เยือนดินแดนวิถีวัฒนธรรมและธรรมชาติแห่งขุนเขา โฮมสเตย์ดอยลาง

ดอยลาง ในอำเภอแม่อาย เป็นที่รู้จักกันในกลุ่มนักดูนกมานานหลายปี ซึ่งบนพื้นที่สูงของชุมชนบนดอยลางแห่งนี้ยังมีเรื่องราวประวัติศาสตร์และธรรมชาติที่น่าสนใจอีกมากมายที่อยากเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาร่วมสัมผัสกับวิถีชุมชนกับ “โฮมสเตย์ดอยลาง”

ตามคำบอกกล่าวของชาวบ้านที่อยู่ในแถบนี้ บอกว่า“สมัยก่อน “ดอยลาง” เป็นหมู่บ้านของชนชาติไทยใหญ่ที่อพยพมาจากพม่ามาสร้างหมู่บ้านที่นี่ ซึ่งมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์จาก “พระธาตุขาว” ที่หมู่บ้านปางใน ซึ่งเป็นพระธาตุที่ทหารไทยใหญ่ได้มาสร้างไว้ร่วมกับไทย(คนเมือง)” จากคำบอกกล่าวของชาวบ้าน คำว่า “ดอยลาง” มาจาก คำว่า “ดอย” คือชื่อเรียกของพื้นที่ราบลุ่มภูเขา ของคนเหนือ และคำว่า “ลาง” คือ ภาษาไทยใหญ่ ย่อมาจาก หมากลาง(ขนุน) ซึ่งพื้นที่นี้มีต้นขนุนเป็นจำนวนมาก หรือ อีกคำบอกเล่าอีกอย่างหนึ่ง คือ เรียกชื่อตาม แม่น้ำสายหลักของหมู่บ้านนั้นคือ “แม่น้ำลาง”  ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ไหลมาจากประเทศพม่า ดอยลางยังเป็นส่วนหนึ่งของ อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก หรือ ดอยผ้าห่มปก

อรุณสวัสดิ์เช้านี้ต้อนรับเราด้วยจุดชมวิวทะเลหมอก แบบสบายที่ไม่ต้องได้เดินไกลไปไหนชมริมถนนของภายในหมู่บ้านระหว่างบ้านปางต้นกอกและบ้านปางต้นเดื่อ จิบการแฟร้อนแล้วนั่งรอชมภาพทะเลหมอกและสีสันสวยๆ เวลาตั้งแต่ 06.00 ถึง 10.00 น.บนระดับความสูงที่ 984 เมตร

ภายในชุมชนแต่ละบ้านยังคงทำ “เหมี่ยง” เป็นชาชนิดหนึ่งชอบขึ้นบนพื้นที่สูง ที่จะต้องออกไปเก็บใบเหมี่ยง นำใบมามัดรวมเป็นกำๆ นำเรียงลงไหนึ่งสุกแล้วไปหมัก  ใบเหมี่ยงจะออกรสเปรี้ยวมันเล็กน้อยยิ่งอมยิ่งเคี้ยวยิ่งอร่อย

จากนั้นเรามาเที่ยวชมวัดสำคัญในพื้นที่กันต่อเริ่มจากที่พระเจดีย์สีทองอร่ามบนที่สูง “พระบรมธาตุเจดีย์สิริดอยเวียงลาง” เป็นพระบรมธาตุที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าตั้งอยู่ที่ วัดปางต้นเดื่อ(ดอยลาง) หมู่ 9 ตำบลแม่อาย อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่

มากราบสรีระ “นักบุญแห่งขุนเขาครูบาสิทธิ” ที่เก็บรักษาร่างของ หลวงปู่ครูบาสิทธิ อภิวัณโณ ปัจจุบันอายุ 89 ปีแต่เดิมชื่อ สิทธิ เมืองใจ เกิด 10 มิถุนายน  พ.ศ.2465  ที่ บ้านแม่ฮ่าง ตำบลแม่สาว อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุตรคนโตของพ่อบุญมา และแม่ป้อ เมืองใจ ในพี่น้องทั้งหมด 5 คนหลังจากหลวงปู่ฯเกิดได้ไม่นานพ่อแม่ก็ย้ายมาอยู่ที่บ้านปางกลาง อายุ 16 ปีได้บรรพชาเป็นสามเณรที่ วัดปางกลาง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 5 เม.ย. 2481 โดยมีครูบาแก้ว กาวิชโย วัดมงคลสถาน อุปัชฌาย์

