เนื่องจากทั้งสองเป็นดาวเคราะห์วงในเหมือนกัน ดาวศุกร์จะปรากฏอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุด ได้ถึง 47.8 องศา เราจึงสามารถสังเกตดาวศุกร์ได้ในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น หรือหลังดวงอาทิตย์ตกเท่านั้น

หากสังเกตเห็นดาวศุกร์ในช่วงหัวค่ำ หลังดวงอาทิตย์ตกปรากฏทางทิศตะวันตก คนไทยมักเรียกว่า “ดาวประจำเมือง” หากสังเกตเห็นดาวศุกร์ในช่วงเช้ามืด ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นปรากฏทางด้านตะวันออก คนไทยมักเรียกว่า “ดาวประกาย พรึก” เป็นที่น่าสังเกตว่าดาวศุกร์ จะไม่เคยปรากฏให้เห็นอยู่กลางท้องฟ้า หรือปรากฏในเวลาดึก ๆได้เลย

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-225569 ต่อ 210 , 081-8854353 โทรสาร 053-225524
E-mail: [email protected] Website : www.narit.or.th
Facebook : www.facebook.com/NARITpage
Twitter : @N_Earth , Instagram : @NongEarthNARIT
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313

ร่วมแสดงความคิดเห็น