สมุนไพรพื้นบ้านสรรพคุณดีนัก “กระเจี๊ยบเขียว”

ต้นกระเจี๊ยบเขียว มีถิ่นกำเนิดในแถบแอฟริกาตะวันตก ในประเทศซูดาน และสันนิษฐานว่าน่าจะมีการนำเข้ามาในประเทศไทยหลังปี พ.ศ.2416 โดยจัดเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุประมาณ 1 ปี มีความสูงประมาณ 0.5-2.4 เมตร ลำต้นและกิ่งก้านมีสีเขียว แต่บางครั้งก็มีจุดประม่วง ตามลำต้นจะมีขนอ่อนหยาบ ๆ ขึ้นปกคลุม เช่นเดียวกับใบและผล เจริญเติบโตได้ดีในอากาศกึ่งร้อน หรือที่อุณหภูมิระหว่าง 18-35 องศาเซลเซียส ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด

ใบกระเจี๊ยบเขียว มีใบเป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่ ลักษณะของใบคล้ายรูปฝ่ามือเรียงสลับกัน ใบมักเว้าเป็น 3 แฉก มีความกว้างประมาณ 10-30 เซนติเมตร ปลายใบหยักแหลม โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ มีเส้นใบออกจากโคนใบ 3-7 เส้น ใบมีขนหยาบ ก้านใบยาว

ดอกกระเจี๊ยบเขียว มีดอกสีเหลืองอ่อน ที่โคนกลีบดอกด้านในจะมีสีม่วงออกแดงเข้ม รูปไข่กลับหรือค่อนข้างกลม ออกดอกตามง่ามใบ มีริ้วประดับเป็นเส้นสีเขียวประมาณ 8-10 เส้น เรียงเป็นวงรอบโคนกลีบเลี้ยง กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ และกลีบดอก 5 กลีบ ดอกมีเกสรตัวผู้จำนวนมาก มีก้านชูอับเรณูรวมกันลักษณะเป็นหลอดยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตรหุ้มเกสรตัวเมียไว้ อับเรณูเล็กจำนวนมากติดอยู่รอบหลอด ก้านเกสรตัวเมียมีลักษณะเรียวยาว ปลายแยกเป็น 5 แฉก ยอดเกสรตัวเมียเป็นแผ่นกลมมีขนาดเล็กสีม่วงแดง ยื่นพ้นปากหลอดดอก

ผลกระเจี๊ยบเขียว หรือ ฝักกระเจี๊ยบเขียว ผลมีลักษณะเป็นฝัก โดยฝักคล้ายกับนิ้วมือผู้หญิง ฝักมีสีเขียวทรงเรียวยาว มักโค้งเล็กน้อย ปลายฝักแหลมเป็นจีบ ผิวฝักมีเหลี่ยมเป็นสัน โดยฝักมีสันเป็นเหลี่ยมตามยาวอยู่ 5 เหลี่ยม ตามฝักจะมีขนอ่อน ๆ อยู่ทั่วฝัก ฝักอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาล ในฝักมีนํ้าเมือกข้นเหนียวอยู่มาก และมีเมล็ดลักษณะกลมอยู่มาก ขนาดประมาณ 3-6 มิลลิเมตร ฝักอ่อนมีรสหวานกรอบอร่อย ส่วนฝักแก่จะมีเนื้อเหนียว ไม่เป็นที่นิยมในการรับประทาน กระเจี๊ยบเขียวจะมีอยู่ด้วยกันหลายสายพันธุ์ ซึ่งจะมีความแตกต่างกันในเรื่องของลักษณะ เช่น ความสูงของต้น ความยาวของฝัก สีของฝัก หรือจำนวนเหลี่ยมบนฝัก แต่สายพันธุ์ที่มีการเพาะปลูกเพื่อการส่งออกนั้นจะต้องเป็นสายพันธุ์ที่มีฝัก 5 เหลี่ยม สีฝักมีสีเขียวเข้ม เส้นใยน้อย ผิวของฝักมีขนละเอียด ฝักดกให้ผลผลิตสูง และมีลำต้นเตี้ย