ถัดลงมาที่ “พระธาตุดอยลาง” พระธาตุขาว ตั้งอยู่บนยอดดอย ระหว่างบ้านปางต้นเดื่อและบ้านปางใน องค์พระธาตุมีสีขาว เป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านของคนในชุมชนนั้น ในบริเวณเดียวกันมีฐานทัพทหารรังปืนกลในอดีตเป็นสมรภูมิรบที่สำคัญแห่งหนึ่ง เป็นที่แปลกอีกแห่งที่มีหลุมบังเกอร์ภายใต้ฐานองค์พระเจดีย์จนเราเรียกกันว่า วัดบังเกอร์

ช่วงบ่ายไปเที่ยวชม “น้ำตกตาดหลวง” มีไกด์ท้องถิ่นนำทาง นายเชิดชัย สมศรี เป็นผู้มีความชำนาญในพื้นที่อย่างดี น้ำตกตาดหลวง ตั้งอยู่ใน หมู่ที่ 9 บ้านหล่ายอาย  อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ น้ำจากน้ำตกตาดหลวงยังเป็นสายน้ำที่สำคัญที่หล่อเลี้ยงชุมชน และการทำการเกษตรกรรมของชุมชนอีกด้วย  รถกระบะนำเราออกจากหมู่บ้าน ตลอดสองข้างทางผ่านสวนลิ้นจี่ และสวนส้ม ราว 2.5 กิโลเมตร สิ้นสุดถนนคอนกรีต เส้นทางต่อจากนี้ต้องเดินเท้ากันต่อ เส้นทางเดินทวนสายน้ำตกขึ้นไป มีต้นไม้สูงใหญ่หนาแน่นจนแสงแทบจะส่องส่งมาไม่ถึงพื้นเป็นป่าที่สมบูรณ์มาก มีน้ำตกขนาดน้อยใหญ่ลดหลั่นกันไป

จนได้มาพบต้นไม้ป่า “ต้นไม้ตุ้ม” อายุนับร้อยปี ต้นไม้มีขนาดใหญ่ถึง 7 คนโอบได้ เรายังคงเดินทวนสายน้ำตกต่อไปแสงค่อยอ่อนแสงลง เรายังเดินกันไม่จึงจุดหมาย แต่ก็ได้สัมผัสน้ำตกชั้นรองๆที่สวยงาม ทางคณะสำรวจคงต้องวางแผนสำรวจกันใหม่ แล้วจึงเดินทางกลับ

เช้าวันที่ 2 ชมทะเลหลอก 2 แผ่นดินพม่าและไทยบน ฐานปฏิบัติการดอนหมากกลาง ร้อย ทพ.3206 ที่จะมองเห็นทะเลหมอกจากฝั่งเมืองยอน สหภาพเมียนมา และทะเลหมอกท่าตอน แม่อายทางฝั่งประเทศไทย ไหลทอดยาวบรรจบกัน บนความสูง 1,483 เมตร จากระดับน้ำทะเล

มาท่องเที่ยวเชิงเกษตรกันต่อชม “สวนองุ่น และสวนส้ม”  ของเกษตรกร พ่อหลวงนพรัตน์ สมมะโน เป็นโรงเรือนองุ่นสีม่วง พันธุ์บิวตี้ซีสเลส และองุ่นสีเขียว พันธุ์รูสซีสเลส ที่กำลังออกผลเติมโรงเรือน จากนั้นนั่งรถกะบะออกจากหมู่บ้านมาชมสวนส้มสายน้ำผึ้ง ท่ามกลางขุนเขาบนพื้นที่ 20 ไร่ เดินเที่ยวชมชิมส้มสดจากไร่ท่ามกลางทิวทัศน์อันสวยงามอากาศเย็นสบาย

2 คืน 3 วัน มนต์เสน่ห์แห่งวิถีชุมชนบนขุนเขาที่สร้างความประทับใจไม่รู้ลืมดอยลาง

ขอขอบคุณ  / สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์กรมหาชน), โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สลอง และชุมชนบ้านหล่ายอาย

ติดต่อสอบถาม / กลุ่มโฮมสเตย์ดอยลาง โทร.081-2662739(คุณนะ), 095-8135868(พิกุล) สวนส้มสายน้ำผึ้ง โทร.097-1812800

ร่วมแสดงความคิดเห็น