สรรพคุณของกระเจี๊ยบเขียวฝักกระเจี๊ยบเขียวมีเส้นใยอยู่มาก จึงช่วยควบคุมระดับนํ้าตาลในเลือดให้คงที่ได้ โดยช่วยรักษาระดับการดูดซึมนํ้าตาลจากลำไส้ใหญ่ให้คงที่ กระเจี๊ยบเขียวจึงเป็นผักที่เหมาะอย่างมากสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน (ผล) ใช้เป็นยาบำรุงสมอง (ผล) ช่วยรักษาโรคความดันโลหิต รักษาความดันให้เป็นปกติ (ผล) ผลช่วยแก้อาการหวัด รักษาหวัด (ผล) ช่วยป้องกันอาการหลอดเลือดตีบตัน (ผล) ใบช่วยขับเหงื่อ (ใบ) ใบกระเจี๊ยบช่วยแก้โรคปากนกกระจอก (ใบ) เส้นใยของกระเจี๊ยบยังช่วยกำจัดไขมัน ปริมาณสูงที่นํ้าดี ซึ่งจะช่วยลดไขมันและคอเลสเตอรอลได้ คล้ายกับการกินยาลดไขมันและคอเลสเตอรอล (สแตติน) (ผล)

ช่วยกำจัดสารพิษออกจากร่างกายและช่วยลดคอเลสเตอรอล โดยเส้นใยของกระเจี๊ยบเป็นตัวช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้ โดยการจับกับนํ้าดี ซึ่งมักจับสารพิษที่ร่างกายต้องการขับถ่ายที่ถูกส่งมาจากตับ และสารเมือกในฝักยังช่วยจับสารพิษเหล่านี้ ซึ่งการจับกับนํ้าดีนี้จะเกิดในลำไส้และขับออกมาทางอุจจาระ ทำให้ไม่เหลือสารพิษตกค้างอยู่ในลำไส้ (ผล) ผักกระเจี๊ยบเขียว สรรพคุณใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ (ผล)

การรับประทานฝักกระเจี๊ยบเป็นประจำจะช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหาร เยื่อบุกระเพาะ และลำไส้อักเสบ ช่วยในการทำงานของระบบขับถ่าย จึงช่วยในการขับถ่าย ทำให้ถ่ายอุจจาระได้คล่อง ช่วยป้องกันอาการท้องผูกได้เป็นอย่างดี
และช่วยในการทำงานของระบบดูดซึมสารอาหาร ช่วยสนับสนุนการขยายพันธุ์ของแบคทีเรียที่มีประโยชน์ (โพรไบโอติกแบคทีเรีย) ช่วยลดความเสี่ยงของโรคแผลในกระเพาะอาหาร ป้องกันมะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งลำไส้ใหญ่ (ผล)

ในฝักกระเจี๊ยบเขียวจะมีสารที่เป็นเมือกจำพวกเพกทิน (Pectin) และกัม (Gum) ที่มีคุณสมบัติช่วยในการเคลือบแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ โดยป้องกันไม่ให้เกิดการลุกลามของแผลได้เป็นอย่างดี (ได้ผลดีเท่าๆ กับยา Misoprotol) และยังช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ (ผล)

เมือกลื่นในฝักกระเจี๊ยบ ช่วยเคลือบกระเพาะอาหาร ทำให้กระเพาะไม่เกิดการระคายเคือง ช่วยทำให้อาหารถูกย่อยในลำไส้ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น (ผล) ช่วยแก้บิด ด้วยการใช้ผลแก่นำมาบดเป็นผงใช้ผสมกับนํ้าดื่มแก้อาการ (ผล) ช่วยบรรเทาอาการปวดท้องของโรคกระเพาะ หรือในผู้ป่วยที่เยื่อบุกระเพาะและลำไส้อักเสบ (ผล) ช่วยแก้อาการกรดไหลย้อนกลับ ด้วยการนำฝักกระเจี๊ยบมาต้มในนํ้าเกลือแล้วใช้กินแก้อาการ (ผล) ช่วยขับพยาธิตัวจี๊ด (สาเหตุมาจากการได้รับตัวอ่อนของพยาธิที่อยู่ในเนื้อดิบ เช่น หมู เป็ด ไก่ กบ กุ้ง เนื้อปลา เป็นต้น) ด้วยการรับประทานฝักกระเจี๊ยบติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 15 วัน แต่สำหรับบางรายต้องรับประทานเป็นเดือนจึงจะหาย (ผล) ช่วยแก้อาการขัดเบา (ในอินเดีย) (ผล)

ในตำรายาแผนโบราณของจีน มีการนำราก เมล็ด และดอกกระเจี๊ยบ สรรพคุณใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ส่วนในประเทศอินเดียนั้นจะใช้ฝัก นำมาต้มกับนํ้าดื่มเพื่อช่วยขับปัสสาวะเมื่อมีอาการกระเพาะปัสสาวะและทางเดินปัสสาวะอักเสบ หรือเมื่อปัสสาวะขัด (ผล, ราก, เมล็ด, ดอก) ในอินเดียใช้ผลกระเจี๊ยบเป็นยารักษาโรคหนองใน (ผล) รากนำมาต้มนํ้าเพื่อใช้รักษาโรคซิฟิลิส (Syphilis) (ราก) การรับประทานฝักกระเจี๊ยบเป็นประจำสามารถช่วยบำรุงตับได้ (ผล) ดอกกระเจี๊ยบสามารถนำมาตำใช้พอกรักษาฝีได้ (ดอก) ในเนปาลนำนํ้าคั้นจากรากมาใช้เพื่อล้างแผลและแผลพุพอง (ราก)
ยางจากผลสดใช้เป็นยารักษาแผลสดเมื่อถูกของมีคมบาด หรือใช้ยางกระเจี๊ยบทาแผล จะช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น และไม่ทำให้เกิดแผลเป็น (ยางจากผล)

ในอินเดียมีการใช้เมล็ดนำมาบดผสมกับนม ใช้ทาผิวหนังเพื่อแก้อาการคัน (เมล็ด) ใบกระเจี๊ยบใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น นำมาประคบเพื่อลดอาการอักเสบปวดบวมได้ และช่วยทำให้ผิวหนังชุ่มชื้นไม่แตกแห้ง (ใบ) ใช้เป็นยาบำรุงข้อกระดูก โดยมีการเล่ากันว่าชาวชุมชนมุสลิมทางภาคใต้สมัยก่อน จะนิยมกินผักที่เป็นเมือก เช่น ผักกูด และกระเจี๊ยบเขียว เพื่อช่วยเพิ่มไขมันหรือเมือกให้ข้อกระดูก โดยเชื่อว่าจะทำให้หัวเข่าหรือข้อต่อกระดูกมีนํ้าเมือกมากขึ้น ทำให้ไม่เกิดการบาดเจ็บและช่วยให้ทำงานได้ดีขึ้น เสมือนเป็นนํ้าหล่อเลี้ยง (ผล) ผลกระเจี๊ยบมีเมือกลื่นที่ช่วยทำให้ผิวหนังชุ่มชื้นไม่แห้งแตก บางคนจึงนิยมนำผลอ่อนมาพอกผิวเมื่อมีอาการแสบร้อน (ผล)

การรับประทานกระเจี๊ยบเป็นประจำจะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของทารกในครรภ์และช่วยเสริมสร้างเม็ดเลือดแดง เนื่องจากมีโฟเลตสูง โดยฝักแห้ง 40 ฝักจะเทียบเท่ากับปริมาณที่แนะนำให้รับประทานในแต่ละวัน (ผล)

ร่วมแสดงความคิดเห็น